วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับนักวิ่งน้องใหม่ โดยคุณปราโมทย์ ทองสมจิตร


  1. ในการฝึกวิ่งเพื่อสุขภาพ ต้องสวมรองเท้าสำหรับนักวิ่ง เท่านั้น  อย่าใช้รองเท้าอื่นในการฝึกวิ่งไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบ รองเท้าเทนนิส รองเท้าฟุตบอล รองเท้าส้นตึก ฯลฯ
  2. ก่อนเริ่มวิ่งต้องวอร์มอัพร่างกาย หรืออุ่นเครื่องร่างกาย ยืดขา แกว่งมือ แกว่งขา ฯลฯ เพื่อให้โลหิตสูบฉีด ไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อเตรียมความพร้อมในการวิ่ง อย่าออกวิ่งทันทีเมื่อถึงสนามซ้อม โดยไม่ต้องวอร์มอัพร่างกายก่อน
  3. เมื่อเริ่มวิ่ง 15-20 นาทีแรก ให้ออกตัววิ่งไปอย่างช้าๆ ค่อยๆ อุ่นเครื่อง (ร่างกายหัวใจจะค่อยเริ่มเต้นแรงขึ้น ทีละน้อย การทำของหัวใจและปอดจะได้ไม่หักโหม รวมทั้งแข้งขาด้วย
  4. อย่าไปวิ่งแข่งกับผู้อื่น ซึ่งเขาอาจจะวิ่งจนเครื่องติดก่อนเราแล้ว ให้วิ่งไปเรื่อย ๆ ตามความเร็วที่สบาย ๆ ของตนเอง ไม่ต้องวิ่งแข่งหรือวิ่งตามใคร
  5. ถ้าวิ่งเหนื่อยแล้ว ก็ให้ผ่อนความเร็วลงบ้าง อาการเหนื่อยจะค่อยทุเลาลงเอง แล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นในระดับ ที่วิ่งสบาย ๆ ในการฝึกระยะแรก ๆ นักวิ่งน้องใหม่อาจจะวิ่งบ้างเดินบ้าง ไม่เป็นไร ต่อไปก็จะค่อย ๆ วิ่งช้า ๆ โดยไม่หยุด เลยจาก 5 นาที เป็น 10 หรือ 20 นาที ได้เอง
  6. การฝึกวิ่งต้องใช้เวลา นักวิ่งที่น้องใหม่เห็นเขาวิ่งกันในสนามนั้น ต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปีฝึกกันมาทั้งนั้น บางคนก็วิ่งมาแล้วหลาย ๆ ปี ดังนั้น อย่าใจร้อน หรือคิดเอาเองว่าจะต้องวิ่งเหมือนเขา วิ่งให้เร็วเท่าเขา หรือวิ่ง ได้นานเท่าเขา !
  7. ชุดวิ่งควรจะเบาและระบายความร้อนจากร่างกายได้ดี และเหมาะกับสภาวะดินฟ้าอากาศเสื้อกล้ามเหมาะ กับฤดูร้อน ชุดวอร์มเหมาะกับอากาศหนาวเย็น ชุดเท่ห์แต่ร้อนระวังลมจะใส่
  8. วิ่งระยะยาวนั้น ต้องวิ่งลงด้วยส้นเท้า การวิ่งลงปลายเท้า เหมาะสำหรับวิ่งเร็ว และวิ่งระยะสั้นเท่านั้น วิ่งตัวตรง อย่าวิ่งโน้มตัวไปข้างหน้า ท่านอาจจะปวดหลังได้ เมื่อวิ่งในท่านั้นนาน ๆ
  9. การบาดเจ็บเนื่องจากรองเท้าวิ่งหมดสภาพย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าใช้รองเท้าวิ่งไปนาน ๆ วิ่งแล้วเจ็บเข่าบ้าง แสดงให้เห็นว่ารองเท้าเสื่อมสภาพแล้ว ควรเปลี่ยนรองเท้าวิ่ง
  10. ถ้าวิ่งในที่ไม่เรียบ ให้ตามองดูพื้น ระวังสะดุดถ้าวิ่งในที่มืดหรือสลัวๆ ไม่ค่อยเห็นทางวิ่งให้ยกเท้าสูงขึ้นเล็กน้อย ป้องกันการสดุด
  11. นักวิ่งแต่ละคนจะวิ่งก้าวสั้นหรือก้าวยาวแตกต่างกันไป ลองวิ่งดูเอง ท่าวิ่งใดที่เหนื่อยน้อย และได้จังหวะวิ่งที่เลื่อนไหลไปนั่นแหละเป็นท่าวิ่งที่เหมาะกับเราแล้ว
  12. การวิ่งต้องต้องแกว่งแขนให้ได้จังหวะ และอย่าเกร็ง ปล่อยตามสบาย
  13. ก่อนออกวิ่งแต่ละวัน ควรตั้งเป้าหมายไว้ในใจ ว่าวันนี้จะวิ่งกี่นาทีหรือวิ่งกี่รอบ แล้วพยามยามปฏิบัติตามนั้น มิฉะนั้นแล้วเราจะหยุดวิ่งตามเพื่อน พอเขาหยุดวิ่งเราก็จะเลิกวิ่งด้วย
  14. ก่อนที่จะหยุดวิ่งให้ชะลอความเร็วลงทีละน้อย หรือเมื่อถึงที่หมายแล้ว ถ้าวิ่งมาด้วยความเร็วควรวิ่งชะลอ ความเร็วต่อไปอีกเล็กน้อย เพื่อให้หัวใจค่อยเต้นช้าทีละน้อย อย่าหยุดวิ่งกระทันหัน หัวใจปรับการทำงานไม่ทัน อาจเป็นอันตราย !!!
  15. เมื่อซ้อมวิ่งเสร็จแล้ว จะต้องคูลดาวน์เพื่อคลายกล้ามเนื้อ มีท่าต่างๆ หลายท่า ลองขอคำแนะนำจากนักวิ่งรุ่นพี่ได้
