วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ปีศาจ กม.35 vs ปีศาจสามโลแรก

นักวิ่งทุกคนคุ้นเคยกับปีศาจ 2 ตัวนี้เป็นอย่างดี
ทั้งคู่เป็นปีศาจน่ารัก ที่มักออกจะมาทักทายนักวิ่งแทบจะทุกคนในสายมาราธอน 
.
😁 #ปีศาจตัวแรก | ปีศาจ กม. 35 (KM35 Monster)
ปีศาจตัวนี้ตัวใหญ่มากกกกก 
มักจะยืนขวางถนนอยู่แถวๆ กม. 35 (บวกลบซัก 3 กม.)
นักวิ่งส่วนใหญ่เจอ คือนักวิ่งที่เพิ่งขยับจากระยะ Half ขึ้นมาเป็นระยะ Full Marathon หรือ คนที่วิ่ง Full แรกๆ
(รายงานจาก ปีปีซี และ ชีเอนเอน บอกว่า นักวิ่ง 5K, 10K หรือ 21K ยังไม่เคยมีใครเจอปีศาจตัวนี้)
.
มันดุมั้ย? ไม่ดุเลย มันเป็นมิตรมาก ใจดีแสรดด 
ถ้าใครเจอมัน มันมักจะชวนให้นั่งพักตลอดเลย 
เข้ามาชวนคุย กระซิบให้หัวเราเสมอๆว่า 
“พอแล้วพี่ พี่วิ่งมาไกลว่าวิ่ง Half มาตั้ง 10 กว่าโลแล้ว 
ยังเหลืออีกตั้งเกือบ 10 โลนะ กว่าจะถึงเส้นชัย 
- พักเหอะพี่ เชื่อผม”
.
นักวิ่งมาราธอนหน้าใหม่ มักจะเจอมันบ่อยๆ
ใครซ้อมไม่ถึง ก็มักจะเจอมันบ่อยๆ
มันยึดโลเคชั่นตรงนี้ เป็นจุดทำการตลอดเลย
จุดที่คุณวิ่งเลย 21K มาไกลพอสมควร 
แต่(แง่ง) ยังไม่ถึงเส้นชัยอีกเหรอวะ?
จุดตรงนี้ เป็นจุดที่คุณจะทั้งเหนื่อยทางกายและพร้อมจะยอมแพ้ทางใจ 
.
แถมด้วยว่า ถ้าใครวิ่งประมาณ เพซ 8 เพซ 9 มาถึงจุด KM35
รับรองว่า ณ จุดนี้คุณกำลังเจอแดดตอนเช้า เผากำลังดีเลย เกรียมได้ที่เลย
ปีศาจตัวนี้ เจอกันบ่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าจะผ่านไม่ได้ 
รออ่านโพสต์หน้านะ เรามีวิธีพิชิตมันมาฝากกัน
.
.
😁 #ปีศาจตัวที่สอง | ปีศาจสามโลแรก (3LoRak Monster)
ตัวนี้ตัวเล็กกว่าหน่อย และน่ารักขึ้เล่นซะกว่าตัวแรกอีก 
มันมักจะโผล่มา (แง่ง) เกือบทุกเช้าเลย
พอนาฬิกาปลุก 5:30 ดัง - มันก็มาละ เจ้าปีศาจ 3LoRak
.
“นอนอีกนิดเหอะพี่ เมื่อคืนพี่ทำงานเหนื่อย”
“พรุ่งนี้ก็ได้พี่ วิ่งอะ วันไหนก็ได้ วันนี้นอนก่อน”
.
นักวิ่งหน้าใหม่ เจอมันบ่อยมากกกก เจอเกือบทุกว้น
นักวิ่งหน้าเก่า เก๋าเกมส์ อย่างพี่นะ @naruphon ยังเอ่ยปาก
ว่าไอ้ตัวนี้แหล่ะ น่ากลัวที่สุด
ยากที่สุดที่จะผ่านมันไป
.
มันจะออกมาชักชวน เย้ายวน เชิญชวน 
ให้เรา #ไม่วิ่ง (แสรดดด)
ตัวนี้ที่ผ่านมันได้ยาก เพราะมันเป็นปีศาจที่มักจะโผล่ในใจ
มันไม่เกี่ยวกับความฟิต
มันไม่เกี่ยวกับประสบการณ์
มันไม่เกี่ยวกับคุณมีเวลาไม่มีเวลา 
แต่มันมักจะมาสะกิดที่ใจ 
มันรู้จุดอ่อนของแต่ละคนดี 
คุณอ่อนตรงไหนมันจะสะกิดตรงนั้น
คนชอบนอน มันชวนนอนต่อ
คนชอบกิน มันชวนไปกิน 
คนชอบท้อ มันชวนให้พอแล้ว
.
อย่าลืมนะ ตามกันไว้ 
โพสต์หน้า เรามีวิธีจัดการกับปีศาจสองตัวนี้มาฝากกัน 
(ที่ไม่ใช่ สูตร กดปุ่ม ซ้ายซ้ายขวาลงบนบนขึ้น เพื่อรับ item พิเศษ 
เพราะ #มาราธอนไม่มีทางลัด #อยากจบต้องซ้อม)
.
ชอบบทความนี้ เชิญแชร์ต่อได้ตามสบายเลยจ้า 😍
กด like กด share กด ment นะ
.
ปล. และมีของที่ระลึกหายากจากบูธ BMW ใน Tokyo Marathon มาแจกกันด้วยนะ ภาพและรายละเอียดอยู่ในเม้นต์จ้า (อันนี้ไม่ไช่จะได้มาง่ายๆ แอดต้องไปต่อแถวเพื่อเล่นปาจิงโกะในบูธบีเอ็มถึง 3 รอบ กว่าจะได้มา 5555 มันไม่มีค่าอะไรมากมาย แต่ได้มาด้วยความยากลำบากลำบน ใครอยากได้มาเล่นเกมส์กัน 😍)
.
ThaiRun
| เพจแรกที่นักวิ่งเลือก
.
Original Post โดย
เรื่อง : @HappyMonster
ภาพ : ถ่ายมาจากข้างร้านข้าวหน้าเนื้อ Sukiya
(แต่ใครจะตัดแปะไป repost ก็ได้นะ แต่ขอให้เครดิตกันด้วยนะ เราจะได้พัฒนาไปพร้อมๆกันนะ)

ที่มา : https://www.facebook.com/thaidotrun/photos/a.1694377410849702.1073741828.1658834907737286/2156334294654009/?type=3&theater

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จบการซ้อมวิ่งยาวเพื่อวังขนายมาราธอน 2018

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นการจบการซ้อมวิ่งยาว 35K เพื่อแข่งวิ่งรายการวังขนายมาราธอน ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ตอนเริ่มเหมือนจะสวย ตอนจบกลับย่ำแย่แต่ไม่มาก เวลาที่ทำได้ 10 รอบแรก ได้ 1:03 ชม. / 10 รอบสอง ได้ 1:07 ชม. และ 10 รอบสุดท้าย ได้ 1:13 ชม. ส่วนอีก 5 รอบได้ 41 นาที เวลาที่ทำได้ถืบว่าแย่กว่าการซ้อมวิ่งยาว 34K เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ตอนนั้นทำเวลา คือ 10 รอบแรก ได้ 1:07 ชม. / 10 รอบสอง ได้ 1:08 ชม. และ 10 รอบสุดท้าย ได้ 1:09 ชม. ส่วนอีก 4 รอบได้ 30 นาที

เทียบกันแล้วการซ้อม 35K ทำได้แย่กว่าเพราะ กินน้ำน้อยไปคือ 20K แรกกินน้ำไปแค่ 1.5 ลิตร พอรอบ 30+ มือเริ่มชา อีกอย่างคือนอนไม่เต็มที่ อีกอย่างคือ 10 รอบแรกเร่งไปนิด

สรุปว่าไม่เลวร้ายอะไรมาก ร่างกายปกติดี สามารถยืดเหยียดได้ครบ

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

การหายใจขณะวิ่ง

มีคำถามมามากมายว่า มีวิธีการหายใจอย่างไรขณะวิ่ง จริงๆแล้วการวิ่งดูเหมือนเป็นกีฬาง่ายๆ ใครๆก็ออกมาวิ่งได้ มีชุดวิ่งสบายๆ รองเท้าวิ่งสักคู่ ก็ออกไปวิ่งได้แล้ว แต่กีฬา ก็คือ กีฬา คนที่จะเล่นกีฬา ต้องเรียนรู้ศึกษาพื้นฐานของกีฬานั้นๆก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ และการฝึกที่ถูกวิธี จะมีความก้าวหน้าได้เร็วกว่าคนที่ไม่เรียนรู้พื้นฐานอะไรเลย

คนมักจะสงสัยกันว่า เราควรจะหายใจทางจมูก หรือปากขณะวิ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาก ขณะที่เราวิ่ง เราต้องการอ็อกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การหายใจทางจมูกเพียงลำพัง ไม่สามารถนำอ็อกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเพียงพอแน่นอน จมูกมันเล็ก ประสิทธิภาพในการดึงอ็อกซิเจน ก็เลยด้อยประสิทธิภาพในขณะวิ่ง เราจึงจำเป็นต้องใช้การหายใจทางปากช่วย นักวิ่งแถวหน้าจึงไม่ได้หายใจทางจมูกเพียงอย่างเดียว การไปกำหนดชัดเจนว่าต้องหายใจเข้ากี่ครั้ง หายใจออกกี่ครั้งขณะวิ่ง สาระพัดรูปแบบที่กูรูวงการวิ่งพยายามกำหนดไว้ ทำให้เราพะวงมากเกินไป สมาธิจะไม่อยู่กับตัว การวิ่งก็จะไม่มีประสิทธิภาพ เราเพียงแค่หายใจให้เป็นธรรมชาติเท่าที่ร่างกายต้องการทั้งปากและจมูก

ในกรณีนักวิ่งหน้าใหม่ ร่างกายของคุณจะปรับตัวเองว่าควรจะหายใจอย่างไร ผ่านประสบการณ์สักระยะ และการลองผิดลองถูกในช่วงต้นๆของการฝึกวิ่ง รวมทั้งการฝึกวิ่งด้วยเทคนิคต่างๆหลากหลายรูปแบบ ช่วงแรกๆจะรู้สึกว่าหายใจไม่ค่อยทัน นั่นเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังทำในสิ่งที่ร่างกายยังไม่คุ้นเคย และเกินกำลังตัวเอง ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเพิ่มระยะทางและเวลาในการวิ่ง สั่งสมความอึด และวิ่งให้เป็นประจำ พอวิ่งเป็นประจำและทำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน อาการหายใจไม่ทันก็จะค่อยๆหมดไป การเริ่มต้นฝึกอะไรใหม่มักจะยากเสมอ แต่สักพักมันก็จะผ่านไป

ถ้ารู้สึกคอแห้งผากขณะหายใจทางปากเวลาวิ่ง อาจเป็นเพราะคุณเกิดอาการขาดน้ำ ดังนั้นก่อนออกวิ่ง ต้องดื่มน้ำให้พอเพียง (ตรวจดูปัสสาวะว่าสีอ่อนหรือไม่ ถ้าสีเข้ม แสดงว่าขาดน้ำอย่างแรง) วิธีป้องกันคอแห้งผากขณะวิ่ง ก็มีหลายวิธี เช่น เคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะหมากฝรั่งจะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลาย หลั่งน้ำลายออกมา อมลูกอมได้ถ้าคุณไม่ชอบหมากฝรั่ง หรือหยุดดื่มน้ำให้เป็นเรื่องเป็นราวไปให้เป็นระยะๆอย่าให้ขาด ถ้าไม่ชอบเคี้ยวหรืออม ก็อาจใช้วิธีหายใจทางจมูกเวลาที่วิ่งเบาๆช้าๆแทน เพราะร่างกายต้องการอ็อกซิเจนไม่มาก แต่เวลาซ้อมหนัก ซ้อมยาว หรือเวลาแข่ง เราต้องการอ็อกซิเจนสูง ก็ต้องหายใจทางปากช่วยเยอะๆ .....สุคีริน ทวีสุข ทีมเวโลเช่

ที่มา : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10216485139670559&set=gm.947148448805347&type=3

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Pace อันตราย ?

