วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562

Half marathon sub2 ...!!! ซ้อมอย่างไร ???

หลังจากปล่อยให้เพื่อนๆไปนั่งงงกับตัวเลขที่ไม่ลงตัว 3 บทความก่อนหน้าซึ่งผมยืนยันว่ามันจำเป็นที่คุณต้องรู้ก่อนจะไปโค้ชให้กับใครหรือแม้กระทั่งโค้ชวิ่งให้กับตัวคุณเอง
.

ผม (#โค้ชม๊อก) เขียนตารางวิ่งไว้หลายสูตร 
ทุกสูตรมีสำเนาคำปรึกษาในกล่องและคำอธิบายกำกับ
.
“ทำไว้เพื่อสร้างคู่มือการซ้อมใช่ไหม???" เปล่า...!!!! เพื่อแบ่งเบาคำสบถจากนักวิ่งที่สะท้อนกลับมาต่างหาก 55555
.
อ่านให้เข้าใจ แล้วมันจะไม่ยากเลย

#ตอนแรกลักษณะทั่วไปของฮาล์ฟ https://www.facebook.com/1658834907737286/posts/2334859850134785/
.
#ตอนสองลักษณะการวิ่ง
https://www.facebook.com/1658834907737286/posts/2334857746801662/
.
#ตอนสามช่วงต่างๆของการซ้อม
https://www.facebook.com/1658834907737286/posts/2334855956801841/
.
ครบแล้วมาดูกันว่าวางตารางวิ่งยังไง
_______________

⭕️ ตารางนี้วิ่งกัน 12+1 สัปดาห์

ความหนักของตาราง 8/10 RPE Score

สิ่งที่คุณควรมี

:เวลาการซ้อม 4 วันต่อสัปดาห์

:ใช้เวลาต่อครั้ง 1-1:30 ชั่วโมงในวันกลางสัปดาห์
และ 1:30-2:30 ชั่วโมงในวันหยุด

: ผมอยากย้ำเรื่องนี้ครับว่า #พื้นฐานร่างกายที่แข็งแรง
ในระดับที่ออกกำลังกายได้ทนนาน ถ้าไม่ชัวร์ให้พบหมอเพื่อประเมินก่อนทำกิจกรรมจะดีที่สุด (พื้นฐานร่างกาย ที่ควรผ่านการวิ่งมินิ 10Km ได้ และวิ่งระยะฮาล์ฟมาก่อนแล้ว)

:นาฬิกา GPS Sport สักเรือนจะเก็บข้อมูลและกำหนดการซ้อมได้ง่ายขึ้นอีกมาก

:หากบาดเจ็บควรพบแพทย์และหยุดการซ้อมตามตารางนี้ทันทีครับ การฝืนไป หรือว่าไม่ทราบสาเหตุอาการบาดเจ็บ เป็นเรื่อง
ที่ไม่แนะนำครับ

_______________

⭕️ เหมาะสมกับเพื่อนๆที่มีสถิติ

วิ่ง 5km. ที่เวลา 25:46 - 27:00 นาที

วิ่ง 10km. ที่เวลา 53:29 - 56:03 นาที

หรือเคยวิ่งฮาล์ฟแถวๆ 2:05 ชั่วโมง

***อ้างอิงจาก VDOT Class 35-37 ของ Daniels' Running Formula

⭕️ ไม่เหมาะกับ

: นักวิ่งที่ยังอาการที่ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ สุขภาพสำคัญครับ ให้คุณหมอช่วยแนะนำอีกสำทับเพื่อความมั่นใจ ในการเล่นกีฬาสาย Endurance Training นี้

:เครียดจากงานมากๆ แล้วต้องมาเครียดเรื่องวิ่งอีก เศร้าแพ้พ...

:ผู้กำลังเข้าโปรแกรม Diet ด้านการจำกัดอาหาร ละเว้นก่อนครับ มันทรมานมากเกินไป

_______________

ตารางนี้เป็นเนื้อซ้อมอย่างเดียว การ warm up , stretching , cool down และการดูแลก่อนและหลังวิ่งไม่เกี่ยวข้องในคำแนะนำนี้นะครับ เนื่องจากมันขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์นักวิ่งแต่ละคน / แต่นักวิ่ง
ควรเข้าใจและมีความรัดกุมเรื่องการ warm up , stretching , cool down 
.
ชีวิตนักวิ่งมันหลากรสชาดและมากด้วยอารมณ์ ในการซ้อมชุดหนึ่งคุณอาจวิ่งชนความเศร้า เหยียบเท้าลงบนความเหนื่อยล้า และนอนลงบนความทรมานก่อนที่จะเหยียดตัวขึ้นยืนพร้อมกับความสุขที่คุณทำมันได้

21Km ที่อยู่ต่ำกว่าเพดานเวลา 1:59:59 ชม. 
ด้วยความสัตย์จริง ผมหวังให้นักวิ่งได้สัมผัสมันบ้าง 
เป็นความภูมิใจและคุณจะพบแนวทาง
การพัฒนาการวิ่งของตัวเองอีกมาก 
หากมีการศึกษา ทดลอง เรียนรู้ และไม่ลดละ "ความพยายาม"

_______________

บทความโดย | โค้ชม๊อก มีประสบการณ์ฝึกฝนนักวิ่งมาราธอนมานานแรมปี เป็นที่ปรึกษาด้านการเทรนนิ่งของเพจ ThaiRun