  16. ก่อนฝึกวิ่งต้องใช้ความอดทน เพราะบางครั้งนักวิ่งอาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย อย่าท้อถอย ถ้ามีธุระจำเป็นก็หยุดได้บ้าง แต่ไม่ควรเกินสองสามวัน เดี๋ยวขี้เกียจวิ่ง แล้วต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม ?!?!
  17. ถ้าไม่สบายเป็นไข้หรือท้องเสีย ควรงดการซ้อมวิ่ง ถ้าขัดเคล็ดยอก แพลง ก็ควรทุเลาการวิ่งลงหน่อย อาจออกกำลังกายแบบอื่นทดแทนได้
  18. การซ้อมวิ่งต้องมีวันพักบ้าง สัปดาห์หนึ่งวิ่งได้ 4-6 วัน นับว่าใช้ได้แล้ว อย่าวิ่งตลอด 7 วัน ร่างกายต้องการพักผ่อนบ้าง
  19. นักวิ่งควรรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีเส้นใยเป็นประจำทุกวันเพื่อความคล่องตัว ในการทำธุระกิจส่วนตนในตอนเช้าก่อนวิ่ง ถ้าเสริมด้วยแคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส เกลือแร่ได้ด้วยก็ดี
  20. ควรดื่มน้ำหนึ่งแก้ว ก่อนออกมาซ้อมวิ่ง และพยายามดื่มพยายามดื่มน้ำให้มากทุกวัน วิ่งเสร็จแล้วก็ควรดื่มน้ำด้วย
  21. นักวิ่งควรพักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอ นอนหัวค่ำตื่นเช้ามืด ฟุตบอลหรือละครทีวีงดดูบ้างก็จะนอนได้มากขึ้น
  22. ถ้าฝึกซ้อมวิ่งตามถนน ควรวิ่งสวนกับรถที่แล่นมา จะได้หลบได้ทันยังไงล่ะ แต่ซ้อมในสนามวิ่งจะปลอดภัยกว่า
  23. ถ้าไปท่องเที่ยวหรือไปธุระต่างจังหวัดหลายวัน ควรนำรองเท้าติดตัวไปซ้อมด้วย
  24. เพื่อความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่นักวิ่ง ควรงดการวิจารณ์พฤติกรรมการวิ่งของผู้อื่น ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ความเร็ว ความถี่ในการซ้อมวิ่ง การลงวิ่งในสนามจริง การมาสนามซ้อม ฯลฯ
  25. พยายามพูดให้กำลังใจนักวิ่งน้องใหม่ด้วยกัน พอวิ่งได้แล้วก็ชักชวนผู้อื่น ให้ลองเริ่มฝึกเดิน วิ่ง บ้าง
  26. นักวิ่งน้องใหม่ อย่าใจร้อนถ้าจะลงวิ่ง 10 กิโลเมตร ควรซ้อมวิ่งติดต่อกันโดยไม่หยุดเป็นเวลา 50 -60 นาทีก่อน หรือถ้าลงวิ่ง 21 กิโลเมตร ควรจะซ้อมวิ่งยาวไม่ต่ำกว่า 1.30 -2 ชั่วโมง จนแน่ใจว่าวิ่งได้
  27. ในสนามวิ่งจริง มีจุดให้น้ำ พยายามแวะจิบน้ำที่ให้บริการ อย่ารอให้กระหายเสียก่อน อย่าดื่มมากจนเกินไปล่ะ !!
  28. เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ ไม่ควรสวมรองเท้าที่เพิ่งซื้อใหม่ลงวิ่งในสนามจริง ควรฝึกซ้อมให้เท้าชินกับรองเท้าเสียก่อน
  29. รองเท้าที่ซื้อจะต้องหลวมเล็กน้อย ลองสวมดูก่อนซื้อ เมื่อสอดปลายเท้าจนชิดปลายรองเท้าแล้ว ควรหลวมพอที่จะเอานิ้วสอดเข้าไประหว่างส้นเท้ากับส่วนหลังของรองเท้าได้ รองเท้าคับจะเป็นอันตรายต่อเล็บเท้า เมื่อวิ่งระยะไกล เท้าจะเจ็บหรือปลายเท้าจะพอง
  30. นักวิ่งต้องหมั่นตัดเล็บเท้า ทุก 1-2 สัปดาห์
  31. ถ้ามีการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น ให้ใช้น้ำแข็งประคบ ถ้าจะใช้ยาทาช่วยก็ถูเบาๆ 
  32. ควรฝึกซ้อมวิ่งในระยะทางที่แตกต่างกันบ้าง ใช้เวลาวิ่งแต่ละวันมากบ้างน้อยบ้าง มีวันหนักวันเบา อย่าซ้อมระยะเดียวจำเจ เปลี่ยนความเร็วบ้าง
  33. ครั้งแรกๆ ที่ลงสนามจริง นักวิ่งน้องใหม่ไม่ควรอยู่ในกลุ่มหน้า เมื่อปล่อยตัวอาจจะถูกนักวิ่งฝีเท้าจัดวิ่งชน ควรยืน อยู่กลุ่มหลัง และอยู่ข้าง ๆ อย่ายืนตรงกลางกลุ่มนักวิ่ง
  34. เมื่อเข้ามาเป็นนักวิ่งเพื่อสุขภาพ เป้าหมายที่แท้จริงคือวิ่งได้นานหลายๆ ปี  ไม่บาดเจ็บจากการวิ่ง หรือมีบ้างก็เล็กๆ น้อยๆ ให้พยายามประคองร่างกายให้วิ่งได้ตลอดไปจนเฒ่าจนแก่
  35. วิ่งเสร็จแล้วอย่าลืม คูลดาวน์ ก่อน
คำแนะนำทั้งหมดนี้ได้ จากสมุดบันทึกการวิ่ง เขียนโดย คุณปราโมทย์ ทองสมจิตร