คำฮิตของคนในวงการวิ่งรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่จะต้องกล่าวถึงเสมอเมื่อคุยกันถึงเรื่องวิ่ง 

แล้วอันตรายตรงไหน ? อันตรายเมื่อถูกนำมาใช้เพียงแค่ต้องการเปรียบเทียบบอกถึงระดับอัตราความเร็วในการวิ่งทุกๆวัน ทำให้อาจหลงประเด็นในการฝึกซ้อมในแต่ละวัน ที่จะมุ่งเน้นแต่การวิ่งให้เร็วขึ้นทุกๆวันตามอัตราของ pace เฉลี่ยในแต่ละครั้ง

pace ในความหมายของผู้ฝึกสอนที่จะต้องนำไปใช้ เป็นอัตราความเร็วเฉลี่ยของการวิ่งที่วัดค่าเป็นนาทีต่อหนึ่งกิโลเมตรหรือต่อหนึ่งไมล์

ที่มาจากระยะของการก้าว ความถี่ของการก้าว ระดับความพยายามในการวิ่ง เพื่อนำมาปรับปรุง วิเคราะห์ประเมินในการใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับต้นทุนที่มีอยู่หรือขีดความสามารถของนักวิ่งแต่ละคน สำหรับการฝึกซ้อมและแข่งขันที่มีระยะทางในการวิ่งต่อเนื่องมากกว่าหนึ่งกิโลเมตรขึ้นไป 

การใช้ pace เพื่อบ่งบอกระดับความเร็วในการวิ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะให้เรามองเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นในแต่ละครั้ง แต่ร่างกายของเรามีความสมบูรณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละวันตามปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเราก็ไม่สามารถที่จะวิ่งให้ดีขึ้นได้ทุกๆวัน 

เราจำเป็นต้องมีการฝึกซ้อมที่มีความหนักที่ส่งผลในการพัฒนาสลับกับวันที่ต้องฝึกซ้อมเบาลงและมีวันพักเพื่อฟื้นสภาพและปรับปรุง สร้างเสริมชดเชยหลังจากการฝึกซ้อมที่ต่อเนื่อง 3 – 6 วัน แล้วแต่โปรแกรมการฝึกซ้อมที่ได้วางแผนมา 

ดังนั้นการมุ่งหวังที่จะวิ่งให้ pace ดีขึ้นทุกๆวันจึงเป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับร่างกายของเรา ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีเวลาในการพักเพื่อให้ฟื้นสภาพ 

ในกรณีที่วิ่งในระยะทางที่เท่ากันหรือเพิ่มระยะทางที่มากขึ้นทุกๆวัน ที่ยังเห็นเสมอก็คือการนำ pace ไปประเมินการฝึกซ้อม interval ในระยะทางที่สั้นกว่า 1,000 เมตรหรือหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งจะมีการใช้ความเร็วแตกต่าง หลากหลายในแต่ละระยะทาง มีค่าระดับความหนัก ความเข้มข้น ความถี่ ปริมาณของรูปแบบการฝึกซ้อมตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการผล ที่จะได้รับจากการฝึกซ้อมในแต่ละครั้ง 

และไม่เหมือนกับการวิ่งทางไกลต่อเนื่องที่จะมีการควบคุมอัตราความเร็วในแต่ละกิโลเมตร เพื่อฝึกและควบคุมระดับการใช้พลังงาน 
จะทำให้การประเมินผลจากการซ้อมขาดประสิทธิภาพเร็วเกินไปร่างกายก็ช้ำ เบาเกินไปก็ไม่ส่งผลในการพัฒนาและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

การฝึกวิ่งให้ดีขึ้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวิ่งให้ pace ดีขึ้นทุกๆวัน ให้สังเกตร่างกายของตนเองด้วยว่า มีสัญญาณเตือนอะไรออกมาบ้าง 
ถ้าไม่พร้อมหรือไม่ปกติก็ควรที่จะพักหรือลดการฝึกซ้อมให้น้อยลงน่าจะดีกว่าที่เราจะฝืนวิ่งต่อไปจนถึงจุดที่ร่างกายรับไม่ไหวจะทำให้เกิดอาการท้อถอย เหนื่อยหน่ายและอาจทำให้มีอาการบาดเจ็บขึ้นได้ ในหนึ่งสัปดาห์หาวันวิ่งช้าๆ วิ่งให้นานขึ้นหรือวิ่งให้ไกลจากเดิมที่เคยวิ่ง วิ่งให้สนุก 
วิ่งให้เกิดสุขจะดีมากๆเลยครับ 
วิ่งช้าให้เป็น วิ่งดีขึ้นแน่นอนครับ

www.facebook.com/sathavornrunningclub
ครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี
18 กรกฎาคม 2561
#sathavornrunningclub
#newtonrunningthailand
#garminthailand
#dinsport
#wwwbervingcom
#วิ่งได้ไม่ใช่แค่ได้วิ่ง
#ครูดินชวนวิ่ง
#วิ่งสวยๆ
#บ้านวัดใจกับครูดิน

ที่มา : https://www.facebook.com/SathavornRunningClub/photos/a.278871682131353.77963.278844635467391/2001034626581708/?type=3

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ฟื้นสภาพหลังซ้อม

เรื่องโดย : โค้ชม๊อก Palat Poj

---------------------

เป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่ารู้เลยครับ สำหรับ Poses exercise recovery
การซ้อมอย่างสม่ำเสมอว่าสำคัญแล้ว แต่การรู้จักฟื้นฟู ระบบการซ่อมแซมของร่างกาย การหมั่นสังเกตตัวเองหลังจากซ้อมนับเป็นเรื่องที่นักวิ่งไม่ควรละเลย โค้ชม๊อกที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้นำข้อควรปฏิบัติมาฝาก และเพื่อไม่ได้ข้อเขียนยาวเกินไปเราจึงปรับให้อ่านกัน 2 ตอนครับ 

---------------------

✍️วันนี้มาแนะนำเรื่องเชยๆ

หลายๆคนอาจไม่ทันคิดระวัง วิ่งเพลินจนรองเท้าสึกไปหลายคู่แล้วอาจจะเพิ่งรู้ตัวว่าวิ่งใกล้โรงหมอเข้าไปทุกก้าวและห่างจากคำว่า '#พัฒนาการ' ออกไปทุกขณะ

อาการหลังวิ่งนั้นเป็นข้อบ่งชี้ชนิดหนึ่ง มันบอกแนวโน้มได้ทั้งอาการบาดเจ็บ การพักฟื้น ขอบเขตการพัฒนาและรวมไปถึงความทรุดโทรมของร่างกาย

เช่น หน่ายอาหาร เมื่อยขบตามต้นขา ปวดร้าวไปทั้งน่อง ตึงก้นจนนั่งพื้นแข็งไม่ได้ พอลงนั่งแล้วการลุกยืนเป็นเรื่องลำบากราวทำสควอทด้วยบาร์แขวนแผ่นน้ำหนักสี่สิบกิโลและรู้สึกว่าขาด้านชา ส่วนสีหน้านั้นเหมือนคนขาดความรัก 

🗣" เสียงกายคร่ำครวญไม่เคยดังกว่าเสียงสรรเสริญความเร็ว " 

เป็นธรรมดาเมื่อคุณวิ่งเร็วขึ้น เพื่อนมักชื่นชมอื้ออึง แต่น้อยคนที่จะถามถึงอาการเจ็บที่คุณประสบระหว่างซ้อม รู้ตัวอีกทีก็ตอนหยิบบัตรเครดิตออกมารูดชำระค่าหมอ ค่ายา อ้อ....!!!! เหมือนจะได้ยินเสียงกระเป๋าสตางค์ร้องไห้เบาๆด้วยนะ ฮ่าๆๆๆๆๆ 

แม้การซ้อมวิ่งจะเหนื่อยและหนักเพียงไหน แต่หากคุณรักษาสภาพการฟื้นตัวและกลับสู่วงจรซ้อมได้เร็ว การพัฒนาจะดีและเห็นผลได้ชัดขึ้นอีก การฟื้นสภาพให้ได้สัดส่วนต่อความหนักนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญที่ผู้ดูแลนักกีฬา (และตัวนักกีฬาเอง) ต้องคำนึงและปรับให้เหมาะสมกับการซ้อมอยู่เสมอๆ

🗣ในฐานะผู้ดูแลนักกีฬาคนหนึ่ง ด้านล่างคือคำแนะนำด้านเทคนิกเพิ่มจากการปล่อยให้ร่างกายพักฟื้นอย่างลำพัง 

เพราะบางครั้งคุณควรมีกตัญญูต่อตีนและขาของตัวเองบ้างถูกไหม...!!!