แชร์หรือเซฟตารางนี้เก็บไว้ได้ตามสะดวกครับ
#ซ้อมฮาล์ฟSub2

ThaiRun | เพจแรกที่นักวิ่งเลือก

https://www.facebook.com/1658834907737286/posts/2337672963186807/?app=fbl

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562

วิ่งแล้วได้อะไร

ฮัลโหลเพื่อน ๆ นักวิ่งทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ทุกคนนะครับ วันนี้จะมาพูดถึง “วิ่งแล้วได้อะไร” ซิงเกิ้ลใหม่จาก นิว-จิ๋ว ....เอ้ย ไม่ใช่ครับ 😅 เป็นเกร็ดความรู้ดี ๆ ต่างหาก เพื่อน ๆ หลายคนคงจะหันมาเริ่มดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ที่เริ่มได้ง่าย ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นเทรนด์การวิ่งในงานต่าง ๆ นอกจากจะช่วยให้สุขภาพดี หุ่นเป๊ะแล้ว ยังได้เจอะเจอเพื่อนใหม่ ๆจากการวิ่งอีกด้วย แล้วเพราะอะไรการวิ่งจึงน่าลอง มาดูกันครับว่ามันมีอะไรดี...? 😄
.
🏃‍♂️..ความเครียดหายไป..
เมื่อเพื่อน ๆ ได้ลองออกไปวิ่งจะรู้สึกมีความสุขขณะที่วิ่งไปเรื่อย ๆ ฟังเพลงคลอเบา ๆ ฟินมากจ้า ควรเลือกไปวิ่งช่วงเช้าหรือเย็นนะครับ เลี่ยงแดดแรง ๆ อากาศอบอ้าว จะทำให้เราร้อนและเครียดแทน การวิ่งเพื่อให้มีความสุข ลดความเครียดได้นั้น จำเป็นจะต้องวิ่งนานหน่อยนะครับ วิ่งเหยาะ ๆ ให้ได้สัก 30 นาทีขึ้นไป ลองดูครับเพื่อน ๆ ได้ผลยังไงมาบอกกันด้วยเด้อ
.
🏃‍♂️..ได้เหงื่อ..
นอกจากความสุขแล้วก็ผิวสวยนี่แหละดีงาม เมื่อเหงื่อออกแล้วร่างกายของเพื่อน ๆ จะสดชื่น แถมเหงื่อยังะชะล้างสิ่งสกปรกในรูขุมขนออกมาอีกด้วยนะครับ นั่งพักสักชั่วโมงแล้วค่อยไปอาบน้ำครับ


🏃‍♂️..สมองไวขึ้น..
ถ้าให้ผลดี เพื่อน ๆ ควรวิ่งให้ได้สัก 30 นาที หรือประมาณ 5,400 ก้าว จะช่วยให้สมองของเพื่อน ๆ ทำงานได้ดีขึ้นครับ มีการตอบโต้รวดเร็ว ลดโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ด้วยนะเออ
.
🏃‍♂️..วิ่งให้ได้ 45 นาที เผาผลาญไขมันไปอีก 14 ชั่วโมง..
สู้ ๆ ๆๆ วิ่งต่อไปครับเพื่อน ๆ ถ้าวิ่งได้ 45 นาที นอกจากจะเกิดการเผาผลาญระหว่างการวิ่งแล้ว เมื่อหยุดวิ่งร่างกายเราจะมีการเผาผลาญไขมันไปได้อีก 14 ชั่วโมงเลยครับ ก็ประมาณ 190 กิโลแคลอรี่เลยนะ ดีไปอีก
.
🏃‍♂️..ข้อต่อไม่เสื่อมง่าย..
ข้อนี้เพื่อน ๆ นักวิ่งหน้าใหม่อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ถือเป็นการฝึกที่ดีและข้อดีก็คุ้มครับ ต้องวิ่งให้ได้สม่ำเสมอสัปดาห์ละประมาณ 5 วัน ถ้าทุกวันก็ยิ่งดีครับ และจะต้องวิ่งนานหน่อย ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน สู้ ๆ ครับโผม
.
🏃‍♂️..ลดความดันโลหิต..
เพื่อน ๆ ควรวิ่งให้ได้ครั้งละ 50 นาที จะวิ่งวันเว้นวันหรือจะไม่เว้นวันก็ได้นะครับ ถ้าทำได้ตามนี้ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ความดันโลหิตจะลดลง เพื่อน ๆ ที่มีปัญหาความดัน ออกไปวิ่งกันเถอะเพื่อสุขภาพ
.
🏃‍♂️..สร้างกล้ามเนื้อ..
คนวัยเลข 3 อย่าถอดใจ มาฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ลดลงไปเมื่ออายุเกิน 30 ปี กันเถอะ เอามันคืนมาจากการวิ่งกันครับ หาเวลาไปวิ่งทุกวันหยุดก็ยังดีครับ วิ่งให้ได้ ครั้งละ 45 นาที แต่ถ้าเพื่อน ๆ บอกว่าแถมวันธรรมดาอีกวันสองวันได้ไหม ตอบเลยว่า..จัดไปครับ
.
🏃‍♂️..ลดคอเลสเตอรอล..
อย่างที่รู้กันดีนะครับว่าการวิ่งคือการลดคอเรสเตอรอลอย่างพวกไขมันเสียได้ดีที่สุด และยังเพิ่มไขมันดีขึ้นในร่างกายของเราด้วยนะ ถ้าจะทำให้ได้ผลดี เพื่อน ๆ ก็ต้องวิ่งวันละ 1 ชั่วโมง ทำให้ได้ทุกวัน อาจจะใช้เวลานานหน่อย ประมาณ 2 เดือนขึ้นไปครับ เริ่มกันตั้งแต่เย็นนี้เลย
.
🏃‍♂️..บุคลิกภาพดูดีมาก..
เพื่อน ๆ กลายเป็นหนุ่มสาว สปอร์ต กันแล้วนะครับ แน่นอนว่าเมื่อเราหมั่นออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ ร่างกายของเราย่อมกระชับ หุ่นฟิตเฟิร์ม จะใส่ชุดไหนก็ดูเหมาะดูดี สร้างบุคลิกภาพที่ดีให้กับตัวเอง รู้สึกตัวเบาทำอะไรก็กระฉับกระเฉงมากยิ่งขึ้นครับ แจ๋วเลย
การวิ่งเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ควรทำอย่างใจเย็น ไม่ต้องเร่งนะครับ โดยเฉพาะนักวิ่งมือใหม่อย่ารีบวิ่งเร็วตามใคร เพื่อน ๆ ควรกำหนดการวิ่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตัวเอง หมั่นฝึกซ้อมบ่อย ๆ และทำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้การวิ่งของเพื่อน ๆ มีการพัฒนา สามารถวิ่งได้ตามเป้าหมาย โดยไม่มีอาการบาดเจ็บมารบกวน ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะเป็นนักวิ่งหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ เราก็เริ่มต้นและรักในสิ่งเดียวกันแล้วเนอะ อ่านจบแล้วก็ออกไปวิ่งไปได้เลยจ้า 🏃‍♂️🏃‍♂️😆
#Wingnaidee #วิ่งไหนดี