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

สวนสราญรมย์

ตัวผมมาธุระซื้อของแถวบ้านหม้อบ่อยๆ แต่ไม่ได้เข้ามาดูซักทีสวนนี้ พอได้อ่านหนังสือเย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์ ซึ่งผู้เขียนฝึกซ้อมวิ่งที่นี้ก็เลยอยากเข้ามาสัมผัสบรรยากาศของสวน


เข้าประตูไปก็จะเจอน้ำพุ รอบๆนี้มีจุดออกกำลังกายบริหารและที่จดรถมอเตอร์ไซต์



บรรยากาศในสวนร่มรื่นมาก จัดสวนสวยงาม


สวนแห่งนี้มีกล้วยไม้นานาสายพันธ์ุเป็นจุดเด่น


รูปนี้เป็นลานแอโรบิคของชมรมฯ อยู่ใกล้ทางเข้า



สระน้ำวกวนแทรกอยู่ในสวน


บ้านทรงไทยในสวนมีอยู่ 5 หลัง





ศาลากระโจมแตร ใช้เป็นสถานที่บรรเลงดนตรีหรือแตรวงของทหารในเวลาที่มีงานบริเวณพระราชอุทยาน สมัยที่รัชกาลที่ 6 ทรงดำรงพระอิศริยยศฯ ประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ ศาลานี้สร้างขึ้นพร้อมเรือนกระจกและอาคารต่างๆในพระราชอุทยาน

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง คลิก อ่านละเอียด


เรือนกระจก

สถาปัตยกรรมหลายอย่างในสวน ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือศาลาแปดเหลี่ยม




ศาลาแปดเหลี่ยมนี้ สวยงาม ร่มเย็น นั่งพักผ่อนสบาย


เสาโคมไฟสมัยก่อน มีอยู่มากมายเขาไม่ได่รื้อทิ้ง แต่ไม่ได้ใช้งานแล้ว

ที่ตั้ง ; ระหว่างถนนเจริญกรุง ตัดกับ ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.
ระยะทางวิ่ง ; 850 เมตรต่อรอบ
สถานที่ใกล้เคียง ; พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์
ปั่นจักรยานไม่ได้
ยังไม่ได้ทดลองวิ่งภายในสวนนี้ สังเกตุช่วง 9 โมงถึง 11 โมงเช้ามีคนวิ่งซัก 2-3 คนเท่านั้น ร่มไม้ช่วยบังแดดตลอดทางไม่ร้อนโดยแดดเผา

วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

ซ่อมรองเท้าวิ่งเป็นรูอย่างง่ายๆ ทำเองก็ได้

ตัวผมใช้ รองเท้าวิ่ง Mizuno Wave Inspire 11 คู่เก่ง มาได้ 5 เดือน ปรากฏว่าตรงหัวมุมด้านนอกและด้านใน เริ่มขาดเป็นรู จากรูเล็กพอทิ้งไว้นานก็ขยายเป็นใหญ่โตจนน่ากลัวว่ารองเท้าจะพัง จึงลองหาวิธีซ่อมเอง ครั้นจะเอาไปให้ช่างซ่อมรองเท้าทำก็เกรงว่าเขาจะไม่รับทำ


กาวยางตัวนี้ซื้อมาจาก Top Market หลอดละ 120 บาท

น้ำยาประสานท่อ หรือ กาวประปา หาซื้อได้ง่ายๆ
  • ช่วงแรก ตัวผมใช้ด้ายธรรมดาเย็บขวางเป็นกากบาทเพื่อปิดรู แต่พอใช้ไปนานๆ ด้ายขาด
  • จึงลองหาวิธีซ่อมจาก Youtube ก็เจอฝรั่งรายหนึ่งเขาใช้กาวทาทับปิดตรงรูนั้นแบบง่ายๆ เลย ดูแล้วไม่น่าจะเวิร์ค แต่พอไม่มีทางเลือกก็ลองทำบ้าง ผลลัพธ์ออกมาดีเกินคาด มันปิดรูได้แน่น กาวยึดประสานกับผิวรองเท้าได้ดี ไม่ทำให้เกิดเป็นปุ่มนูนด้านใน ซึ่งจะทำให้รำคาญเมื่อใช้รองเท้าขณะออกไปวิ่ง คงเป็นเพราะตัวกาวมันเป็นยางและตัวน้ำกาวก็ไหลซึมลงไปในรูของผิวรองเท้า
  • ใช้น้ำยาประสานท่อ หรือกาวประปาก็ได้ครับ แต่มันจะแห้งช้ากว่ากาวยาง


กาวยางชนิดใส ทาบีบปิดรูได้เลย อาจมีไหลเยิ้มบาง



จุดนี้ทาบีบปิดรูที่ใหญ่สุด โดยเย็บด้วยด้ายคาดกากบาทปิดรูก่อน

เพื่อนๆ ที่มีปัญหาเหล่านี้ก็รีบซ่อมเลยน่ะครับ ทำง่ายๆ สวยงาม ซ่อมตอนรูเล็กๆ ก่อนมันจะขยายใหญ่ขึ้น ก่อนทากาวควรล้างทำความสะอาดรองเท้าก่อน ไม่ให้มีฝุ่น ตอนทากาวยางเสร็จทิ้งไว้ให้แห้งราวๆ 1 วันเลย ดังนั้นควรทำวัน Recovery น่ะครับ

เพียงเท่านี้เราก็จะได้ใช้รองเท้าคู่เก่งต่อไปได้อย่างสบายใจ หมดความกังวล สามารถใช้มันต่อไปจนหมดอายุขัยของมัน ทั้งยังภูมิใจฝีมือตัวเอง ประหยัดเงินด้วย