เบื้องต้นขออนุญาตแนะนำแค่ 4 ส่วนที่ง่ายมากๆและไม่สิ้นเปลือง (หมายถึงค่าใช้จ่ายและเวลา) แบบที่สามารถทำได้อย่างไม่พิถีพิถันแถมได้ผลรวดเร็วอย่างประหลาดใจเมื่อได้ทำในช่วงแรก 

เริ่มกันเลยดีกว่า

♦️1.Lifting Up
เชื่อไหมว่าแค่นอนยกขาหลังออกกำลังกายก็คลายเมื่อยล้าได้มาก เพียงหาที่สะอาดพอเหมาะแล้วนั่งหันหน้าเข้ากำแพง จากนั้นหงายหลังลงและยกขาวางตั้งพาดกำแพงไว้ให้ตั้งมุมฉาก ภาวะความเป็นกรดของเลือดจะได้รับการช่วยเหลือให้กลับไปฟอกที่ปอดได้ดีและสะดวกขึ้น ร่างกายจะผ่อนความตึงเครียดลงราวกับนอนฟังเลคเชอร์ยาวๆในคลาสที่น่าเบื่อหน่าย อิอิอิ ถ้านอนทำที่สนามซ้อมควรบอกให้เพื่อนปลุกด้วยนะ

*5-10นาทีก็เพียงพอ

*ง่ายและเหมาะกับเกือบทุกระดับ

♦️2.Cold Therapy
อันนี้ฟังแล้วน่าขนลุก ใช่แล้ว...มันคือการเอาความเย็นเข้าประโลมร่างกายจนแทบลืมความล้าหมดสิ้น(ชั่วคราว) การใช้ความเย็นฟอกตัวนั้นมีหลายระดับ แต่จะนำมาให้เลือกใช้แบบง่ายๆสไตล์ outdoor runner กันสักสามวิธี

✅_ผ้าชุบถังน้ำแข็งแล้วลูบไล้ (Ice Towel) ใช้ผ้าที่ชุบแล้วนำมาลูบไปตามตัวและซอกพับต่างๆของร่างกาย เพิ่มความสุขด้วยวิธีลดอุณหภูมิแบบง่ายๆแค่มีกระติกน้ำแข็งและผ้านุ่มๆสักผืนคอยชุบความเย็นให้ชื่นใจก็ลั้นลา

✅_อาบน้ำ (Shower) ขออนุญาตแจ้งไว้ให้ทราบกันก่อนว่าเป็น อาบแบบ Cold Therapy เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายและเร่งฟื้นสภาพเท่านั้น หากหวังให้สะอาดเกลี้ยงเกลาควรทิ้งระยะจากกิจกรรมออกกำลังราว40นาทีเป็นต้นไป สบู่จะหอมทนไปหลายชั่วโมง ขัดถูเบาๆด้วยใยสังเคราะห์เพิ่มและกระตุ้นการหมุนเวียนเลือด มันจะสบายกันก็ตรงนี้ ถ้าเห็นคนเดินออกจากห้องอาบน้ำทำหน้าฟินๆก็สิ้นสงสัยกันเสียที

✅_การแช่ถังน้ำผสมน้ำแข็ง (Ice Baths / Ice Pool) ส่วนมากกำหนดอุณหภูมิคร่าวๆไว้14-17 C° (สัมผัสเหมือนน้ำในช่องตู้เย็นปกติและไม่ควรต่ำกว่า 12 C°เพราะจะทำอันตรายต่อระบบประสาท) วิธีการค่อนข้างยุ่งยากสักหน่อย หาถังหรือกะละมังขนาดใหญ่แล้วนำน้ำผสมน้ำแข็งให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการ ก่อนนำร่างลงไปแช่

*ข้อระวังของการใช้วิธีฟื้นสภาพด้วยความเย็นแบบ Ice Baths / Ice Pool

❌___ไม่ควรแช่นานเกิน 10-15 นาที 
☣️ ___ผู้ที่มีบาดแผลและบุคลที่มีความเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์ เช่นมีภาวะด้านหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้มีปัญหาด้านอาการปรับสมดุลอุณหภูมิร่างกาย

--------------------

👨🏻‍💼โปรโมชั่น ::: นับเป็นข่าวดีของลูกเพจไทยรันอย่างไม่เคยมีมาก่อนสำหรับคนไม่อยากอ่านอะไรยาวเกินไป 
.
เนื้อหาที่ยาวและต้องอ่านในคราวเดียวไม่ต่างจากเอาบอระเพ็ดมาเจือใส่น้ำหวาน ขมและพะอืดพะอม มันเป็นครั้งแรกผมรู้สึกตัวว่าเขียนบางเรื่องไว้อ่านยากและควรแบ่งเป็นสองตอนเพื่อให้เพื่อนนักวิ่งย่อยสลายดูดซึมได้ถนัดกว่าเดิม

::: โปรดติดตามตอนต่อไป ::: 😘

(ในวันพรุ่งนี้ 22 กรกฏาคม 2018 16:00 น.) 


ThaiRun ฮับความสุขนักวิ่ง
22 กรกฎาคม 2018  · 
ฟื้นสภาพหลังซ้อม ตอนที่ 2
เรื่องโดย : โค้ชม๊อก Palat Poj
---------------------
เป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่ารู้เลยครับ สำหรับ Poses exercise recovery
การซ้อมอย่างสม่ำเสมอว่าสำคัญแล้ว แต่การรู้จักฟื้นฟู ระบบการซ่อมแซมของร่างกาย การหมั่นสังเกตตัวเองหลังจากซ้อมนับเป็นเรื่องที่นักวิ่งไม่ควรละเลย โค้ชม๊อกที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้นำข้อควรปฏิบัติมาฝาก
👉 ย้อนอ่านตอนที่ 1 | https://bit.ly/2NzY4vj
---------------------
✍️ ในความเหนื่อยริมสนามซ้อมนั้นมีความหวังของนักวิ่งอยู่รำไรว่าพรุ่งนี้เราจะวิ่งได้เร็วกว่าเดิม 
แต่ความห่อเหี่ยวหลังออกกำลังกายจัดเป็นความขมขื่นประการหนึ่งและควรบำบัดมันเพื่อคืนความคึกคักให้แข้งขาหรือจะสูงกว่าแค่ขาขึ้นไป... (หมายถึงช่วงลำตัวและหลังอ่ะนะ) นับเป็นอานิสงฆ์แก่ร่างกายเรา ไม่ว่าจะอยู่ในทะเลระทมขนาดไหนก็ตาม ผมขออนุญาตแนะนำว่าคุณควรจะ 'กิน'
♦️3.Energy Feeding
เราทราบดีว่าหลังออกกำลังหนักกล้ามเนื้อจะเสียหายหลายส่วน หัวใจอ่อนแรง ภูมิตกและเสียสมดุลแร่ธาตุ ในวิกฤตนั้นกลับยังมีข้อดีอยู่บ้าง ผมขอแจ้งให้ทราบว่าอัตราการดูดซึมอาหาร ( Metabolic ) นั้นอาจสูงถึง 3 เท่าในช่วงเวลา 90 นาที หลังจากที่พวกคุณวิ่งซ้อมเสร็จ และมันคือจังหวะดีมากๆหากเราจะเพียงส่งอาหารเข้าไปให้มันดูดซึมอย่างมีกำไรกว่าเวลาปกติ การปล่อยโอกาสซ่อมแซมร่างกายหลังการวิ่งให้หายไปจัดเป็นอนันตริยกรรมขนาดหนักในระดับที่นักวิ่งชั้นดีไม่ควรทำกัน
🍚 ตัวเลข 3:1 คือสัดส่วนของแป้งและโปรตีนที่แนะนำ เพื่อลดการเสียมวลกระดูกและเร่งคืนสภาพกล้ามเนื้อให้สด ฟู พร้อมเด้งรับความทรมานของโปรแกรมซ้อมต่อไป
อ่านแล้วอาจไม่เหมาะกับนักวิ่งที่กังวลตัวเลขบนเครื่องชั่งน้ำหนักน้ำหนักมากกว่าตัวเลขสถิติแข่งขัน แต่สาย '#ขาแรง' ที่เน้นลดเวลาบนหน้าปัดในการแข่งลงจะลดความเสี่ยงด้านอาการเจ็บที่กระดูกหน้าแข้งได้ดีขึ้นและเพิ่มโอกาสซ้อมความเร็วได้สนุกกว่าเดิม
🍞 ของกินสะดวกปากที่แนะนำกันง่ายๆหลังวิ่ง (สำหรับคนไม่ทำอาหารและซื้อหาง่าย) แซนด์วิชแฮมชีสสักสองชิ้น ข้าวเหนียวหมูปิ้ง โจ๊กร้อนๆที่แทบจะขายกันทุกมุมถนน จะต้มไข่ไปกินข้างสนามก็เหมาะดี พัฒนาเมนูที่หลากหลายขึ้นก็ทำตามสะดวก
📕 อ้างอิงมาจากเพจคุณหมอแป๊บตามไปอ่านได้ครับ แอดมินหล่อ น่ารัก https://www.facebook.com/272454926268215/posts/881614058685629/
ถนนของการวิ่งมันเจ็บปวด เราต่างคิดหัวแทบแตกว่าจะกวดตีนให้มันเร็วไปกว่าเดิมได้ยังไงด้วยแรงผลักดันของการซ้อมให้หนักหน่วงกว่าวันก่อน เร็วกว่าวันวาน และยาวนานกว่าวันที่ผ่านมา วันที่ลืมตาตื่นขึ้นมาพร้อมกับความเมื่อยขบจากท้ายทอยจรดบั้นเอว ความล้าตรึงร่างกายไว้บนที่นอนนุ่มอุ่นอย่างแดดที่ยอบผ่านม่านหน้าต่างกลางฤดูหนาว แม้อาหารมื้อเช้าที่วางเรียบร้อยอยู่บนโต๊ะจะถูกปากแค่ไหนก็ดึงคุณขึ้นไปจากอารมณ์จมจ่อมไม่ได้
.
นั่นคือสัญญาณฟื้นสภาพที่ย่ำแย่และเป็นทางเดินสู่หายนะทางการกีฬาที่เราเรียกว่าโอเวอร์เทรนนิ่ง (Overtrainning) จนนำไปสู่สภาพทรุดโทรมและบาดเจ็บในบั้นปลาย 
.
นักวิ่งอย่างเราจึงควรพิถีพิถันในอาหารการกิน ไม่ต้องถึงขนาดแก้ว ชาม ช้อนทำจากทองหรือผ้าปูโต๊ะขลิบลายดิ้นทอง แต่มองถึงคุณค่าและสัดส่วนที่พอดีกับการฟื้นสภาพ ซ่อมแซมและให้พลังงานที่ดีก็เพียงพอแล้ว
ขอโทษ!!! เกือบลืมไปเลยว่ายังค้างอีกหัวข้อนึง 😘
♦️4.Compression
การบีบนวดให้ผลด้านการหมุนเวียนเลือดเพื่อฟอกสะอาด ลดภาวะการเป็นกรดของกระแสเลือดหลังการซ้อมได้ดีและช่วยนำสารอาหารกลับเข้าไปซ่อมแซมกล้ามเนื้อมากขึ้นกว่ายืนหรือนั่งเล่นโทรศัพท์เฉยๆ
นวดด้วยมือนี่ง่ายดายเหลือจะกล่าว ในสาระบบของหัวข้อนี้การนวดนั้นทำได้ง่ายและให้ผลที่คุ้มค่า การบีบนวดขั้นต้นด้วยมือเปล่าทำได้เกือบทุกส่วนที่มือเข้าถึง ส่วนที่เข้าไม่ถึงนั้นผมขอแนะนำอุปกรณ์นวดที่เรียกว่า 'โฟม โรลเลอร์' (Foam Roller) มันจะทำหน้าที่กดคลึงเมื่อคุณเคลื่อนไหวไหลไปตามขอบข้างจากการกดน้ำหนักตัวบนกระเปาะที่เกือบแข็งของมัน เดินเปลือยตีนบนพื้นดินหน้าบ้านสลับกับพื้นหญ้า(ถ้ามี)ก็จัดเป็นการบีบนวดที่ผ่อนคลายตึงล้าได้มาก หรือจะเดินสบายๆเข้าร้านนวดเพื่อสุขภาพต่อเลยก็ตรงประเด็นความผ่อนคลาย
🕺หลังการบดขยี้ร่างกายด้วยความหวังว่าจะเร็วขึ้นในวันหน้า หากคุณมีคำถามบางอย่างผุดขึ้นมาบนหัวว่าเราจะฟื้นสภาพมันอย่างไร?
แปลว่าคุณเริ่มบรรลุสู่ 'นักวิ่งคุณภาพ' แล้ว 😘
สวัสดี และ ขอบคุณครับ 
_________________________________________________
©Original Post #ThaiRun 
22 กรกฏาคม 2018
📮Like & Share โพสต์นี้แทนการให้กำลังใจ
ทีมงานน้าาาคร้าบบบ  
___________________________