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

7 สัญญาณอันตราย ที่เตือนคุณว่าออกกำลังกายมากเกินไป

แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีโทษได้ ถ้าออกกำลังกายมากเกินไป มาสังเกต 7 สัญญาณอันตราย ที่เตือนคุณว่าตอนนี้กำลังอยู่ในจุดเสี่ยงนั้นกันครับ 

1. เกิดความอ่อนเพลีย อ่อนล้า ไม่กระปรี้กระเปร่า
2. เมื่อร่างกายใช้พลังงานมากเกินไป จะทำให้เกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอ และภูมิคุ้มกันลดลงได้
3. ไม่สดชื่น ไม่แจ่มใส เพราะมองว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ ทำให้กดดันตัวเอง 
4. นอนไม่หลับ จิตใจไม่สงบ ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา
5. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายมากขึ้น
6. ปวดเมื่อยทั้งตัว ทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้อย่างเต็มที่
7. หิวน้ำมากผิดปกติ เหนื่อยมาก จนอาจเป็นลมหมดสติ
เลือกออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกายของเรา และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่จะได้มีกำลัง และพลังงานมาใช้ในการออกกำลังกายต่อไป แต่ถ้ามีอาการผิดปกติเมื่อไหร่ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันทีครับ
#fit4Q&A #fit4funrelax
Official Line คลิก line.me/ti/p/%40
fit4funWebsite : www.fit4funrelax.com

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

โรคหัวใจวายเฉียบพลันในนักวิ่ง

จากข่าวสลดบนหน้าหนังสือพิมพ์ วันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมานี้ ทำให้แอดอดไม่ได้ที่จะต้องเขียนบทความเตือนท่านนักวิ่ง หรือ Marathoner ทั้งหลาย 📌
.
หลายคนอาจเข้าใจว่า คนที่วิ่งได้ระยะยาวๆ วิ่งมาก็หลาย race แล้ว น่าจะมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ดี รวมไปถึงสภาวะเกี่ยวกับหัวใจ ... แต่นั่นอาจเป็นความเข้าใจที่ผิด📌📌📌


จากสถิติจริงพบว่า
- นักวิ่งมาราธอนมีอัตราการเสียชีวิต จากโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ทั้งในขณะแข่งขัน หรือหลังวิ่ง คิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ราย
- โดยส่วนใหญ่เกิดกับ เพศชาย ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
.
และอีกงานวิจัยหนึ่ง (med sci sport & exercise, 2010) ทำการศึกษาลักษณะของผู้เสียชีวิตแบบเฉียบพลันในนักวิ่งมาราธอน จำนวน 36 ราย พบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ที่เกิดภาวะนี้ คือ 43.8 ปี ประสบการณ์ในสนามวิ่งเฉลี่ยที่ 6.8 ปี และข้อมูลที่น่าตกใจคือ คนเหล่านั้นบางรายสามารถวิ่ง full marathon ได้ sub4 มาแล้วด้วยซ้ำ!!! OMG 😮
.
จากข้อสรุปในหลายงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะ Heart Attack ใน Marathoner มีเนื้อหา ดังนี้
.
-ไม่สามารถทำการสรุปได้ว่า นักวิ่งมาราธอนที่ผ่านสนามมานักต่อนัก จะปราศจากความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายเฉียบพลัน
-โรคหัวใจวายเฉียบพลัน มีหลายปัจจัยส่งเสริม นอกเหนือไปจากการวิ่งได้ระยะยาวๆ ยังมีในเรื่องของอาหาร การพักผ่อน ความเครียด และบางรายมีเส้นเลือด หรือหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดแต่ไม่มีอาการแสดงมาก่อน
-พบว่าขณะวิ่ง full marathon ร่างกายมีการผลิตสารพิษต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ สูงมากกว่านักวิ่ง half หรือ mini หลายเท่า (troponin-T and troponin-I)
.
ด้วยความนิยมของการวิ่งมาราธอนที่มากขึ้น ทำให้อุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลันพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
.
จากข้อมูลเหล่านี้ จึงอยากฝากทุกท่านให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเพศชายวัย 40 ปีขึ้นไป
.
อย่าละเลย หรือ คิดว่าตนเองวิ่งได้มานักต่อนักแล้ว ไม่น่าจะเป็นอะไร ... รักใครห่วงใยใคร ให้เขารับรู้ และพากันไปตรวจร่างกายนะคะ
(อาจมีบางท่านที่อ่านแล้วยังสงสัย บทความนี้สำคัญคือการเตือนว่า ไม่ควรละเลยการตรวจร่างกายประจำปีเมื่อถึงวัยหรือมีอาการเตือน ไม่ใช่ว่าตนเองวิ่งได้ จบฟูล จะแข็งแรงดี การันตีว่าไม่เป็นอะไร เจอมานักแล้วค่ะที่ต้องสูญเสียด้วยเหตุผลทำนองนี้
ส่วนการตรวจจะต้องละเอียดเพียงใด เป็นปัจจัยส่วนบุคคลที่ควรพบแพทย์เพื่อประเมินก่อน ว่าควรต้องตรวจ หรือทดสอบรายการใดบ้าง)
#VDM027
.
ด้วยรัก
-วิ่งดิหมอ-
ปล. ลิ้งค์ข่าวจริงที่เกิดขึ้น https://www.dailynews.co.th/regional/694480