เพิ่มเติม
กรณีที่กาวทายืดพื้นรองเท้ากับตัวรองเท้าเริ่มเสื่อมสภาพ อาจเกิดบ่อยตรงส้นเท้าหรือหัวรองเท้า แนะนำให้ใช้กาว 2 ตัน ชุดละ 90 บาท ซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้าง 
 Mizuno Inspire 13 คู่นี้ของผมซื้อมาตอนลดราคากลางเดือนธ.ค. ซื้อจาก Official Website ราคา 1,600 บาท ใช้ซ้อมอยู่และผ่านการแข่งรายการบุรีรัมย์มาราธอน 2020 มาแล้ว พื้นรองเท้าส่วนหัวเกิดหลุดร่อนออกมา จึงใช้กาว 2 ตันตัวนี้ทา

การใช้กาวตัวนี้ต้องผสม 2 หลอดในปริมาณเท่าๆกัน แนะนำให้ผสมที่ละน้อยพอทาบริเวณที่ต้องการ เพราะพอทาเสร็จเราต้องกดให้แน่ค้างไว้ 4 นาที มันจึงแห้งยึดแน่น แล้วจึงขยับไปทำบริเวณต่อไปเรื่อยๆ 

สังเกตุว่าข้างบนจะทาหนากว่าข้างล่าง

บทความแนะนำ


วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

เล่าประสบการณ์ของตัวผมกับมาราธอนแรก สสส. จอมบึงมาราธอน 2017

เขาว่ากันว่ามาราธอนแรกต้องที่ สสส.จอมบึงมาราธอน เราก็เตรียมตัวฝึกซ้อมมาอย่างยาวนานเกือบ 10 เดือน โดยใช้โปรแกรมฝึกซ้อมไป 2 รอบ ก็เลยสมัครเดือนกันยายน 2559 คิดว่าไม่ได้วิ่งซ่ะแล้วเพราะ











         - ต้อง Lotto แต่ยังดีตรงที่ผู้จัดเพิ่มจำนวนนักวิ่ง เป็น 15,000 คน เราจึงได้สิทธิ์นั้นง่ายขึ้น

         - หลังจากวันที่ 13 ตุลาคม เข้าสู่ช่วงโศกเศร้าและไว้อาลัยแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทำให้มีหลายงานวิ่งยกเลิก หรือเลื่อนการแข่งขัน แต่ทางผู้จัด สสส.จอมบึงมาราธอนก็มิได้แสดงท่าทีว่าจะยกเลิก
เช้าวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2560 ออกเดินทางตั้งแต่ตี 5 ไปถึงอ.จอมบึง สถานที่จัดงานราวๆ 8 โมงครึ่ง จากการสังเกตุผู้คนเริ่มทะยอยเดินทางมาถึงกันเกือบเที่ยงไปแล้ว เรามาเช้าจริงๆ นึกขำตัวเอง นั่งเล่น เดินเล่น โหลดคาร์บ ตั้งแต่ 9 โมงเช้ายันเย็นไม่ได้เอนหลังหรือแอบงีบเลย เพราะเกรงว่ากลางคืนจะนอนไม่หลับ เตรียมเต็นท์มากะนอนสนามฟุตบอลแต่โชคดีเจอน้าชายแท้ๆ ท่านก็มามาราธอนแรกที่นี้เหมือนกันเลยได้นอนห้องแอร์

น้าหลานตื่นกันตี 2 ครึ่งของวันแข่งขัน อาบน้ำแต่งตัวชุดแข่ง กินอาหารเช้าตามสูตร ลงมาวอร์มอัพ เพื่อนๆ นักวิ่งก็ทะยอยเข้าประจำตาม block ที่แจ้งตอนสมัคร เราลง 5 ชม. น้าเราจัด 4 ชม. Block A เลย เสียงกองเชียร์ดังกระหืม ผู้ประกาศก็ขู่อยู่นั้นล่ะว่าค่อยๆ วิ่งน่ะนักวิ่งอย่าให้มีใครเป็นอะไรตายระหว่างแข่ง พอถึง ตี 3 ไม่มีพิธีการมากมาย รอพระองค์ภาเดินทางมาถึงก็เริ่มปล่อยตัวเลย

ช่วงปล่อยตัวก็วิ่งตามๆกันไป ไม่ได้เน้นดูว่านักวิ่งฟูล 5,500 คนเยอะขนาดไหน กองเชียร์ส่งเสียงเชียร์กันตลอดทาง จนออกเขตตัวอำเภอนักวิ่งเริ่มแบ่งกลุ่ม เห็นชัดพอเลย จุด U-Turn 23K ไปแล้วจะเห็นมีนักวิ่งกลายเป็นนักเดินกันแล้ว ส่วนตัวผมตอนที่พักทายานวดนั้น เกิดอาการเคล็ดคัดยอกบริเวณด้านหลังหัวไหล่ คงเพราะไม่ได้เวทเทรนนิ่งเลยช่วงหลัง (คิดว่าไม่สำคัญ) จ๊อกกิ้งไปสักพักก็วิ่งต่อได้แต่ความเร็วลดลงเยอะเมื่อเลยระยะ 30K ไปแล้ว และมีบางช่วงสั้นก็ต้องกลายเป็นนักเดิน ปวดกล้ามเนื้อขา ได้สับปะรดบ้านกำนัน 2 ชิ้นใหญ่ๆ สดชื่นขึ้นทันตา วิ่งยาวเกาะตามนักวิ่งคนหนึ่งซึ่งเขาวิ่งได้ชิลล์มาก จนเข้าเส้นชัย

ช่วงโหดร้ายคือเลยระยะ 35K ไป แดดก็ร้อน ป้ายบอกระยะทางก็นานๆ เจอที (หดหู่มาก) แต่ด้วยความคิดที่ว่าเราเตรียวตัวมาดี, วิ่งต่อไปให้ถึงเส้นชัยเร็วๆ ก็จะได้พัก และจะเกิดความรู้สึกปลื้มปิติเมื่อเข้าเส้นชัย ก็เลยอดทนวิ่งต่อจนจบด้วยเวลา 4.43.16 ชม.