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Spin Sprint นักวิ่งสายอินเตอร์ กับ จูลี่ สาวหุ่นดี เซ็กซี่ถึงต่างแดน

สองปีแล้วที่การวิ่งได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอกับ จูลี่ จิตราพรรณ ใหม่ซ้อน สาวนักวิ่งสายแกร่ง แถมด้วยบอดี้สุดเฟิร์ม ทั้งวิ่ง ทั้งว่ายน้ำ พร้อมประสบการณ์ตะลุยวิ่งมาราธอนต่างประเทศ อย่าเสียเวลาไปรู้จักกับเธอกันเลยนักวิ่งสายอินเตอร์ กับ จูลี่ สาวหุ่นดี เซ็กซี่ถึงต่างแดน

แนะนำตัว
ชื่อจูลี่นะคะ จิตราพรรณ ใหม่ซ้อน สูง 167 เซนติเมตร น้ำหนัก 48 กิโลกรัม สัดส่วนอยู่ที่ 32-24-35 ปัจจุบันทำงานของตัวเอง ทำแบรด์เสื้อผ้าค่ะ

จุดเริ่มต้นของการวิ่ง
จริงๆ เริ่มต้นจากเพื่อนค่ะ เพื่อนชวนวิ่ง Fun run 5 กิโลค่ะ แล้วหลังจากนั้นก็วิ่งไม่หยุดเลย วิ่งมา 2 ปีแล้ว ก็เพื่อสุขภาพด้วย มันท้าทายตัวเองดีค่ะ

เสน่ห์ของการวิ่งคืออะไร 
การเอาชนะตัวเองค่ะ เพราะทุกครั้งที่เราเพิ่มระยะวิ่ง มันเป็นเหมือนการท้าทายตัวเอง แล้วการที่เราจะวิ่งได้ระยะแบบนั้นเนี่ย มันต้องถูกฝึก และผ่านการซ้อมอย่างสม่ำเสมอมากๆ ค่ะ พอทำซ้ำ ทำบ่อยเข้าทุกวันมันก็ทำให้จูลี่หลงรักการวิ่งโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวเลยค่ะ แถมสังคมเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ นักวิ่งน่ารักค่ะ คอยช่วยเหลือกัน เวลามีคำถามเรื่องการออกกำลังกาย หรือเรื่องวิ่งปรึกษาได้หมดค่ะ ช่วยกันป้ายยา ป้ายยาหาคนมาซื้อของ(หัวเราะ) โดยเฉพาะตอนที่เราไปวิ่งต่างประเทศ ตอนนั้นไปญี่ปุ่น บรรยากาศแบบวิวหลักล้านมาก คือเป็นงานชื่อว่า Fujisan marathon คือเป็นการวิ่งรอบภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งปกติเราเดินไป เราขับรถไปค่ะ มันก็คือสวยที่สุดอยู่แล้วเรามองด้วยตา แต่วันนั้น 42 กิโล เป็นการวิ่งรอบภูเขาไฟทะเลสาบ ผ่านถ้ำ มันสวยมาก แล้วก็เป็นวิ่งหน้าหนาว มันอาจจะหนาว แต่ว่าวิวมันคือ ทุกวันนี้ก็ยังจำได้ทุกรายละเอียด ไม่ได้ถ่ายรูปตอนวิ่งนะคะ แต่ว่าจำได้ทุกรายละเอียดว่ามันสวยงามแค่ไหน ปีนี้ก็เลยไปเบอร์ลินมาราธอนที่เยอรมันกำลังจะไปค่ะ

พูดถึงอุปกรณ์ที่พี่จูลี่ใช้ในการวิ่งหน่อยครับ
ก็ชุดออกกำลังกายปกติค่ะ ก็จะเป็นชุดของแบรนด์ CW-X ค่ะ รองเท้าก็จะเป็นของ Asics ค่ะ ที่เลือกแบรนด์นี้เพราะเท่าที่ลองมาหลายยี่ห้อ แบรนด์นี้มันเหมาะสมกับตัวเองด้วย คือแต่ละแบรนด์ ก็จะเหมาะกับแต่ละคนค่ะ แต่ asics ที่เลือกมาแล้ว ก็คือแบรนด์ที่ตัวเองมั่นใจค่ะ วิ่งแล้วโอเคค่ะ

พูดถึงเรื่องการฝึกซ้อมและเส้นทางที่ใช้ซ้อมเป็นประจำหน่อยครับ
ตอนนี้ก็คือซ้อมอาทิตย์ละ 3 วันค่ะ แต่เป็นแบบเข้มข้นเลยนะคะ เพราะมีแพลนเตรียมจะวิ่งฟูลมาราธอนเดือนกันยายนนี้ ที่เหลือก็เป็นว่ายน้ำ แล้วก็เข้าฟิตเนสเพื่อเวทเทรนนิ่งให้แกนกลางร่างกายและขาเราแข็งแรง เพื่อที่จะได้วิ่งได้ดีขึ้น เส้นทางที่วิ่งประจำก็แน่นอนค่ะ คือสวนลุมฯ เพราะว่าก็เจอเพื่อนๆ น้องๆ อะไรอย่างนี้เยอะ คุ้นเคยกัน

สิ่งที่ได้รับ
คือการวิ่ง จูลี่ว่ามันเหมือนมันเป็นการบอกรักตัวเองค่ะ เรื่องสุขภาพเราคงไม่ต้องพูดถึงกันมากหรอกเนอะ เพราะว่าคนรู้อยู่แล้วว่าการออกกำลังกายทำให้สุขภาพดี แต่สิ่งที่มันมากขึ้นคือเรื่องของวินัย แทนที่เราจะนอนอยู่บ้านเฉยๆ สู้เรามาวิ่ง มาออกกำลังกายหรือทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ร่างกายเราแข็งแรง แล้วเรามีสังคมใหม่ๆ ดีกว่าเนอะ จูลี่เป็นกำลังใจให้ทุกคนน้า

ที่มา : https://men.mthai.com/rushmag/variety/179406.html

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

TNT vs KPTC


มีเพื่อนบอกมาว่า...

พอดีเพื่อนของเพื่อน ที่ผ่านเขาประทับช้างมา กำลังฮึกเหิม เบนเข็มสู่เทรลพี่ใหญ่ ตะนาวศรีเทรล

อยากได้ภาพให้เพื่อนดูชัดๆ 

จัดไปครับ!!!

30k เขาประทับช้าง vs 30 k ตะนาวศรี

ภาพนี้น่าจะ on scale ด้านความสูงพอประมาณ

พอดีเลย เพราะ เฮียช่อ เคยสั่งไว้ว่า
"ลุง!! ช่วยกันตีปี้บด้วย ตอนเปิดรับตะนาวฯ ให้นักวิ่งเตรียมตัวมาให้ดี อย่าป้ายยากันมา !!"

เทียบดูละกันนะครับ นึกภาพตาม ว่าต้องเจอกับอะไร

ซ้อมยังไง?

ตามไปที่เพจเฮียช่อครับ https://www.facebook.com/ChorXChorX/ บอกวิธีการซัอมไว้เสร็จสรรพ

จะเทรนกับค่ายเหวี่ยงตุ้มเม้ง ของโค้ชตัวโน๊ต

หรือจะไป Tanaosri Hill Repeat 10 HR ซึ่งคงมีอีกรอบก่อนวันตะนาวศรีเทรล(มั้ง)

หรือจะวิ่งขึ้นสะพานลอย อัฒจันทร์กันเป็นร้อยเป็นพันรอบ ก็เอาที่ถนัด

#แต่ต้องซ้อมไป ยืนยันเสียงเข้ม

ซ้อมให้เยอะๆด้วย

มีอยู่ไม่กี่เทรลครับ ที่ dnf แล้ว ต้องตะกายออกจากป่าด้วยตัวเอง ซึ่งไม่สนุกแม้แต่น้อย
นอกจากค่ายพี่หมี TET

ก็บอสใหญ่ป่าตะวันตก 

ตะนาวศรีเทรลนี่ล่ะ

.
.
แอดลุงเบนซ์

ที่มา : https://www.facebook.com/dnfsix/

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

4 สัญญาณที่ร่างกายฟ้องว่าคุณซ้อมหนักเกินไป

1. น้ำหนักตัวลด
ถ้าน้ำหนักตัวคุณลดลงจากเมื่อวาน หลังออกกำลังกายหนักๆ มาราวๆ 2% นั้นคาดว่าคุณอาจไม่ได้คืนน้ำให้ร่างกายมากพอจากที่เสียไป ทำให้เกิดสภาวะร่างกายขาดน้ำ อาจเกิดได้จากการที่คุณซ้อมหนักจนใช้น้ำในร่างกายจนไม่เหลือนั่นเอง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทั้งระบบร่างกายและสภาพจิตใจ คุณจะเห็นได้ทันทีในการฝึกซ้อมครั้งต่อไป เพราะประสิทธิภาพคุณจะดรอปลงแน่นอน

2. นอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ
ถ้าเราซ้อมหนักไปจนทำให้ระบบร่างกายและการเต้นของหัวใจรวนจนทำให้นอนไม่หลับ ก็ต้องหยุดพักการซ้อมก่อน เพราะมันส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่เลย

3. เจ็บปวดกล้ามเนื้อ
การรู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกายมาหนักๆ นั้นคงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกายมากนัก แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจนร่างกายอยู่ตัวแล้ว การมารู้สึกปวดกล้ามเนื้อขึ้นมาเฉยๆ นั่นหมายความว่าคุณกำลังซ้อมหนักกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อรู้สึกปวดกล้ามเนื้อหรือบาดเจ็บ ร่างกายจะต้องการพลังงานมากกว่าปกติเพื่อนำไปซ่อมแซมจุดที่ปวดหรือบาดเจ็บ ดังนั้นไม่ควรฝืนซ้อมต่อไป ให้พักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายก่อน

4. ประสิทธิภาพการฝึกซ้อมลดลง
ถ้าหากคุณรู้สึกว่ายิ่งซ้อมทำไมสมรรถภาพของคุณยิ่งถดถอยลง ไม่เหมือนช่วงแรกที่ฝึกและผลงานดีขึ้นต่อเนื่อง คำตอบง่ายๆ เลยนั่นก็คือสัญญาณที่ร่างกายส่งออกมาว่าคุณซ้อมหนักเกินไป ให้ปรับโปรแกรมฝึกซ้อมให้น้อยลง พักผ่อนให้มากขึ้นสักระยะ แล้วผลงานในการซ้อมของคุณจะกลับมาดีดังเดิม

cr. goodsportsthailand.com
กดติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่
Instagram: @thenorthfacethailand
ลงทะเบียนรับอีเมล์ข่าวจาก The North Face Thailand
อัพเดทสินค้าใหม่ และโปรโมชั่นพิเศษก่อนใคร
http://eepurl.com/cFzWO1