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

อย่างน้อย...เขาก็ไม่เคยเดิน

นี่คือวลีที่ ฮารูกิ มูราคามิ 
นักเขียนชาวญี่ปุ่น 

ที่คนไทยรู้จักมากที่สุด 
เตรียมไว้เพื่อสลักบนป้ายหลุมศพ
°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°
ใช่ค่ะ...เขาเป็นนักวิ่งมาราธอนด้วย 
ไม่ใช่ไก่กา 
เขาเคยทำสถิติดีที่สุดไว้ที่สามชั่วโมงต้นๆ เลยด้วยซ้ำ แม้จะเริ่มวิ่งในวัยกลางคนแล้ว 
การเดินในมาราธอนมันน่าอับอายขนาดนั้นเลยเหรอ? อาจมีคนถามแบบนี้ 
จากประสบการณ์ 10 ปีในวงการวิ่งของเรา ขอตอบว่า...ไม่ค่ะ ไม่น่าอับอายแม้แต่น้อย 
มีแผนฝึกมาราธอนบางแผน เช่นของ เจฟ กัลโลเวย์ กำหนดให้วิ่งสลับเดินด้วยซ้ำ 
แต่ที่คนๆ นึงถึงขนาดอยากประกาศบนป้ายหลุมศพว่าเขาไม่เคยเดิน 
นั่นเพราะเบื้องหลังคำว่า “ไม่เดิน” 
°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°
มันคือการประกาศให้โลกรู้ว่า
“ฉันไม่เคยวิ่งมาราธอน
โดยไม่ซ้อม” ต่างหาก
°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°
ทุกครั้งเมื่อเข้าฤดูกาลมาราธอน มูราคามิจะซ้อมด้วยไมเลจอย่างต่ำ 60 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ 
และเพิ่มไปจนถึง 90 กิโลเมตรในช่วงพีค 
...ใครทำได้แบบนี้ ก็สมควรที่จะภาคภูมิใจมิใช่หรือ 
มาราธอนในเวลา 5 ชั่วโมง เป็นเป้าหมายที่กำลังดี ที่จะพิสูจน์ตัวเองว่า 
“อย่างน้อย...ฉันก็ไม่เดิน”
เพราะข้อเท็จจริง 2 ข้อดังนี้ 
1) มันจะมีความเร็วอยู่ค่านึง ซึ่งถ้าเคลื่อนที่เร็วกว่าค่านี้ วิ่งจะเหนื่อยน้อยกว่าเดิน 
แต่ถ้าเคลื่อนที่ช้ากว่าค่านี้ เดินจะเหนื่อยน้อยกว่าวิ่ง 
โดยเฉลี่ยแล้วค่านั้นคือ 2.3 เมตรต่อวินาที หรือประมาณเพซ 7:14 นาที/กม. 
2) สมองคนเราจะเลือกทำสิ่งที่ประหยัดพลังงานที่สุด ในเงื่อนไขที่กำหนดให้ 
ดังนั้น ถ้ากำหนดว่าต้องเคลื่อนที่เร็วกว่า 7:14 นาที/กม. แน่นอนว่าทุกคนต้อง “วิ่ง” 
สรุปคือ ถ้าใครจบมาราธอนด้วย SUB 5 
แน่ใจได้เลยว่า เขาไม่ได้เดินยาวๆ แน่นอน 
...มาพิสูจน์ตัวเองกันมั้ย
#GarminBlueRun2019
#Sub1
#Sub5
#KeepRunning
#วิ่งลูกเดียวไม่มีเดิน
#ซับไฟว์ให้เด็กมันดู

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562

ทำไม วิตามินดี ดีต่อนักวิ่ง!

นักวิ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้นึกถึง ‘วิตามินดี’ (Vitamin D) แม้แต่ตัวผู้เขียน แต่การวิจัยในหลายครั้งบอกว่า วิตามินดี ส่งผลดีต่อนักวิ่ง ทั้งในแง่ ความทนทาน (Endurance) และการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ (Muscles Recovery) 


.
การวิจัยเกี่ยวกับวิตามินดีกับนักวิ่งอาสาสมัคร พบว่า วิตามินดีส่งผลดีต่อการเพิ่มขึ้นของระดับ VO2-Max หรือปริมาณออกซิเจนที่ร่างกายรับและใช้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะออกกำลังกาย ซึ่งมีผลต่อความฟิต นั่นแปลว่า หากร่างกายมีวิตามินดีสำรองอย่างเพียงพอก็จะดีต่อการวิ่งยาว หรือวิ่งระยะไกล
.
นักวิจัยให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า วิตามินดีมีผลดีต่อการฟื้นฟูตัวเองของกล้ามเนื้อที่รวดเร็วขึ้น ภายหลังจากซ้อมหรือลงสนามหนักๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดปัจจัยของการอักเสบต่างๆ ได้ดี นอกจากนี้ ผลวิจัยบางชิ้นยังกล่าวอีกว่าวิตามินดีช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่กล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นสำหรับการวิ่งด้วย
.
สำหรับแหล่งอาหารอันอุดมวิตามินดี อาทิ อาหารปลาจำพวก แซลมอน ทูน่า หรือซาดีน และจะให้ดีก็ต้องได้รับวิตามินดีควบคู่กับวิตามินเค และแคลเซียม สำหรับทำงานส่งเสริมกันเพื่อกระดูกของบรรดานักวิ่ง วิตามินเคอุดมในผักใบเขียวทั้งหลาย ส่วนแคลเซียมมีในเต้าหู้ด้วย แต่ถ้าจะเสริมวิตามินดีด้วยวิตามินสังเคราะห์ต้องระลึกว่า ปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต้องไม่เกิน 2,000 IU ต่อวัน ไม่อย่างนั้นจะเป็นผลเสีย
.
หากไม่ปลื้มปลา ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า แหล่งวิตามินดีที่น่าสนใจอีกแหล่ง คือ แสงแดดอ่อนๆ …เอ่อ ที่อาจหาได้จำกัดสักหน่อยในบ้านเรา 
ว่าแล้ว ขอกลับไปกินปลาแทน ^0^
.
.
วิ่งด้วยกัน
.
.
สุขภาพดีไปด้วยกัน
.
.
บทความนี้ อนุญาตให้แชร์ได้ตามสะดวก
.
.
#ThaiRun
|เพจแรกที่นักวิ่งเลือก 
Original post โดย #Nahmo_Life #ไทยรัน
อ้างอิง
https://www.runnersworld.com/…/the-nutrient-every-runner-n…/