เช็คสภาพร่างกายหลังจากจบก็ถือว่าไม่เจ็บอะไรมาก เรี่ยวแรงก็ยังเหลือจากโหลดคาร์บ 3-4 วันก่อนแข่ง เดินหาจนได้ทำเลดีๆ ร่มๆ รับลมเย็นๆ ได้ก็ยืดเหยียดคลายเส้นสักพัก แล้วไปรับเหรียญ ต่อแถวกินอาหารชุดใหญ่

ช่วงบ่ายนอนพักผ่อนในโรงแรมเกือบชั่งโมง หลับสบายด้วยกันทั้งคู่น้าหลาน จนบ่ายแก่ๆก็ตื่น อาบน้ำ ขนสิ่งของ (เดินขึ้นลงบันได ลำบากมาก เจ็บต้นขา) แล้วจึงออกเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ

ตัวผมไม่ได้คอมเม้นท์งานนี้มากเพราะมาที่นี้ครั้งแรกไม่มีข้อมูลอะไรเปรียบเทียบ มาราธอนที่อื่นก็ไม่เคยไป


x

วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

ลงคอร์ท..คือเล่นกับความเร็ว พัฒนาความเร็ว

ลงคอร์ท..คือเล่นกับความเร็ว พัฒนาความเร็ว
ถ้าร่างกายยังไม่เข้มแข็ง....ลงไปก็ตายเปล่า
เอาล่ะ...บอกแล้ว ก็คือบอกแล้ว ถามมาก็ตอบไปแบบเอาใจคนเก่งหน่อย

คุณวิ่ง 10 กม. ด้วยเวลา 43 นาที จะเอาให้เร็วขึ้นทำยังไง
ตอบว่า...ขยับขึ้นไปทีละขั้น ๆละ 5 - 10 เปอร์เซนต์นั่นเอง

คราวนี้..ผมจะตั้งตัวเลขให้ว่าขยับขึ้น 10 เปอร์เซนต์
แต่ละขั้นของคุณจึงเป็นแบบนี้...
43.....38.7.....34.8.......31.3......28.17 (นาที/ 10 กม.)
ขั้นที่ 1 คือ ทำเวลาให้เหลือ 38.7 นาที
ขั้นที่ 2 คือ ทำเวลาให้เหลือ 34.8 นาที
ขั้นที่ 3 คือ ทำเวลาให้เหลือ 31.3 นาที
ขั้นที่ 4 คือ ทำเวลาให้เหลือ 28.17 นาที...ตรงนี้คุณจะไม่ต้องไปทำอะไรอีกแล้วเพราะคุณคือแชมป์

4 ขั้นตอน....ใช้เวลานานแค่ไหน อย่าไปคาดหมาย

คุณหาวิธีเรียนรู้จากขั้นแรกก่อนคือ ทำเวลาให้เหลือ 38.7 นาทีในระยะ 10 กม.
ตรงนี้จะใช้เวลา 3-4 เดือน ก็ต้องอดทน

ตรงนี้....ผมจะทำตัวอย่างให้แบบนี้ ต้องทำตารางการฝึกไว้ก่อน
1.ระยะ 10 กม. ใช้เวลา 38.7 นาที
2.ระยะ 1 กม. ใช้เวลา 3.87 นาที
3.ระยะ 100 เมตร. ใช้เวลา 0.387 นาที (=23.22 วินาที)
4.ระยะ 200 เมตร. ใช้เวลา 0.774 นาที (=45.44 วินาที)
5.ระยะ 400 เมตร. ใช้เวลา 1.548 นาที (=90.88 วินาที)
6.ระยะ 800 เมตร. ใช้เวลา 3.096 นาที (=181.76 วินาที)
7.ระยะ 1,000 เมตร. ใช้เวลา 3.87 นาที (=232.2วินาที)
8.ระยะ 2,000 เมตร. ใช้เวลา 7.74 นาที
9.ระยะ 4,000 เมตร. ใช้เวลา15.48 นาที
10.ระยะ 8,000 เมตร. ใช้เวลา 30.96 นาที

เมื่อคุณจะลงคอร์ท 400 เมตร คุณก็เริ่มลงด้วยเวลาที่ 1.548 นาที (=90.88 วินาที)
อาจทำตัวเลขให้ง่ายขึ้นโดย คอร์ท 400 เมตร ที่ 90 วินาที

จัดคอร์ทแบบนี้...
จะซ้อมแบบนี้กี่วันกี่เดือน..ก็แล้วแต่การพัฒนาของร่างกาย
คุณขยับความอดทนต่อความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆแบบนี้

  1. วิ่ง 400 เมตร ตามด้วยการวิ่งช้า 800 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ว่าทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิทคือหยุดสนิท 2 นาที)
  2. วิ่ง 400 เมตร ตามด้วยการวิ่งช้า 600 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย(คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิทคือหยุดสนิท 2 นาที)
  3. วิ่ง 400 เมตร ตามด้วยการวิ่งช้า 400 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิทคือหยุดสนิท 2 นาที)
  4. วิ่ง 400 เมตร ตามด้วยการวิ่งช้า 200 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิท 2 นาที)
  5. วิ่ง 400 เมตร ตามด้วยการวิ่งช้า 100 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิท 2 นาที)
  6. วิ่ง 400 เมตร ตามด้วยการวิ่งช้า 50 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิท 2 นาที)
พอถึงตรงนี้...คุณสามารถวิ่ง 400 เมตรโดยแทบไม่มีการพักได้แล้ว
ต่อไป...คุณก็ขยับไปวิ่งที่ 800 เมตร โดยทำคล้ายๆกับ 400 เมตร