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

นักวิ่งวัยรุ่นปะทะวัยเก๋า

แอดอยากให้อ่านเรื่องนี้ครับ เป็นคำตอบว่า เหตุใดเราจึงถูกนักวิ่งรุ่นคุณลุง-คุณป้า แซงหน้าไปบ่อยๆ แถมพวกเขายังวิ่งได้นิ่ง วิ่งได้ดี เป็นขาแรงด้วย ? นั่นซิเพราะอะไร
...
📝 
... 
นักวิ่งวัยรุ่นมามุงกันตรงนี้...เคยนั่งมองเหรียญแบบงง-งง
หลังจากเข้าเส้นชัยตามผู้สูงอายุกันไหมครับ?
.
นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญนักวิ่งวัยหนุ่มสาวอย่างพวกเรามาก 
ความเยาว์นั้นมีพลังมหาศาลจากการเติบโตอย่างเต็มที่ 
กล้ามเนื้อรับการบำเรออย่างดี 
ขาและแขนสับลงพื้นอย่างมั่นใจ ในความแข็งแรงจนทึกทักเองได้ว่าผลงานในสนามวิ่งจะดีกว่าใคร กลับต้องมาแพ้ให้เหล่าคนสูงวัยที่มีความเสื่อมถอยร่างกายต่างจากเรา 
.
และบางคนนั้นเศร้าหนักมากเพราะโดนลุงหรือป้าปาดที่หน้าเส้นทั้งที่เร่งความเร็วจนหัวใจแทบกระเด็นออกจากปากก็ตาม
มันไม่ใช่ความผิดของใครเลย
หากได้ล่วงรู้เกร็ดความได้เปรียบของนักวิ่ง 'วัยเก๋า' เหล่านั้น................
.
👱🏼 👴🏼 👵🏼
คุณรู้ไหมว่าในประเทศไทยกำหนดให้ผู้สูงวัยทางการกีฬามีอายุเกิน 35 ปี สำหรับการวิ่งระยะไกล มีนักวิ่งระดับแถวหน้าของประเทศหลายคนเชียวนะ 'ต่าย' บุญถึง ศรีสังข์ 'ตี๋' สุทัศน์ กัลยาณกิติ 'เดี่ยว' ปฏิการ เพชรศรีชา ฝ่ายผู้หญิงนำทีมโดย 'ฝน' ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ 'ติ๋ม' ธณภรณ์ อัศววงศ์เจริญ นี่ผ่านเลขอายุ 35 มาหลายปีแล้ว ส่วนรุ่นใหญ่เก๋ามากอย่าง 'วุธ' ศราวุธ งามศรี 'โด่ง' ไพชยนต์ เจนช่าง ก็อายุใกล้เลข 50 เต็มที แต่ผลงานมาราธอนเวลาต่ำกว่า 2:50 ชั่วโมงกันทั้งนั้น จัดเป็นผู้สูงอายุคุณภาพดีในสังคมนักวิ่งถนน
.
วันนี้ขออนุญาตมาเขียนข้อได้เปรียบของนักวิ่งสูงวัยสักคราว เผื่อให้หนุ่มสาวนำไปใช้บ้าง ลบความตะขิดตะขวงในใจและพร้อมแก้มือ(หรือตีน)ให้ดีขึ้นในสนามหน้าเพราะในความได้เปรียบของอายุ ถึงชนะไม่ได้ก็ขอให้ระยะทางที่แพ้คนแก่นั้นน้อยลงไปบ้างก็ยังดี(วะ)* วงเวียนชีวิตการซ้อม 
🔹Lifestyle Balance 
งานและความรับผิดชอบมันจะมากขึ้นตามอายุงาน เราพบว่านักวิ่งดีๆอายุมากนั้นแบ่งชีวิตค่อนข้างชัดเจนว่า ซ้อมช่วงไหนอย่างไรเช้าหรือเย็น และให้คุณค่าของการ 'พักผ่อน' เต็มที่กว่าผู้เยาว์ การจัดเวลาซ้อมชัดเจนช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านอื่นให้สอดคล้องกันมากขึ้น แน่นอนว่าประสิทธิภาพการวิ่งย่อมดีขึ้นด้วย
🔹Nutrition
เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเมื่อบรรดานักวิ่งวัยรุ่นอาจสนใจคุณภาพการกินเพียงอิ่มท้อง แต่นักวิ่ง 'วัยซิ่ง' ของเราไม่ใช่ กฎเกณฑ์ด้านอาหารของพวกเขานั้นเข้าใจแหล่งพลังงานสำหรับชีวิตการวิ่งเสมอ ตระหนักถึงประโยชน์และปริมาณที่เหมาะสมที่นักวิ่งรุ่นหลังอย่างเราต้องทบทวนตัวเองอย่างเศร้าๆเมื่อนึกถึงการหักใจหันหลังจากตู้กระจกแช่เค้กหน้ามะพร้าวอ่อน หรือปฏิเสธ เฟร้นช์ฟรายห่อเบ้อเริ่มที่แฟนซื้อติดมือกลับมาจากห้าง ฮือๆๆๆ
🔹Year Plan in Race 
คุณจะทึ่งแน่ๆเมื่อเดินไปถามเรื่องการวิ่งแข่งในสนามหน้าแล้วพบว่า 'วัยเก๋า' เหล่านั้นสามารถบรรยายตารางแข่งและไล่เรียงสนามวิ่งได้ยาวเฟื้อยจนจบปีพร้อมอวดใบเสร็จชำระเงินล่วงหน้าของสนามที่จ่ายไปแล้วจนคุณต้องอิจฉาเพราะสมัครไม่ทัน สมัยนี้ไม่ต้องห่วงว่าเขาสมัครออนไลน์ไม่ถนัด เพราะลูกหลานแกเตรียมสนามให้เรียบร้อย บางรายเตรียมแพกเกจทัวร์ต่อด้วยซ้ำไป ฮ่าๆๆๆๆๆๆ **การเตรียมตัวแข่ง
🔹Set Target 
ความเก๋าช่วยให้ประเมินแรงได้สัมพันธ์กับระยะทางบนเส้นทางที่อาจไม่เรียบนัก เนินขึ้นลงหรือแม้แต่แรงลมของสนามริมทะเลนั้นมีผลกับประสิทธิภาพการออกแรงเสมอ และแน่นอนว่าพวกเขาชำนาญกว่า ซึ่งความลับก็ไม่ซับซ้อนอะไร ก่อนแข่งท่านผู้อาวุโสมักจะยกทีมไปถึงสนามล่วงหน้าพร้อมขับรถชมและสำรวจเส้นทางที่ตัวเองจะใช้วิ่งให้ได้เปรียบ โค้งเท่าไร ชันเท่าไร ก็นำมาเป็นค่ากลางเพื่อกำหนดจุดเร่งและผ่อนแรงให้ตัวเองได้ง่ายๆ บางคนถึงกับหา Elevation Gain ของสนามนั้นๆมาประกอบด้วยซ้ำไปเพื่อนๆหลายคนโดนแซงโค้งท้ายๆ ของสนามแข่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ พี่ๆ เขาทำการบ้านมาแน่นแล้วเรื่องเส้นทาง อิอิอิอิ
🔹Stress Management 
ความเครียดเหมือนลูกดอกไม้ซางเคลือบยาพิษ มันพุ่งเสียบเข้าหาเราอย่างเงียบเชียบและแทบจะไร้เสียงสัญญาณ ความเป็นพิษของคอร์ติซอล ( Cortisol , ฮอร์โมนแห่งความเครียด) นั้นแทรกซึมเข้าสู่มัดกล้ามแผ่วเบา เมื่อรู้สึกตัวอีกครั้งบนสนามวิ่งขาคุณจะหนักราวล่ามด้วยตรวนที่มองไม่เห็น ผมคงกลายเป็นคนบาปถ้าบรรยายจุดจบของนักวิ่งที่ถูกความเครียดครอบงำ อาเมน.... อาหารชิ้นเล็กๆก่อนออกวิ่งแข่งเป็นเคล็ดไม่ลับของลุงกับป้าทั้งหลายให้ร่างกายลดระดับความตึงเครียดลงและพร้อมลงสนามบดขยี้หนุ่มสาวผู้มากไปด้วยพลังแต่ยังเบาประสบการณ์ 
*นักวิ่งที่ผ่านสนามวิ่งมาเยอะ ผ่านมาหลายๆ ความรู้สึก พวกเขาจะรับมือกับความเครียดได้ดี เข้าใจวิถีของการแข่งขัน เรื่องแพ้ชนะที่เป็นสัจธรรม
🔹***แผนแข่ง Proficiency 
ความเจนจัดในการแข่งขันไม่ได้มาเพราะโชคช่วย กฏของการทำซ้ำจนพัฒนาทักษะให้ยอดเยี่ยมของคนเหล่านั้นกระทำผ่านการเตรียมตัวอย่างยาวนาน ผ่านเดือนปีที่ผิดพลาด เก็บข้อมูลวิ่งมาขัดเกลาแก้ไขให้งอกงามอยู่เสมอ พวกเขารู้จักความถนัดของตัวเองว่าพร้อมและสามารถระเบิดความสามารถสุดท้ายในเวลาใดเพื่อให้ประตูแห่งชัยชนะเปิดออกได้กว้างราวปากแม่น้ำเจ้าพระยาการโฟกัสพลังงานที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งสมัยนี้บนข้อมือของแต่ละท่านมีนาฬิกาดาวเทียม (GPS Watch) มาช่วยกำหนดการออกแรงด้วย เราจึงได้พบเสือเฒ่าหลายคนวิ่งเร็วแรงราวรถไฟความเร็วสูงและสามารถบริหารสภาพร่างกายได้เหนียวแน่นมาอย่างยาวนา
🔹Self Awareness
แม้จะเหนื่อยขนาดไหน ผู้สูงวัยจะวิ่งอย่างมีสติรู้ตัวเสมอ ส่วนหนึ่งคือความชำนาญจากการซ้อมที่ยาวนาน แต่ที่แน่นอนคือพวกเขารู้ข้อจำกัดของตัวเองเป็นอย่างดี การวิ่งแข่งระยะไกลเป็นการทำลายตัวเองชนิดหนึ่งซึ่งท่านทั้งหลายนั้นทราบดีเสมอมา ทำให้บุคลิกการวิ่งจึงเน้นหนักไปที่ความ 'แน่นอน' ว่าจะถึงเส้นชัยอย่างสนุกและปลอดภัย 
รวมไปถึงไล่เก็บหนุ่มสาวที่ประเมินแรงพลาดจนแทบเดินในช่วงท้ายของการแข่งขันด้วยน่ะสิ ฮ่าๆๆๆ ถ้าจะจบข้อเขียนนี้ให้หรูหราก็เพราะเห็นว่านักวิ่งวัยรุ่นนั้นออกจะประเมินร่างกายกับการแข่งให้สัมพันธ์สอดคล้องกันยากกว่าผู้อาวุโสเหล่านั้น 
เลยเลือกเอาเคล็ดลับมาตีแผ่บ้างและก็หวังว่าเสือหนุ่มสิงโตสาวจะไม่ถอดใจไปซะก่อนนะครับ

ที่มา : https://www.facebook.com/thaidotrun/photos/a.1694377410849702.1073741828.1658834907737286/2136562199964552/?type=3&theater

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สายวิ่งต้องฟัง สักครั้งในชีวิต ที่ เบอร์ลิน มาราธอน ครูดิน แนะนำวิธีวิ่ง จบแบบไม่เจ็บ