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562

ยิ่งวิ่ง ยิ่งแย่ลง

นักวิ่งที่ถูกการขับเคี่ยวมาอย่างหนัก
มีการพัฒนาการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง
จนเกิดความคาดหวังในผลสำเร็จทั้งผู้ฝึกสอน 
และผู้คนรอบข้างจนทำให้นักวิ่งมีภาวะตึงเครียด
พะวงกับผลของการฝึกซ้อมในแต่ละคาบ แต่ละวัน
จะสร้างความกดดันให้เกิดขึ้นในตัวเอง
ตั้งเป้าให้การฝึกซ้อมต้องมีผลที่ดีขึ้นทุกๆวัน
แต่สภาพของร่างกายที่ถูกบีบเค้นให้ทำงานอย่างหนัก
เพื่อหวังผลที่เป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง
ย่อมมีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียต้องการพักฟื้นสภาพ
ทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อให้นักวิ่งได้ผ่อนคลาย
และมีเวลาเพียงพอทีจะปรับสภาพสร้างเสริม ชดเชย
ให้มีความพร้อมที่จะรับงานที่หนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ
กับช่วงเวลาของการฝึกซ้อมที่เหลืออยู่ก่อนการแข่งขัน
ตารางการฝึกซ้อมไม่มีสูตรสำเร็จ 
การนำตารางการฝึกซ้อมของนักวิ่งคนอื่นมาใช้
หรือการนำมาจากแหล่งอื่นใดก็ตาม 
ควรศึกษาถึงวัตถุประสงค์ของแบบฝึกนั้นๆว่า
จะส่งผลอย่างไรต่อผู้รับการฝึก 
เหมาะสมกับต้นทุนทางร่างกายที่มีอยู่ 
และแบบแผนดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในช่วงการฝึก
ที่เหมาะสมกับเวลาที่เหลือของเป้าหมายการวิ่งครั้งสำคัญ
ของเราหรือไม่ 
คาถาสั้นๆของครูดิน
อยากวิ่งดี วิ่งให้สนุก อย่าคาดหวังและกดดันตัวเอง
ครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี
4 มีนาคม 2562

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

นักวิ่งหน้าใหม่ ควรไปตรวจร่างกายก่อนออกวิ่งหรือไม่?

หากคุณเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ นอกจากการเลือกรองเท้าวิ่งดี ๆ ที่เหมาะกับเท้าของเราสักคู่แล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมร่างกายของเราด้วย อย่างพักผ่อนให้เพียงพอ หรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่เมื่อพูดถึงร่างกาย ก็มีคำถามโผล่มา “แล้วเราควรไปพบแพทย์ ตรวจร่างกาย เพื่อเช็คความพร้อมของร่างกายก่อนเราจะลงวิ่งหรือไม่?” 


คำตอบ คือ ควร เราควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ 
.
1. ไม่ได้ออกกำลังกายมาเป็นปี หรือมากกว่านั้น 
2. ปัจจุบันคุณไม่ได้ออกกำลังกาย และมีอายุมากกว่า 65 ปี
3. ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาโรคเกี่ยวกับหัวใจ
4. คุณกำลังตั้งครรภ์
5. คุณมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
6. คุณเคยสูบบุหรี่มาก่อน หรือปัจจุบันยังสูบอยู่
7. ความดันโลหิตสูง
8. เป็นโรคเบาหวาน
9. บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ
10. คุณมีอาการเจ็บหน้าอกในเวลาที่คุณออกกำลังกาย
11. คุณมีอาการเวียนหัว หรือเป็นลมบ่อย
12. คุณมีอาการป่วยอื่น ๆ 
.
แล้วจะไปพบแพทย์ ควรถามอะไรดี
แน่นอนว่าบางคนอาจจะมีคำถามต่าง ๆ นานา มากมาย แต่คำถามที่ควรจะยกไปปรึกษาแพทย์นั้น อย่างแรกเราควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงแผนการวิ่งของคุณ ว่าจะวิ่งอย่างไร ไกลแค่ไหน สม่ำเสมอขนาดไหน ฯลฯ เพื่อให้แพทย์ประเมินผล และช่วยวางแผน ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับตัวคุณ และยังรวมไปถึงคาดการณ์ปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย เราอาจจะถามในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายหลังจากที่เราเริ่มออกวิ่ง ทั้งอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นกับนักวิ่งทั่วไป หรือในกรณีที่คุณมีโรคประจำตัว ปัญหาสุขภาพ และเคยได้รับบาดเจ็บมาก่อน หรือยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถปรึกษาปัญหาเหล่านี้ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อแผนการวิ่งของเรามากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญ หากคุณเลือกที่จะใช้การวิ่งเป็นวิธีลดน้ำหนัก ก็ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน เหล่านี้เป็นคำถามสำคัญหลัก ๆ ที่เราควรถามเมื่อไปพบแพทย์
.
การไปตรวจร่างกายของคุณ นอกจากจะตรวจสุขภาพทั่วไปแล้ว ควรจะตรวจสมรรถภาพของหัวใจด้วย เพื่อดูว่าคุณมีปัญหา หรือความเสี่ยง หรือมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสัมพันธ์กับการออกกำลังกายหรือไม่
.
ทั้งนี้ถ้าหากคุณเริ่มวิ่งเป็นประจำแล้ว หรือวิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ควรไปพบแพทย์ ตรวจสุขภาพรายปี เพื่อดูผลว่าคุณนั้นมีสุขภาพที่ดี ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพอย่างอื่นตามมา 
.
.
#ThaiRun
| เพจแรกที่นักวิ่งเลือก 
เรื่องโดย: Kamonphan.C 
อ้างอิงจาก:
https://www.verywellfit.com/get-medical-clearance-for-runni…
http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-96

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

การบริจาคเลือด กับการออกกำลังกาย

ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าเลือดแล้วมนการออกกำลังกาย ไม่ต้องอะไรมากเลยค่ะ ง่ายๆเลย ยิ่งมีเลือดที่บรรจุออกซิเจนสูงส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากเท่าไหร่ เราก็ออกกำลังกายต่อไปได้นานเท่านั้น
.