  1. วิ่ง 800 เมตร(เวลา 3 นาที) ตามด้วยการวิ่งช้า 1600 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิท 2 นาที)
  2. วิ่ง 800 เมตร(เวลา 3 นาที) ตามด้วยการวิ่งช้า 800 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิท 2 นาที)
  3. วิ่ง 800 เมตร(เวลา 3 นาที) ตามด้วยการวิ่งช้า 400 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิท 2 นาที)
  4. วิ่ง 800 เมตร(เวลา 3 นาที) ตามด้วยการวิ่งช้า 200 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิท 2 นาที)
  5. วิ่ง 800 เมตร(เวลา 3 นาที) ตามด้วยการวิ่งช้า 100 เมตร....จนร่างกายเคยชินโดยรู้สึกว่า...ทำได้ง่าย (คุณอาจวิ่งวันละ 10-15 เที่ยว ก็ตามที่จะลองทำดู แบ่งไว้ทุกๆ 5 เที่ยวพักสนิท 2 นาที)
จากนี้..คุณก็ไปวิ่งที่ 1,600 .....2,000......4,000...8,000 เมตรต่อไป...
ต้องทราบว่า...คอร์ทนั้นจะอยู่ในช่วง 400...800....1,200 เมตร เท่านั้น
คือกี่รอบสนามฝึกนั่นเอง....
แต่การฝึก...คุณต้องวิ่งให้ยาวขึ้นเรื่อยๆ
ขอให้โชคดีในการฝึกคัฟ...☺☺☺



ถูกใจ

แสดงความคิดเห็น
6 ความคิดเห็น
ความคิดเห็น
กด Enter เพื่อโพสต์
ธนวัฒน์ อุดรปรีชา ขอถามหน่อยครับว่าใช้คอร์วิ่ง 400 เมตรอย่างเดี่ยวจะได้ผลหรือเปล่าครับ ขอบคุณ
ชมรมวิ่งลูกพ่อขุนผาเมืองหล่มสัก ผมเป็นเพียง นักวิ่งแนวกลาง ไม่อาจ ให้ความเห็นได้
แผนการฝึก ที่ได้มา ล้วนมาจาก แนวหน้า ที่มอบให้ครับ

วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

ซ้อมมาราธอนกับมูราคามิ : (เริ่ม) บังคับให้กล้ามเนื้อรับรู้ความเจ็บปวด

กีฬา_ทางเลือก
โดย วายร้ายสีแดง
กะเทาะโลกกีฬา นักกีฬายอดนิยม (ในกระแส)
แม้แต่เสียงข้างสนามแบบมี “ทางเลือก” ชวนขบคิด ปนขำๆ
แน่ชัดอยู่แล้ว ผมเริ่มวิ่งทีหลัง “มูราคามิ” นานนัก  ยิ่งพูดถึงการเคี่ยวกรำร่างกายอย่างนักวิ่งมืออาชีพ ก็ยิ่งผลักให้ช่องว่างเต็มไปด้วยความว่างเปล่า
พอได้อ่านงานเขียนของเขา-เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง ผมถึงกับต้องกลับมาทบทวนเรื่องการวิ่งเสียใหม่
แต่ยังไม่ชวนขมขื่นเท่าเชิงอรรถที่แนบมากับตัวบท บอกให้ใคร่ครวญพิจารณา “การเขียน” ใหม่ด้วยนี่สิ !
ชายชื่อ ฮารุกิ มูราคามิ เป็นใคร ? (ชั่วโมงนี้คงไม่ต้องแนะนำกันแล้วมั้ง)
……….