42.195 กิโลเมตร คือระยะทางมาตรฐานของการวิ่ง มาราธอน ซึ่งการวิ่งประเภทนี้เป็นเป้าหมายสำคัญที่คนรักการวิ่งจะต้องไปพิชิตให้ได้สักครั้งในชีวิต อย่างน้อยๆ สัก 1 รายการ  และรายการที่กำลังจะพูดถึงนี้ คือ 1ใน 6 เมเจอร์ของการวิ่งมาราธอนระดับโลก นั่นคือ เบอร์ลิน มาราธอน และครั้งนี้โปรแกรมสิทธิประโยชน์ The Ultimate JOY Experience ได้ ครูดิน – สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย มารับหน้าที่โค้ชพิเศษอีกครั้ง และยังจะร่วมเดินทางไปพิชิต เบอร์ลิน มาราธอน ในทริป บีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน 2018 – #มิชชั่นเบอร์ลิน ซึ่งจะมาแนะนำเคล็ดลับสำหรับสายวิ่งที่เตรียมตัวไปพิชิต มาราธอนให้อีกด้วย

อะไรคือไฮไลต์ของ เบอร์ลิน มาราธอน ?
“ต้องบอกว่าสนามวิ่งที่เบอร์ลินนั้นมีมนต์ขลังมากๆ เพราะนอกจากนักวิ่งที่โชคดีได้เข้าร่วมในงานนี้จะมีโอกาสวิ่งผ่านสถานที่สำคัญคือ ประตูบรันเดินบวร์คที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งสันติภาพของเยอรมัน ซึ่งมีความสวยงามมากๆ แล้ว รายการนี้ยังเป็นสนามที่มีการทำสถิติโลกมากครั้งที่สุด ซึ่งในปี 2018 นี้ ก็คาดว่าจะมีการทำงายสถิติโลกอีกครั้ง เพราะนักวิ่งในระดับโลกหลายๆ คนที่เข้าร่วม มีสถิติและพัฒนาการวิ่งในระดับที่ดีมากจากช่วงที่ผ่านมา”

สมัครเข้าร่วมวิ่งยากไหม ?
“การสมัครนั้นไม่ยาก แต่การจะได้เข้าร่วมวิ่งนั้นยากมากๆ เพราะหลังจากสมัครแล้วทางผู้จัดจะทำการสุ่มรายชื่อจากผู้สมัครทั่วโลก นับเป็นแสนๆ คน ซึ่งจะคัดเลือกเพียงประมาณ 40,000 คนเท่านั้น ที่จะได้มีโอกาสเข้าร่วมวิ่งในแต่ละปี”

เตรียมวิ่งมาราธอนอย่างไร ?
“การเป็นนักวิ่งมาราธอนไม่ใช่อยู่ๆ อยากวิ่งก็จะมาวิ่งได้เลย เพราะการวิ่งมาราธอนเป็นการวิ่งระยะทางที่ยาวไกลที่สุดของระดับกีฬามาตรฐานโลก ไม่นับรวมการวิ่งเทรล เพราะฉะนั้นนักวิ่งจะต้องมีความอดทนเพื่อให้สามารถวิ่งได้ตลอดระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ดังนั้นผู้ที่จะมาวิ่งมาราธอนจะต้องมีการฝึกฝนเป็นลำดับขั้น ซึ่งผู้ร่วมทริปกับ The Ultimate JOY Experience เมื่อปีที่แล้ว ก็มีคนที่วิ่งมาราธอนแรกได้จนจบหลายคน”

ต้องซ้อมอย่างไร ?
“ตลอดระยะทางร่างกายต้องลงเท้าประมาณ 4 – 6 หมื่นครั้ง เพราะฉะนันการฝึกซ้อมในแต่ละช่วงจึงจะต้องเน้นในเรื่องการพัฒนาแต่ละส่วนของร่างกาย ทำให้วิ่งต่อเนื่องได้ในระยะเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกในเรื่องของความอดทน ฝึกที่จะเรื่องนรู้จังหวะการวิ่งของเป็นแบบไหนที่จะทำให้วิ่งได้ไปจนจบ เพราะฉะนั้นควรมีระยะเวลาซ้อมสะสมไว้ อย่างน้อย 4-6 เดือน

ซึ่งต้องแบ่งช่วงของการซ้อมตามสัดส่วน ดังนี้

ช่วงที่ 1 พัฒนาความอดทนก่อน คือ การซ้อมอย่างต่อเนื่อง

ช่วงที่ 2 พัฒนาจังหวะการวิ่ง เพื่อจะได้รู้ว่าจังหวะการวิ่งแบบไหนเพมาะกับต้นทุนที่มีอยู่

ช่วงที่ 3 พัฒนาความแข็งแรง คือการซ้อมระยะทางไกล

เมื่อได้องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนพร้อมแล้ว จากนั้นก็มากำหนดเป้าหมายว่าต้องการวิ่งในรายการไหนระยะทางเท่าไร ก็มาพัฒนาหาความเร็ว จังหวะ ตามเป้าหมายที่ต้องการ เมื่อคิดว่าซ้อมได้สมบูรณ์แบบแล้ว จากนั้นก็เริ่มซ้อมเบาลงประมาณ 7-10 วัน ก่อนการแข่ง เพื่อให้ร่างกายฟื้นภาพในระดับความสมบูรณ์ที่สูงสุด”

อย่างไรถึงจะเรียกว่าพร้อมแล้วสำหรับมาราธอน ?
“นักวิ่งต้องมีการซ้อมสะสมที่เพียงพอที่จะพัฒนาตัวเองไปจนถึงสามารถที่จะวิ่งมาราธอนได้ โดยส่วนใหญ่มีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ ใน 1 สัปดาห์ควรจะมี 1 วันที่ซ้อมวิ่งให้ได้ไกลที่สุด ประมาณ 32-35 กิโลเมตร นั่นคือ 3 ใน 4 ของระยะทางจริง หากวิ่งได้จบในเวลาที่ตั้งเป้าไว้ ก็ถือว่าพร้อมแล้วสำหรับมาราธอน”

ทำอย่างไรให้วิ่งจบแบบไม่เจ็บ ?
“การที่จะวิ่งให้จบแบบร่างกายไม่เจ็บ นักวิ่งต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

1. ร่างกายต้องมีความสมบูรณ์แข็งแรง
2. ต้องฝึกซ้อมและสะสมความต่อเนื่องให้ยาวนานและเพียงพอ
3. ประเมินต้นทุนตัวเองแล้ว อย่าวิ่งเกินขีดต้นทุนที่ตัวเองมีอยู่ อย่าฝืน และอย่าใจร้อน
4. อุปกรณ์มีผล โดยเฉพาะรองเท้า เพราะเท้าของคนเราไม่เหมือนกัน แค่เท้าข้างซ้ายกับเท้าข้างขวาเรายังไม่เหมือนกันเลย หากสามารถหาพื้นรองเท้าที่ออกแบบมาได้พอดีกับโครงสร้างเท้าของแต่ละคนจะช่วยได้มาก อย่างที่ร้าน Rev Runnr เป็นสเปเชียลตี้สโตร์สำหรับนักวิ่งเจ้าแรกในประเทศไทยที่นำนวัตกรรมแผ่นรองเท้าที่เป็น Customized Insoles นี้จะช่วยซัพพอร์ทเท้าในทุกการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี สามารถสร้างพื้นรองเท้าที่ออกแบบมาให้พอดีกับเท้าของแต่ละคนได้เลย”

บีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน 2018 – #มิชชั่นเบอร์ลิน เป็นหนึ่งในโปรแกรมสิทธิประโยชน์ The Ultimate JOY Experience กิจกรรมสุดเอ็กคลูซีฟที่ BMW จัดขึ้นให้แก่สมาชิกผู้ใช้รถยนต์ BMW นับเป็นกลุ่มคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสสุดพิเศษไปวิ่งในสนามนี้ ซึ่งจะเดินทางระหว่างวันที่ 11-18 กันยายน 2561 ยังไงของส่งแรงใจไปเชียร์ให้วิ่งจบแบบไม่เจ็บกันทุกคน

ที่มา : https://sport.mthai.com/other/354326.html

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การจัดงานวิ่ง" (ตอน 1)

ในปัจจุบัน ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองด้วยการออกกำลังกายกันมากขึ้น และหนึ่งในวิธีการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด ก็คือ การวิ่ง เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้อื่นเหมือนการเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ จะวิ่งเมื่อใดก็ได้ สถานที่ใดก็ได้ นอกเหนือจากการวิ่งเองตามศูนย์ออกกำลังกาย หรือ ตามสวนสาธารณะแล้ว การวิ่งตามงานวิ่งต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมหนึ่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของนักวิ่งหลาย ๆ คน ด้วยกระแสของการออกกำลังกายที่มีอย่างต่อเนื่อง นโยบายของภาครัฐที่รณรงค์ให้ผู้คนหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

กระแสจากภาพยนตร์ไทยของค่ายภาพยนตร์ GTH เรื่อง "รัก 7 ปี ดี 7 หน" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการวิ่งมาราธอน รวมไปถึงกระแสจากโครงการก้าวคนละก้าวของพี่ตูน ที่ได้จุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คน ลุกขึ้นมาออกกำลังกายโดยการวิ่งกัน จึงทำให้เกิดงานวิ่งขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สุดสัปดาห์หนึ่ง ๆ จัดพร้อมกันหลายงานก็มี มีแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่รวบรวมตารางการจัดกิจกรรมงานวิ่งต่าง ๆ ในรอบปี ไว้หลายแหล่ง ให้ผู้ที่สนใจได้เลือกสมัครกัน


นักวิ่งหลาย ๆ คน ตัดสินใจเข้าร่วมงานวิ่งด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น การวิ่งคนเดียวอาจจะทำให้รู้สึกเบื่อ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้ไม่อยากวิ่งและล้มเลิกเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ถ้าวิ่งกับนักวิ่งคนอื่น ๆ จะได้เพื่อนร่วมทาง ได้บรรยากาศของการแข่งขัน สร้างกำลังใจที่จะวิ่งให้ถึงเส้นชัยให้ได้ หรือ เมื่อต้องจ่ายค่าสมัครเข้าร่วมงานวิ่งแล้ว ก็ต้องยอมสละเวลาตื่นเช้ามาวิ่งเพื่อให้คุ้มกับค่าสมัครที่เสียไป

รวมไปถึงการเข้าร่วมงานวิ่งเพื่อสะสมของที่ระลึกของงานวิ่ง เช่น เสื้อยืด ป้ายหมายเลขประจำตัวของนักวิ่ง เหรียญจากรายการวิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

ประโยชน์ของการจัดงานวิ่ง นอกเหนือการที่นักวิ่งได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและเหตุผลทางธุรกิจแล้ว คือ การกระจายรายได้เข้าสู่พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานวิ่งที่ต่างจังหวัด นักวิ่งสามารถท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อได้หลังจากการวิ่ง นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) แล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ได้อีกด้วย เช่น ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า การคมนาคม เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูลและสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานวิ่งที่ผ่านมาของประเทศไทย พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2560) ประเทศไทยมีการจัดงานวิ่งทั้งสิ้น 1,305 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 54 รายการ หรือ สัปดาห์ละ 12 รายการ โดยจัดขึ้นเกือบครบทุกจังหวัดในประเทศไทย เดือนที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุด ได้แก่ ธ.ค. และ พ.ค. คือ เดือนละประมาณ 160 รายการ