การให้เลือดนี่เป็นการทำบุญที่บริสุทธิ์ประเสริฐมากนะคะ จะมีอะไรที่ดีไปกว่าการต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอีก เพราะเลือดสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ก็มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเวลาที่เราจะบริจาคเลือดด้วยนะคะ เราเลือกเวลาได้ค่ะ
.
เคยมีวิจัยออกมาเมื่อปี 2013 ที่ดูว่าการบริจาคเลือดมีผลต่อการออกกำลังกายแบบ endurance อย่างไร อาสาสมัครเป็นนักปั่นจักรยานนะคะ ปั่นบนเทรนเนอร์อยู่กับที่นะคะ และก็มาให้เลือด แล้วก็มาเทสต์ VO2 max ใน 2 วัน แล้วก็อีก 7 วันต่อมาหลังจากบริจาคเลือด 
.
การศึกษาครั้งนี้จะศึกษาในเรื่องระยะเวลาที่นักกีฬาจะเริ่มเหนื่อย และศึกษา VO2 max ปรากฎว่าหลังการให้เลือด ค่า VO2 max ตกลง 15% และระยะเวลาที่จะเริ่มเหนื่อยก็เหนื่อยเร็วขึ้น 19% หลังจาก 2 ชั่วโมงแรกที่ทดสอบ 
.
หลังจากนั้น 2 วัน และ 7 วัน ค่า VO2 max ก็ลดลง แค่ 7% จากก่อนบริจาคเลือดค่ะ และก็กลับมาเท่าเดิมหลังจาก 3 อาทิตย์หลังบริจาคเลือดค่ะ 
.
เกิดอะไรขึ้นหลังจากบริจาคเลือด
.
เวลาเราบริจาคเลือด เราจะเสียเม็ดเลือดแดงไป เซลล์ในไตก็จะเริ่มตระหนกว่า ออกซิเจนในเลือด เริ่มน้อยลงนะฮะ ซึ่งก็แหงสิ เราเสียเม็ดดลือดแดงไปนี่ ไตเราก็จะเริ่มปล่อยโปรตีนมาทางกระแสเลือดจนกระทั่งมาถึงไขกระดูก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อ ยืดหยุ่นที่พบได้ในกระดูกชั้นใน ทีนี้ไขกระดูกก็จะเริ่มผลิต stem cells 
.
Stem cells คือ เป็นเซลล์อ่อนที่ไม่มีหน้าที่ของเซลล์ที่เฉพาะเจาะจง สามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ และ พร้อมจะเจริญเติบโต เปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งที่เฉพาะเจาะจงได้ หรือกลายเป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อชนิดต่างๆในร่างกายได้
.
ในที่นี้จุดประสงค์คือเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ เกล็ดเลือด แต่ในกรณีนี้จะสั่งให้ผลิตเม็ดเลือดแดงมากกว่า จนกระทั่งครบประมาณ 2 ล้านเซลล์เท่าเดิม
.
ทำไมเม็ดเลือดแดงสำคัญ
.
สั้นๆเลย คือพี่เค้ามีหน้าที่บรรทุกออกซิเจนไปทั่วตัวอ่ะค่ะ ฮีโมโกลบินจะมีธาตุเหล็ก (ซึ่งก็เสียไปเวลาให้เลือด) พอเสียไปร่างกายเราจะไปเอาเหล็กในคลังของเรามาใช้ และร่างกายเราก็จะเริ่มเก็บสะสมเหล็กใหม่จากอาหารที่เรากิน(ผู้ชายส่วนใหญ่มีมากกว่าหญิงนะคะ)
.
พวกที่เป็น iron deficiency ก็จะมีฮีโมโกลบินน้อย พอแย่ลงมากๆเข้า ก็จะกลายเป็นโรค anaemia พอเป็นเราก็จะเหนื่อยง่าย การออกกำลังกายก็จะแย่ลงไปแน่นอน 
.
หลังบริจาคเลือด ระดับฮีโมโกลบินของคนส่วนใหญ่จะกลับมาเป็นระดับปกติหลังจาก 6-12 อาทิตย์ เราจะเหนื่อยจริงๆคือตอนอาทิตย์แรก และดีขึ้นมากหลังจาก 3 อาทิตย์ แต่ปกติจริงๆคือประมาณ 6 อาทิตย์ขึ้นไปนะคะ
.
6 อาทิตย์กับสมรรถภาพนักกีฬาที่สูญเสียไปเพื่อแลกกับชีวิตเพื่อนมนุษย์และบุญกุศลอีกมหาศาล คิดยังไงก็คุ้มค่ะ
.
Ref: Blood facts and statistics. (2016). The American National Red Cross. http://www.redcrossblood.org/…/blood-facts-and-statistics.c…
.
Why should I donate blood? (2016). World Health Organization. http://www.who.int/features/qa/61/en.
----------------
Chada Bowra, Level 3 Personal Training (YMCA)
(QCF) Diploma in (Advanced) Level 3 Personal Training (Gym-Based Exercise) (YMCA)
ENU (QCF) Nutrition for Exercise (YMCA)

วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2562

มันส์พะย่ะค่ะ new pb @korat powdurance marathon 2019 (มาราธอนลำดับที่ 9)

อากาศดีมาก ไม่คาดคิดว่าโคราชจะอากาศดีเพียงนี้ อีกทั้งไม่มีแสงแดด ความร้อนมารบกวนกายใจ
เส้นทางสวยงามมากใน มทส. เพลิดเพลิน จรรโลงใจ
วิ่งได้ดีตามแผน คือ ง่ายๆ วิ่งตาม โป่ง 4:30 พอผ่าน กม.38 ก็ฉีกหนี เข้าเส้นช้ยด้วยเวลา 4:26 ชม. เร็วกว่าที่ gc ระยองมาราธอน @บ้านเพ 3 นาที ขอขอบคุณทีม pacer 4:30 ด้วยครับที่พามาถึง 38k ประคบประหงม แนะนำ พูดคุย ให้กำลังใจ ที่ว่ามันส์ฯคือ พอฉีกหนี โป่งแล้วเร่งสปีดได้อีก 4 โลที่เหลือจน Heart rate ขึ้นไปโซน 3 ไม่มีอาการเจ็บ หรือตะคริว

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562

วิ่งแค่ 5 นาที ได้ผลดีเกินคาด

สวัสดี เซย์ไฮ เพื่อน ๆ วิ่งไหนดีทุกคนครับ วันนี้ทางเราก็มีเรื่องดีดีมาเล่าสู่กันฟังเช่นเคย
.