หากเปรียบเทียบกับกีฬายอดฮิตทั้งหลาย วิ่งระยะไกลหรือวิ่ง (ตาม) ถนน แบบฝรั่งเรียก เป็นกีฬาไร้ซึ่งซูเปอร์สตาร์ให้กรี๊ด และยังต่างจากกีฬาอื่นอย่างน่าประหลาด ตรงคุณมักเข้าไปมีส่วนร่วมกับมันในฐานะของผู้เล่นเท่านั้น หาใช่ผู้ชมขอบสนามไม่
กล่าวอย่างจริงจัง การดูแข่งขันวิ่งมาราธอนอย่างสนุกเร้าใจเกิดขึ้นยากเต็มทน เว้นแต่จะสวมรองเท้าติดเบอร์ที่หน้าอกลงไปลุยเอง
ก่อนลงมาราธอนระยะ ๔๒.๑๙๕ กม. นักวิ่งแทบทุกคนจะต้องผ่านการวิ่งมินิและฮาล์ฟมาราธอน ระยะ ๑๐.๕ และ ๒๑.๑ กม. ตามงานเดินวิ่งที่จัดกันทั่วไป (ทุกเช้าวันอาทิตย์) มาระยะหนึ่ง ดังวิชาบังคับ ไต่ระดับจนกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ แกร่งขึ้น พร้อมๆ กับระบบสูบฉีดเลือดเข้าที่เข้าทาง  ในทางกลับกัน ไม่ได้หมายความว่านักวิ่งที่ผ่านวิชาบังคับแล้วจะก้าวไปสู่เต็มมาราธอนกันทุกคน
แน่ละ อาจมีอยากบ้าง-เป็นเกียรติประวัติสักครั้งในชีวิต แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ต้องการซ้อมและวิ่งเอาเป็นเอาตายขนาดนั้น ผมก็คนนึงละ
ในงาน UN Day Run ๑๐ กม. เมื่อ ๖-๗ ปีก่อนซึ่งเป็นสนามแรกของตัวเอง ทุกคนเริ่มต้นจากหน้าสำนักงานสหประชาชาติ วิ่งเป็นวงรอบผ่านวังสวนจิตรฯ ถนนสุโขทัย เพื่อวกกลับทางบางลำพู  บนถนนพระสุเมรุ จำได้ว่าวิ่งเลยแยกสะพานวันชาติมาหน่อยก็แทบหน้ามืด แข้งขาปัด มีนักวิ่งสูงอายุแซงไปชิลล์ๆ  แต่พอลงสะพานผ่านฟ้า-ปากทางสำนักงานสารคดี ก็มีแรงฮึดขึ้นมาเพราะเห็นเส้นชัยอยู่ลิบๆ  และยังคุมสตินึกว่าแม้ลาออกจากงานประจำที่นี่โดยยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างน้อยขอเหรียญรางวัลจากการวิ่งติดมือ-ชนิดเข้าเส้นชัยไม่หมดสภาพดูน่าสมเพช-เป็นรางวัลแรกสำหรับชีวิตฟรีแลนซ์ก็พอ
ระหว่างทางนักวิ่งมือใหม่จะก่นด่าตัวเอง–“เหนื่อยสุดๆ” “ไม่เอาอีกแล้ว” หรือ “เรามาทำอะไรอยู่ที่นี่”  ไม่ช้านาน พอผ่านเส้นชัยจะเริ่มคิดใหม่–“เฮ้, เราก็ทำได้…ไม่เลวนิ” บางคนคิดว่า วิ่ง ๑๐ กม. เข้าเส้นชัยก็น่าจะฟันฝ่าอุปสรรคอื่นๆ สำเร็จบ้าง หายเหนื่อยก็มองหารายการวิ่งทดสอบตัวเองต่อไป พร้อมวาดฝันว่าเวลาน่าจะดีกว่าเดิมได้อีก
เสน่ห์ของการวิ่งเป็นอย่างนั้นจริง
และมันก็ดีจริงอะไรจริง คล้อยตามวาทกรรมนักวิ่งที่ว่า “วิ่งระยะไกลเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิต”
เอมิล ซาโตเปก (Emil Zátopek) นักวิ่งระยะไกลชั้นยอดของศตวรรษที่ ๒๐ ชาวเช็ก กล่าวไว้ “ถ้าคุณอยากวิ่งให้วิ่งสักไมล์หนึ่ง แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตใหม่ก็จงวิ่งมาราธอน”
ซาโตเปกเป็นแชมป์โอลิมปิก ๓ รายการรวดในปี ๑๙๕๒ คือ ๕,๐๐๐ เมตร ๑๐,๐๐๐ เมตร และมาราธอน และเป็นคนเดียวที่ทำได้เช่นนี้ (ในกีฬาโอลิมปิกไม่มีการจัดแข่งขันระยะ ๒๑.๑ กม.)
ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนนิยายชาวญี่ปุ่นที่มีแฟนคลับหนาแน่นในบ้านเรา ก็เลือกวิ่งตอนอายุ ๓๓ ปี เมื่อต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่เหลือเค้าเดิมจากเจ้าของธุรกิจบาร์แจ๊ซสู่นักเขียนอาชีพ และเลิกบุหรี่  ภายในเวลาไม่กี่เดือนเขาก็ร่วมแข่งระยะ ๑๕ กม. และฝึกจนสามารถวิ่งต่อเนื่องราวเครื่องจักรกล หมายถึงการมีทรงของนักวิ่ง เมื่อนั้นเขาเข้าร่วมรายการ ๔๒ กม. รายการใหญ่ๆ ของโลกเฉลี่ยปีละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา ๓๐ ปี ไม่ว่าบอสตัสมาราธอน นิวยอร์กซิตีมาราธอน โตเกียวมาราธอน รวมถึงวิ่งจากกรุงเอเธนส์ไปยังหมู่บ้านริมทะเลที่ชื่อมาราธอน เจ้าของตำนานกีฬาประเภทนี้ในประเทศกรีซ
มูราคามิทำเวลาในการวิ่งมาราธอนราว ๓ ชั่วโมง ๔๐ กว่านาที ในช่วงวัย ๔๐ ปี ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตนักวิ่งของเขา  แม่เจ้า…เวลาต่ำกว่า ๔ ชั่วโมงเป็นที่ฝันถึงสำหรับนักวิ่งสมัครเล่นทุกคนตลอดทาง ๔๒ กม. !
ในสายตาของเขา เรื่องความเร็ว ระยะทาง ไปถึงพวกเทคนิคทำอย่างไรให้วิ่งดี ยังสำคัญน้อยกว่าการลุกออกไปวิ่งเป็นประจำทุกวัน ไม่มีวันพักวันลา
ฝืนทำในสิ่งที่ไม่คุ้น ไม่สะดวกสบาย เข้าขั้นทรมานกาย
ในหนังสือ What I Talk About When I Talk About Running ที่ นพดล เวชสวัสดิ์ แปลว่า เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง  มูราคามิเสนอว่า กายภาพอันแข็งแกร่งจำเป็นมากสำหรับนักเขียนบานช้าอย่างเขา (หรือใครก็ตาม) โดยเฉพาะการเขียนเรื่องยาวๆ เช่นนวนิยาย