ส่วนเดือนที่มีการจัดงานวิ่งน้อยที่สุดในรอบปี ได้แก่ เดือน เม.ย. มีจำนวน 62 รายการ และวันในรอบสัปดาห์ที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุด แน่นอนว่า ต้องเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งมีจำนวน 940 รายการ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 71% ของงานวิ่งทั้งหมด ตามมาด้วยวันเสาร์ ซึ่งมีจำนวน 240 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 19% ของงานวิ่งทั้งหมด

เมื่อพิจารณาถึงจังหวัดที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุด แน่นอนว่า อันดับ 1 คือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมากถึง 386 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 16 รายการ ตามด้วย สกลนคร เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และสงขลา และถ้าพิจารณาเฉพาะงานวิ่งที่จัดในกรุงเทพมหานคร สถานที่ที่ได้รับความนิยมในการจัดงานวิ่งมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ สวนลุมพินี สวนหลวง ร.9 และสวนวชิรเบญจทัศ (หรือสวนรถไฟ) ตามลำดับ

ในการแบ่งประเภทของการวิ่งตามระยะทาง พบว่า งานวิ่งส่วนใหญ่จะแข่งขันอยู่ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) Fun Run เป็นการวิ่งเพื่อความสนุกสนาน เป็นระยะทางสั้น ๆ ประมาณ 3-5 กิโลเมตร 2) Mini Marathon ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร 3) Half Marathon ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร และ 4) Full Marathon ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร โดยค่าสมัครจะเพิ่มขึ้นตามระยะทางที่นักวิ่งได้สมัครไว้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของค่าสมัครในการวิ่งประเภท Fun Run อยู่ที่ 312 บาท Mini Marathon อยู่ที่ 365 บาท Half Marathon และ Full Marathon อยู่ที่ 583 บาท และ 841 บาท ตามลำดับ

ในการจัดงานวิ่งแต่ละงานนั้น ถ้าผู้อ่านเคยได้มีโอกาสเข้าร่วมในงานวิ่ง จะพบว่า มีรายละเอียดของการจัดงานค่อนข้างมาก ทั้งการเตรียมงานก่อนวันงาน ไม่ว่าจะเป็น การประชาสัมพันธ์การลงทะเบียน การรับเสื้อวิ่ง รวมไปถึงในวันจัดงาน ซึ่งโดยปกติงานวิ่งต่าง ๆ นั้น จะจัดโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจัดขึ้นด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น ครบรอบการก่อตั้งสถาปนาของหน่วยงานนั้น ๆ หรือเป็นการวิ่งประจำปี วิ่งเพื่อการกุศล ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัด มักจะไม่มีความชำนาญในการจัดงานวิ่งด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องอาศัยบริษัทรับจัดงานวิ่ง (Running Event Organizer) แบบมืออาชีพขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า (ในที่นี้ก็คือ ผู้ว่าจ้างให้จัดงานวิ่ง) และตัวผู้เข้าร่วมงานวิ่ง ซึ่งปัจจุบัน แทบจะทุกงานวิ่งจะต้องอาศัยบริษัทรับจัดงานวิ่งช่วยจัดงานให้

เมื่องานวิ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในแต่ละงานมีวิ่งมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก จนทำให้ผู้จัดงานไม่สามารถดูแลนักวิ่งได้อย่างทั่วถึง ทำให้คุณภาพของการจัดงานวิ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ความพึงพอใจของนักวิ่งในการเข้าร่วมงานวิ่งนั้น ๆ ลดลง จากการศึกษางานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานวิ่ง พบว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่นักวิ่งอยากจะให้ผู้จัดงานให้ความสำคัญให้มากที่สุด คือ เรื่องของความปลอดภัยในการวิ่ง ระบบการปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ตามด้วยการสร้างบรรยากาศภายในงาน ขั้นตอนการสมัคร และขั้นตอนการรับเสื้อและป้ายหมายเลขประจำตัวก่อนวันงาน

นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้จัดงานวิ่งควรคำนึงนอกเหนือจากการสร้างความพึงพอใจให้กับนักวิ่งแล้ว คือ การนึกถึงผู้อื่นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิ่ง มี 2 ประเด็น ที่ควรคำนึงถึงในการจัดงานวิ่งบนถนนสาธารณะ คือ 1.การรักษาความสะอาดภายหลังการจัดงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในทุก ๆ งานวิ่งนั้น จะมีจุดบริการน้ำดื่มให้กับผู้วิ่งเป็นระยะ ๆ เมื่อผู้วิ่งรับน้ำมาดื่มจากแก้วกระดาษ หรือ แก้วพลาสติก พอดื่มเสร็จก็ต้องทิ้งลงในที่ที่ทางผู้จัดงานได้เตรียมไว้ให้ และภายหลังที่งานวิ่งเสร็จสิ้นลง ผู้จัดงานควรจะรีบจัดการกับขยะต่าง ๆ เพื่อเปิดทางให้ถนนสามารถได้ใช้งานได้ตามปกติ ไม่ให้มีขยะกีดขวางเส้นทางการจราจร

และ 2.การปิดการจราจรบริเวณสี่แยก หรือ การปิดจุดตัดทางรถไฟเป็นเวลานานเกินไปในช่วงเวลาของการวิ่ง เพ่ือให้นักวิ่งสามารถวิ่งได้อย่างต่อเนื่องนั้น อาจทำให้เกิดการจราจรติดขัด สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้เดินทาง ซึ่งถ้าผู้จัดงานคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้อย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่สร้างความพึงพอใจให้กับวิ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

ในครั้งต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงการประกอบธุรกิจการรับจัดงานวิ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงโครงสร้างและรูปแบบของการจัดงานวิ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงโครงสร้างและรูปแบบของการจัดงานวิ่ง รวมไปถึงการวิเคราะห์สถานการณ์การประกอบธุรกิจการรับจัดงานวิ่งเป็นลำดับถัดไป

ที่มา : http://m.thansettakij.com/content/295237

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เดิน-วิ่งชิ่งหนี"เบาหวาน"

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ชาย!!!
เดิน-วิ่งชิ่งหนี"เบาหวาน"

          ทั้งนี้จากสถิติเผยว่า ในปัจจุบัน ผู้หญิงมากกว่า 199 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้น เนื่องในวันเบาหวานโลก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดกิจกรรม “Healthy Women, Healthy Families, Healthy Economies” ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท เมอร์ค จำกัด สาขาประเทศไทย โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมเดิน–วิ่ง ระยะทาง 4 กิโลเมตรพร้อมการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานโดยเฉพาะในผู้หญิง พร้อมตรวจสุขภาพฟรีเพื่อคัดกรองความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย นำไปบริจาคให้แก่น้องๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในความดูแลของ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ต่อไป 

เดิน-วิ่งชิ่งหนี"เบาหวาน"

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

          ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า ปัจจุบันอัตราผู้หญิงเป็นเบาหวานมีมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก หรือเป็นโรคอ้วนนอกจากนี้ผู้หญิงยังมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ชายเนื่องจากปัจจัยทางด้านสรีระร่างกายและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หากมีการดูแลตัวเองไม่ดีพอ หรือบางกรณีอาจจะเป็นต่อเนื่องหลังจากคลอดบุตร หรือในบางรายมีโอกาสกลับมาเป็นอีกในระยะ 5–10 ปี  ซึ่งช่วง 24 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ นับเป็นระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานสูง เพราะเป็นช่วงที่มีการพัฒนาของรกเต็มที่ มีการฮอร์โมนผลิตสูง จึงอาจพบเป็นภาวะดื้ออินซูลินได้ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เสี่ยงต่อเบาหวาน ได้แก่ กรรมพันธุ์ น้ำหนักเกิน หรือเคยมีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ แท้งโดยหาสาเหตุไม่พบ จึงควรตรวจสอบความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ ขณะที่ผู้หญิงยังมีโอกาสเกิดโรคถุงน้ำจำนวนมากที่รังไข่ ที่จะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้ ซึ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานที่แตกต่างจากผู้ชาย 
          พญ.วรรณี ยังชี้แจงต่อไปว่า “โรคเบาหวาน หัวใจ  และสมอง มีสาเหตุ 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และ 20 เปอร์เซ็นต์ มาจากพันธุกรรม ดังนั้น จึงสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพของตนเองในเรื่องการกินอาหาร การดำเนินชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความเครียด การดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดี ควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายหรือตรวจคัดกรองเบาหวาน โดยเฉพาะเมื่ออายุ 35 ปี และระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะอ้วน อันเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงสุขภาพไม่ดี ซึ่งมีวิธีการเช็คสุขภาพของตัวเองอย่างง่ายๆ  อย่างน้อยเดือนละครั้ง ดั้งนี้ 1.ชั่งน้ำหนัก วัด BMI  2.วัดรอบพุงและความสูงซึ่งรอบพุงต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของความสูงตนเอง จึงถือว่าปกติ และ 3.วัดความดัน เหล่านี้ล้วนเป็นดัชนีสุขภาพของเรา 

เดิน-วิ่งชิ่งหนี"เบาหวาน"

รศ.พญ.ทิพาพร ธาระวานิช-ร.ศ.พญ. สุภาวดี ลิขิตมาศกุล

         ผู้คนทั่วไปมักอาจมีโอกาสเป็นเบาหวานแต่มักไม่รู้ตัวเนื่องจากระยะแรกนั้นอาจไม่พบอาการแสดงออกของโรค จนกว่าจะตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 200 มก./ดล. แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 125 มก./ดล.ถือได้ว่าเป็นเบาหวานแล้ว เหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องตรวจคัดกรองเบาหวานซึ่งถ้าสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เพียงแค่การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา” 
          สำหรับประเทศไทยจะมีการให้คำแนะนำในการปฎิบัติตนต่อบุคคลที่เรียกว่า “ว่าที่เบาหวาน” หรือภาวะก่อนเบาหวาน และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่างเช่น พบว่าผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดเกินมาตรฐานจำนวน 30 คน จากผู้มาตรวจคัดกรอง จำนวน 100 คน แพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน ซึ่งหากบุคคลทั้ง 30 คนที่ตรวจพบนี้สามารถปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จะพบว่ามีเพียง 10-15 คนเท่านั้นที่ป่วยเป็นเบาหวาน  ดังนั้นการป้องกันโรคด้วยวิธีต่างๆ จะช่วยลดการเกิดเบาหวานจริงได้มากถึง 50% หรือสามารถยืดเวลาการเป็นเบาหวานออกไปได้อีก 5-10 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาการเป็นเบาหวานขึ้นอยู่กับอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน 

เดิน-วิ่งชิ่งหนี"เบาหวาน"