แน่นอนครับว่า “การวิ่ง” ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วก็ยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกเพียบ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกใช้การวิ่งนี่ล่ะครับเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี หรือจะลดน้ำหนักให้กับตัวเองก็มีเยอะ เพราะมันง่ายที่สุด แค่มีรองเท้าคู่เดียวก็สามารถไปวิ่งได้ทั่วจักรวาลแล้ว (ก็เว่อไป)
.
รู้หรือไม่ครับว่า..จริง ๆ การวิ่งเพียงแค่ 5-10 นาที ก็สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดได้ โดยมีการวิจัยจาก Duck-Chul D.C Lee ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว มหาวิทยาลัยไอโอวา มีการเก็บสถิติและใช้เวลาวิจัยนานกว่า 15 ปี (โอ้....นานจริง) ผลพบว่า..คนที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำเนี่ยจะมีอัตราความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคเรื้อรังอันตรายน้อยลงถึง 30% เลยครับ และยังมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายเลยตั้ง 3 ปี เลยนะ คิดเป็นการวิ่งทุก ๆ 1 ชั่วโมง จะต่อชีวิตได้ 7 ชั่วโมงเลยล่ะครับ
.
เอ๊ะ ! แล้วถ้าเทียบการวิ่งกับการออกกำลังกายประเภทอื่นล่ะ??? การศึกษาค้นคว้าในเรื่องมีการทดสอบโดยแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่มครับ
กลุ่ม 1 Inactive Non-Runners คือ กลุ่มคนที่ไม่วิ่งและไม่ออกกำลังกายอื่นด้วย (เกณฑ์ที่ใช้คือ 500 MET-min/week หรือเทียบเท่าการออกกำลังกายแบบหักโหมให้ได้อาทิตย์ละประมาณ 75 นาที ครับ)
กลุ่ม 2 Inactive Runners คือ กลุ่มคนที่วิ่งแต่ออกกำลังกายประเภทอื่นได้ไม่ถึง 500 MET-min/week
กลุ่ม 3 Active Non-Runners คือ กลุ่มคนที่ออกกำลังกายอื่น ๆ แต่ไม่ได้วิ่งเลย
กลุ่ม 4 Active Runners คือกลุ่มคนที่ทั้งวิ่งและออกกำลังกายอื่น ๆ ถึง 500 MET-min/week
.
และผลสรุปที่ออกมาก็แน่นอนครับ กลุ่มที่ 4 (ทั้งวิ่งและออกกำลังกายอื่น ๆ) มีแนวโน้มจะเสียชีวิตน้อยกว่าทุกกลุ่มเลย ถ้าเทียบกับกลุ่ม 1 ที่ไม่ได้วิ่งและไม่ได้ออกกำลังเลยเนี่ย มีแนวโน้มจะเสียชีวิตน้อยกว่าถึง 43% เลยล่ะครับ แต่ที่น่าสนใจคือการเทียบกลุ่ม 2 (วิ่งแต่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างอื่น) กับ กลุ่ม 3 (ออกกำลังกายอย่างอื่นแต่ไม่ได้วิ่ง) พบว่ากลุ่มที่วิ่งแต่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างอื่น (กลุ่ม 2) มีแนวโน้มเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างอื่นแต่ไม่ได้วิ่ง (กลุ่ม 3) ล่ะครับ (เทียบ 0.70 ในกลุ่ม 2 กับ 0.88 ในกลุ่ม 3)
.
นี่ก็คือผลวิจัยหนึ่งนะครับ แต่ก็ยังมีการถกเถียงผลการวิจัยกันอีกมากมายเกี่ยวกับการวิ่ง มีทั้งด้านดี และด้านลบ แต่ถึงอย่างไรก็เถอะครับที่แน่ ๆ การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อชีวิตและจิตใจเราแน่นอน
.
เห็นไหมครับว่าการวิ่งออกกำลังกาย หรือแม้การวิ่งเพียงแค่ 5 นาที ก็สามารถทำให้เพื่อน ๆ ห่างไกลกับโรคอันตรายที่เสี่ยงจะเสียชีวิตได้ ประโยชน์ที่ได้มันคุ้มค่าเกินเวลา 5 นาที จริง ๆ ไหนจะได้สุขภาพที่ดี เผาผลาญไขมัน บางคนจากที่อ้วนก็ผอมได้ด้วยการวิ่ง ยังไม่หมดเท่านั้น..การวิ่งเนี่ยยังส่งผลไปถึงการนอนหลับได้สบายขึ้นด้วยนะเออ
.
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่คิดอยากจะเริ่มวิ่งแต่ยังไม่ได้เริ่มสักที (เดี๋ยว ๆ อยู่นั่น) หรือคิดว่าจะวิ่งแค่ออกกำลังกายเบา ๆ ชิล ๆ ไม่ได้จะไปลงวิ่งแข่ง หรือทำเวลาอะไร การวิ่งเพียง 5 นาที ก็อาจจะตอบโจทย์นะครับ อยู่ที่ว่าเพื่อน ๆ จะเริ่มวันไหนเท่านั้นเอง แอดมินอยากให้ลองออกไปวิ่งดูครับ ไม่แน่นะหลังจากที่ได้ลองวิ่ง 5-10 นาที วิ่งไปวิ่งมาอาจจะติดใจหันไปวิ่งทำเวลา ล่าเก็บเหรียญก็เป็นได้
.
“สุขภาพดีไม่มีขายนะครับ อยากได้ต้องทำเอง” ☺️
#Wingnaidee
#วิ่งไหนดี

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562

ดีกว่าที่คิด ธรรมชาติช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังวิ่ง

เพื่อน ๆ รู้ไหมครับว่าธรรมชาตินอกจากจะสวยงามแล้ว ยังสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายของเราได้อีกด้วยนะครับ การได้ออกกำลังกายท่ามกลางธรรมชาติเป็นอะไรที่นักวิ่งชื่นชอบ แต่การได้พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติหลังวิ่งเสร็จนั้นก็เป็นอะไรที่ดีไม่น้อยเลยครับ เพราะมีงานวิจัยออกมาว่า การได้พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติหลังวิ่งเสร็จ 1 วัน ธรรมชาติจะช่วยเราลดโมเลกุลในร่างกายของเราที่ชื่อว่า Interleukin-6 (IL-6) โดยเจ้าโมเลกุลตัวนี้ส่งผลให้กล้ามเนื้อของเราเกิดอาการบาดเจ็บหรืออักเสบนั่นเองครับ 💚
.