นักเขียนประเภทบานช้า ย่อมมิใช่กลุ่มผู้มีพรสวรรค์ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด นักเขียนเหล่านั้นจะเขียนได้อย่างไหลรื่น แทบไม่ต้องออกแรงขุดผืนดินก็พบตาน้ำที่ไหลผุดเป็นน้ำพุ “ถ้อยคำไหลพรั่งพรูไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะตักไปใช้มากแค่ไหน สายธารใต้ดินของเขาไม่เคยเหือดแห้ง”
“โชคร้ายที่ผมไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มนั้น ผมมองหา ไม่เห็นตาน้ำอยู่ใกล้ตัว ต้องคว้าสิ่วคว้าค้อนสกัดชั้นหิน ขุดหลุมให้ลึกก่อนจะพบสายแร่ความคิดสร้างสรรค์  ในการเขียนนิยายผมต้องเคี่ยวตัวเองอย่างหนักทางกายภาพ  ทุกคราวที่ผมเริ่มนิยายเรื่องใหม่ ผมจะขุดหลุมลึกอีกหลุม ขุดเจาะลงไปจนพบธารน้ำเบื้องล่าง  ในทันทีที่สังเกตเห็นว่าแหล่งน้ำแห้งผาก ผมจะย้ายไปขุดอีกหลุม  สำหรับคนที่พึ่งพาตาน้ำธรรมชาติ พรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อใดที่ตาน้ำแห้งผาก นักเขียนนิยายผู้นั้นมีปัญหาแล้ว
“สิ่งที่ผมรู้ทั้งหมดในการเขียนนิยาย ผมเรียนรู้จากการวิ่งเป็นประจำทุกวัน”
“เฮียมู” เล่าว่าตัวเขาซ้อมวิ่งเดือนละ ๒๖๐ กม. (สัปดาห์ละ ๖๐ กม.) ในขั้น “เอาจริงเอาจัง” วิ่งเดือนละ ๓๑๐ กม. (สัปดาห์ละ ๗๐ กม.) ในขั้น “เคี่ยวกรำ”  โดยปรกตินักวิ่งจะไม่ซ้อมวันละ ๑๐ กม. เท่ากันทุกวัน  ถ้าวันหนึ่งวิ่งไป ๑๕ กม. วันถัดมาก็ลดลงเหลือ ๕-๖ กม. หรือ ๑๕ รอบสนามบนลู่วิ่งมาตรฐาน และวันถัดมาก็อาจวิ่งเร็วเป็นชุดๆ ที่เรียกว่า interval running  ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนักวิ่งชั้นแนวหน้า ตารางฝึกซ้อมคร่าวๆ แบบนี้ก็ไม่แตกต่าง  พอใกล้วันแข่งบางคนอาจเพิ่มฝึกวิ่งขึ้นเนิน วิ่งบนหญ้า สลับการว่ายน้ำ หรือฝึกซ้อมท่ามกลางสภาพอากาศเบาบาง ถือว่านำปฏิบัติการทั้งไม้แข็งไม้นวมเข้าช่วย
เหตุผลที่ต้องเคี่ยวกรำร่างกายประหนึ่งลงทัณฑ์ เขาบอกว่า กล้ามเนื้อของคนเราเหมือนวัวควายไถนา ไม่มีความคิดแต่หัวไว ถ้าเราเพิ่มน้ำหนักทีละน้อย สัตว์เรียนรู้ที่จะแบกภาระเพิ่ม ถ้าภาระงานหายไปสองสามวัน มัดกล้ามจะอนุมานโดยอัตโนมัติว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำงานหนักอีกแล้ว จะลดเพดานสูงสุดของตนทันที หากเราต้องการสอนสั่งประทับความจำใหม่ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในกระบวนการนั้น (แน่ละ การพักเป็นธรรมชาติที่ขอละไว้กล่าวถึงต่อไป)
วิ่งระยะไกลเป็นโครงการกินเวลายาวนาน ปัญหาอยู่ที่การทำให้มู่เล่ (รอกสำหรับสายพาน) หมุนให้ได้อัตราเร็วที่ต้องการเสียก่อน การเพิ่มพูนทักษะเพื่อเขียนเรื่องยาวๆ ก็ไม่ผิดแผกกัน  เขาย้ำ
จุดเริ่มต้นของการติดวิ่งของคนเราจึงอยู่ตรง การบังคับให้กล้ามเนื้อรับรู้และจดจำความเจ็บปวดอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการซ้อม ซ้อม และซ้อม เทียบเคียงได้กับนักกอล์ฟที่ซ้อมตีลูกอย่างโหยหาจนกล้ามเนื้อจำวงสวิงได้ [คำว่า ความจำของกล้ามเนื้อ (mascle memory) เป็นสำนวนเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ หมายถึงการฝึกกล้ามเนื้อให้ยืดหดจนชิน สามารถสั่งลูกกอล์ฟได้โดยไม่ต้องคิดว่าจะตีอย่างไร ถ่ายน้ำหนักแบบไหน ตัวกล้ามเนื้อเองไม่มีความจำ แต่ได้รับคำสั่งและควบคุมจากสมองส่วนหน้า]
นอกเหนือจากยิ่งวิ่งยิ่งได้แรง ชีพจรช้าลง น้ำหนักตัวคงที่ ฯลฯ การฝึกวิ่งระยะไกลยังช่วยชำระล้างมลภาวะออกจากจิตใจของคนเราด้วย ดังที่มูราคามิใช้สนามวิ่งช่วยบั่นทอนความไม่สบอารมณ์ (เช่น จากการถูกวิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม) ให้เหนื่อยล้าไปเอง  “เวลาชั่วโมงหรือสองชั่วโมงที่ใช้ไปในการวิ่งจะเป็นการปกป้องห้วงเวลาเงียบสงัดส่วนตัว มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตของผม”
ผม (คนเขียนคอลัมน์) เคยคิดว่า ถ้าอายุ ๗๐ ปีแล้วยังคง (อยู่) วิ่งและเขียนหนังสือ ชีวิตจะไม่มีวันเหงาซึมเซา
ซึ่งสอดรับกันกับข้อความข้างบน รวมไปถึงหลักหมายแห่งการวิ่งที่เฮียมูสอนว่า เขาไม่คิดว่านักวิ่งส่วนใหญ่วิ่งเพื่อยืดชีวิตตนเองให้ยืนยาว แต่วิ่งเพราะอยากให้ชีวิตเต็มความหมาย
“หากเราอยากใช้ชีวิตสืบไปนานหลายปี จะเป็นการดีกว่าถ้าใช้ชีวิตโดยมีเป้าหมายชัดเจน มีชีวิตชีวาเต็มเปี่ยม ผมเชื่อว่าการวิ่งช่วยให้เกิดผลนั้น  การเคี่ยวกรำตนเอง ผลักดันให้เต็มขีดความสามารถของเพดานจำกัดของแต่ละคน นั่นเป็นหัวใจ”
หมายเหตุ : การอ้างคำพูดมูราคามิเป็นสำนวนแปลของ นพดล เวชสวัสดิ์ หากมีการปรับทอนและสลับใจความบางส่วน