          ปัจจุบัน จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน (2557) เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ 3.3 ล้านคน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนคน และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาสูงมากขึ้น     จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นวันเบาหวานโลกในปีนี้ จึงให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิง ในการดูแลและป้องกันเบาหวานให้กับตนเองและครอบครัว ในฐานะของแม่บ้าน ภรรยา และแม่ที่ดูแลความเป็นอยู่และโภชนาการของทุกคนในครอบครัว จึงถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเบาหวานไม่เพียงระดับครอบครัวเท่านั้น แต่ส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือหากจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่าย ที่จะต้องเสียในการดูแลรักษาก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นทั้งเรื่องยา การวินิจฉัย ค่าเดินทางเพื่อรักษา ที่พัก ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือ และยังส่งผลถึงคุณภาพประชากรของประเทศ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่สังคมเกินความจำเป็น เราควรที่จะหันมาดูแลรักษาสุขภาพตนเอง  ด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ในปริมาณที่สมดุลพอเหมาะและควบคุมน้ำหนักของตนเอง เป็นต้น

เดิน-วิ่งชิ่งหนี"เบาหวาน"

ปัญญา กิจเจริญการกุล

          โดย ปัญญา กิจเจริญการกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์ค จำกัด สาขาประเทศไทย เผยว่า “เมอร์ค ได้ให้ความสนับสนุน สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างภูมิต้านทานห่างไกลโรค โดยร่วมรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงและครอบครัวหันมาดูแลสุขภาพตนเอง ไปพร้อมๆ กับการมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชนที่กำลังเผชิญโรคนี้ ซึ่งเรารู้สึกดีใจที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย ได้นำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือน้องๆ ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในความดูแลของ "สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ" ต่อไป 

ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/307710#.Wnwo1_3laag.facebook

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประวัติคุณจอห์น โวลันเธน ในเรื่องวิ่ง

รอยยิ้มแบบนี้คงเป็นภาพแรกๆ ที่จุดแสงสว่าง
ในใจให้น้องๆ หมูป่าท่ามกลางความมืดชื้นในถ้ำ
วันนี้มีข่าวดี จากผู้เสียสละ ผู้กล้า ผู้ทุ่มเท ผู้ปิดทอง
หลังพระที่ไม่อาจกล่าวถึงได้หมด 
ผมขอถือโอกาสเป็นฤกษ์ดี
เปิดเพจด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกครับ
.
⚡️⚡️
⚡️
เนื่องจากมีข่าวสารเรื่องนี้หลายด้าน 
เพจรันนิ่งอินไซด์เดอร์ 
ขอเล่าด้านที่ตรงกับความสนใจและพอมีข้อมูล
.
คุณจอห์น โวลันเธน ปัจจุบันอายุ 47 ปี เป็นชาวอังกฤษ 
เขามีชีวิตอีกด้าน เป็น "นักวิ่งอัลตร้ามาราธอน"
ผ่านการวิ่งระยะไกลระดับ 100Km ,100Miles มากกว่า 8 สนามในรอบ 5 ปีนี้ หากเสิร์จชื่อของเขา 
นอกจากพบข่าวที่ดังไปทั่วโลกขณะนี้แล้ว
.
ยังมี Link นี้ [https://bit.ly/2tQpdTf]
ที่บอกเล่าความตั้งใจในการวิ่งระยะทาง 246 กิโลเมตร
แบบ Non-Stop ในงานสุดทรหด
ที่ชื่อว่า "สปาแทธลอน" (Spartathlon) ที่จัดขึ้น
ที่ประเทศกรีซ ช่วงเดือนกันยายน
นักวิ่งรายการนี้ต้องผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ 
ก่อนคริสตกาล 490 ปี 
จากจุดตั้งทัพเปอร์เซียร์ วิ่งมายังกรุงเอเธนส์ 
นักโบราณคดีส่วนหนึ่ง ระบุว่า
เส้นทางสายนี้ทำให้เกิด "กีฬามาราธอน" อย่างทุกวันนี้
เพราะตำนานของ "ฟิดิปปิเดซ" (Pheidippides) ใช้เส้นทางนี้
วิ่งมาส่งสารจากสนามรบแล้วขาดใจตาย 
*แต่ต่อมามีทฤษฎีอื่น ที่ออกมาค้านเรื่องนี้ครับ 
.

⚡️⚡️
⚡️
คุณจอห์น โวลันเธน เคยไปร่วมวิ่ง Spartathlon ครั้งแรกใน 2015
แต่ทำได้ 90 ไมล์ ( 144Km)
ในปี 2016 เขากลับไปจบ 246 กิโลเมตรที่เวลา 34 ชั่วโมง 34 นาที (34:34 hrs) 
.
แน่นอนว่า ย่อมผ่านการทดสอบที่เอาเรื่อง ลมกรรโชกแรงที่ริมทะเล
เมดิเตอร์เรเนียนโดยปลายทางที่เส้นชัย
ของงานนี้ คือ อนุสาวรีย์ "เลโอไนดัส" Leonidas Monument
แม่ทัพผู้กล้าแห่งตำนานสปาร์ตัน ที่นำนักรบ 300 นายไปกร่ำศึก
แล้วสู้สุดชีวิตในวงล้อม มีประโยคดังก้องเป็นตำนานว่า 'Spartans Never Surrender" - " This is Spartan" 
.
เข้าใจว่านักวิ่งที่สนใจไปร่วมวิ่ง "สปาแทตลอน"
ก็คงอาบอิ่ม ฮึกเหิมไปด้วยสปิริตนักสู้เช่นนั้น
ใน ภ.โปรโมทสนามนี้มีภาพนักวิ่งหลั่งน้ำตา ก้มลงจูบเท้า
อนุสาวรีย์ เลโอไนดัสที่พวกเขาฝ่าฝันระยะทางวิ่งมาถึง
เส้นชัยสปาร์ตัน จอห์น โวลันเธน คือ 1 ใน 234 ชีวิตที่ทำได้อย่างภาคภูมิ ชีวิตด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นนักสำรวจถ้ำ นักดำน้ำลึก 
นักกู้ภัยใจพระ ให้พี่ๆ ท่านอื่นที่สันทัดกรณีเล่าต่อนะครับ
.
.
🏅ฉายภาพประวัติอัลตร้ามาราธอนที่เด่นๆ ของ จอห์น โวลันเธน

2017 
👟Thames Path - 100 Miler งานวิ่งอัลตร้าในลอนดอน 
ระยะวิ่ง 160 km จอห์นจบที่ 21:36:44 Hrs

👟 Cappadocia Ultra Trail - 110K งานวิ่งอัลตร้าในตุรกี
ภูมิประเทศกึ่งทะเลทราย จอห์นจบที่ 17:43:13 Hrs

👟 South Downs Way 100 - 100 Miler งานวิ่งอัลตร้าในทุ่งกว้างอังกฤษ ระยะวิ่ง 160 km+ จอห์นจบที่ 19:56:28 Hrs
*เข้าใจว่านี้เป็น PB ในสนามนี้ของจอห์น

2015
👟 Rocky Raccoon - 100 Miler ข้ามฝั่งมาวิ่งงานอัลตร้าที่เท็กซัส
ภูมิประเทศป่าโป่ง ระยะวิ่ง 160 km+ จอห์นจบที่ 22:56:33 Hrs

ผมเห็นข้อมูลต่างๆ พบว่า จอห์น โวลันเธน ที่สังเกตได้ คือ
เขาติดอันดับ Top 100 ในสนามที่ไป [https://bit.ly/2u1ci07]

ตามข้อมูลจอห์นเข้าสู่โลกการวิ่งอัลตร้ามาราธอนในปี 2013
เริ่มจากระยะ 50ไมล์ 80Km | 9:40:00 Hrs ถือว่า ฝีเท้าดีมากๆ 
สำหรับวัย 42 ที่วิ่งมาราธอนมาก่อนหน้านั้น 
.
.
🛡
ข่าวล่าสุดที่อัพเดตเมื่อ 31 พฤษภาคม 2018 ที่ผ่านมา
คุณจอห์นได้ร่วมทีม British Spartathlon เขาน่าจะได้
ลงสนามวิ่ง 246KM ในกรีซอีกครั้งในกันยายนนี้ 
ถ้าไม่ติดภาระกิจเสียสละอื่นๆ
.
.
คำแนะนำที่คุณจอห์น บอกไว้สำหรับการไปวิ่งอัลตร้าครั้งแรก คือ
ให้บริหารการเดินเป็นส่วนมาก และบริหารเวลาการเข้าจุด Check Point 
ให้ดี

เครดิต : https://www.facebook.com/runninginsider/posts/259326578166262

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อาการปวดกล้ามเนื้อ DOMS หลายคนเป็นอยู่...แต่ไม่รู้ตัว

DOMS ย่อมาจาก "Delayed Onset Muscle Soreness” คือ ความรู้สึกปวดตึงกล้ามเนื้อภายหลังจากการออกกำลังกาย อาจเป็นเพราะออกกำลังกายหนักมากเกินไป อาการปวดนี้มักเกิดบริเวณกล้ามเนื้อน่อง และกล้ามเนื้อต้นขา ซึ่งสาหตุการเกิดมีอยู่หลายปัจจัย เช่น การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ การบาดเจ็บหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อ แต่ไม่ต้องกังวัลเพราะเราสามารถบรรเทาอาการปวดประเภทนี้ในเบื้องต้นได้ ด้วยการใช้ตัวยาที่มีประสิทภาพในการลดอาการปวดอักเสบ เช่น ตัวยาไดโคลฟีแนค1% เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ แทนการใช้ยาบรรเทาปวดสูตรร้อนและสูตรเย็นที่ให้ความรู้สึกแค่เฉพาะผิวหนัง เพราะตัวยาที่มีส่วนผลมของไดโคลฟีแนคจะสามารถซึมผ่านผิวหนังช่วยลดอาการปวดประเภท DOMS ได้เป็นอย่างดี หรือถ้าเพื่อนๆ คนไหนที่อยากรู้เรื่องอาการปวดประเภทอื่นๆ สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.thejoyofmovementthailand.com ได้เลยนะคะ

ที่มา : https://www.facebook.com/THEJOYOFMOVEMENTTHAILAND/photos/a.306688529685699.1073741833.277181009303118/551802405174309/?type=3

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

แด่มาราธอนเนอร์ และ กับดักความเร็ว

แด่มาราธอนเนอร์

ประสบการณ์จะสอนให้คุณเรียน
รู้จังหวะการผ่อนหนักผ่อนเบา

เมื่อคุณลงสนาม มีแต่ตัวคุณเองเท่านั้น
ที่จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เดียว
ที่คุณมีสิทธิ์ร้องขอหรือบนบานให้ช่วย

ไม่มีปาฏิหาริย์ใดๆที่จะเกิดขึ้น
นอกจากการฝึกซ้อมที่สมบูรณ์แบบ
" เพื่อมาราธอน "

ครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี
17 กุมภาพันธ์ 2561


กับดักความเร็ว

ถ้าคุณเพลินและหลงอยู่กับการทำความเร็วในระยะทางสั้นๆ
ในขณะที่ยังไม่สามารถอดทนต่อความเมื่อยล้า
เมื่อต้องวิ่งในระยะทางที่ยาวไกลในระยะทางอย่างน้อย 3/4 ของมาราธอน
คุณจะพบกับความน่าสพรึงกลัวของมาราธอน

ครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี

21 กุมภาพันธ์ 2561

ที่มา : https://www.facebook.com/SathavornRunningClub/photos/a.614330601918791.1073741827.278844635467391/1820958194589353/?type=3

https://www.facebook.com/SathavornRunningClub/photos/a.614330601918791.1073741827.278844635467391/1825479510803888/?type=3