โดย งานวิจัยของ University of California, Berkeley แนะนำว่าให้นักวิ่งทำการพักผ่อนด้วยการเดินเล่น หรือวิ่งเบา ๆ ในสถานที่ที่มีต้นไม้เยอะเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะในช่วงของพระอาทิตย์ตกดินหรือกำลังขึ้นก็ได้ครับ ธรรมชาติพวกนี้จะทำให้ร่างกายของเราฟื้นฟูจากการวิ่งได้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงแสงแดดอ่อน ๆ ก็ยังช่วยในเรื่องของการไหลเวียนของเลือด และการขับของเสียออกจากร่างกายด้วยครับ 😃
#Wingnaidee
#วิ่งไหนดี

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

รวมข่าววิ่งในฝุ่น

#รันนิ่งอินไซด์เดอร์ - - ตั้งใจทำโพสต์นี้รวมสถานการณ์
การวิ่ง การแข่งขัน ที่ผ่านมา เมื่อนักวิ่งหัวเมืองต่างๆ
พบกับ PM 2.5 อย่างที่พวกเราเจออยู่ขณะนี้ครับ
.

• กรุงนิวเดลี่ ประเทศอินเดีย มีงานวิ่ง Half Marathon
ระดับ Gold Lebel จาก IAAF งานนี้ดังครับในปี 2016
พี่เอเลียด คิปโชเก้ เคยไปวิ่งจนได้แชมป์มาแล้ว
• แต่ทุกปีที่จัดงาน กรุงนิวเดลี่ เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศไม่สู้ดีนัก 
นักวิ่งส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่อีกส่วนใหญ่ยังคงมาร่วมงาน
ในปี 2018 มีจำนวนนักวิ่งฮาล์ฟมากถึง 12,060 ราย รวมทั้งงาน
มากถึง 35,000 ราย ที่ออกมาใช้ชีวิตกลางฝุ่น บางส่วนใส่หน้ากาก 
• ความเห็นต่างที่สุดโต่ง บอกทำนองว่า นี่นายจ้ะ...การจัดงานวิ่งที่นี่
มีโทษต่อสุขภาพผู้ร่วมงาน ไม่เฉพาะวันงาน แต่ยังย้อนไปถึง
ตอนที่พวกเราต้องซ้อมเพื่อมาลงงานวิ่งงานนี้ รวมกองเชียร์และผู้จัดงานกลางแจ้ง ใครล่ะจะรับผิดชอบตรงนั้น ? แน่นอนว่าทุกปียังมีการเทงาน ดราม่าวนไป เป็น Mask Runner มันไม่สนุก 
• ปีนี้นิวเดลี่ ฮาล์ฟ ประกาศวันแข่งมาแล้วที่ 20 ตุลาคม 2019
พร้อมกันนั้น แต่ยังมีข่าวดีของนักวิ่งแดนภารตะอยู่บ้าง เพราะงานวิ่งมาราธอน
ที่รับสมัครนักวิ่ง 25,000 คน จัดที่เมืองมุมไบ ที่คุณภาพอากาศดี
• ย้อนไปที่ปักกิ่งในปี 2014 เกิดภาระฝุ่นและหมอกปกเมือง
เนื่องจากการเร่งก่อสร้างถนน อาคาร มีการใช้พลังงานถ่านหินเป็นพลังงานในภาคอุตสาหกรรม 
• งานวิ่งเมเจอร์ของประเทศอย่างปักกิ่งมาราธอนในปีนั้น ก็ต้องเจอกับ PM2.5
นักวิ่งใส่หน้ากากมางาน ต่อมารัฐบาลเค้าเอาจริงเอาจัง
เรื่องแก้ปัญหา ภาพในปี 2018 ที่ออกมา (เมื่อลองกูเกิลดู)
ไม่พบนักวิ่งใส่หน้ากากเหมือน 4 ปีก่อนล่ะ
• ตัดกลับไปที่ลอนดอน มาราธอน ครับ มีมาตรการเรื่องคุณภาพอากาศ
มีกลุ่มทำงานที่ชื่อว่า "London Air Quality Network" นำโดยมหาวิทยาลัย
Kings College มาทำงานสอดส่องดูแลเรื่องนี้ ด้าน Ecowatch ที่รายงานเรื่องนี้บอกว่า 95% ของประชากรทั่วโลก หายใจกับอากาศที่ไม่ปลอดภัย 
• ฝ่าย IAAF โดยผู้บริหารเซบาสเตียน โค มีแผนการทำงานระยะยาวร่วมกับ UN Environment หน่วยงานเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ
ในโครงการ ชื่อ #breathelife2030 เพื่อรณรงค์เรื่องอากาศสะอาดจากนี้ไปถึงปี 2030 ครับ
• คุณเซบาสเตียน มีความเห็นว่า "คุณภาพอากาศ คือ เรื่องของเดียวกับคุณภาพการแข่งขันและสุขภาพของนักกีฬา" งานนี้มี "พอลล่า แรดคลิฟฟ์" นักวิ่งอังกฤษเจ้าของสถิติโลกเป็นพรีเซนเตอร์ เธอพูดในวิดีโอว่า "พวกเราควรส่งต่ออากาศดี ให้ๆ กับนักวิ่งรุ่นถัดจากเรา"
• เธอเล่าว่า วันนี้มีคนราว 6% ของประชากรบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง อากาศมีผลต่อประสิทธิภาพการวิ่งและสุขภาพโดยตรง อยากชวนทุกคนมาร่วมกับฉัน เข้าไปดูได้ที่ http://breathelife2030.org/
• ก็นี่แหละครับ ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฝุ่นกับกีฬาวิ่ง เรื่องนี้ไม่เชิงเป็นเรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะในการเสนอและตัดสินรับเมืองใดเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เงื่อนไขด้านอากาศก็เป็นทรัพยากรที่ถูกในเกณฑ์การพิจารณาด้วย 

เรียบเรียงและรายงานโดย
Running Insider