วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เทคนิคการแข่งขันวิ่งมาราธอนของนักวิ่งมาราธอนนานาชาติหญิง

จากการวิ่งมาราธอน ที่ในอดีตเป็นความท้าทายที่นักวิ่งจะสามารถวิ่งเข้าเส้นชัยได้หรือไม่ ปัจจุบันเมื่อมีการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนมากขึ้น มีนักวิ่งเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น มีการฝึกซ้อมมากขึ้น มีการหาความรู้ในการดูแลสุขภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิ่งและป้องกันการบาดเจ็บที่ดีขึ้น ทำให้นักวิ่งมาราธอนที่วิ่งมานานสม่ำเสมอ มีการตั้งเป้าหมายสูงขึ้น คือทำระยะเวลาให้ดีขึ้น รวมทั้งเป้าหมายเพื่อเหรียญรางวัลในช่วงอายุของตนด้วย ในบทความนี้จะขอพูดถึงแนวทางปฏิบัติได้ในนักวิ่งมาราธอนเพศหญิง เนื่องจากข้อมูลวิจัยพบว่านักวิ่งมาราธอนชายและหญิงมีกลวิธีในการเลือกระดับความเร็วในการวิ่งตลอดช่วงการแข่งขันที่ต่างกัน

มีงานวิจัยที่นำข้อมูลของนักวิ่งมาราธอนจากการแข่งขันโอลิมปิกและการแข่งขันมาราธอนโลกมาวิเคราะห์ถึงระยะเวลาการวิ่งของผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมดโดยดูระยะเวลาที่ใช้ที่ระยะ 5 10 15 20 25 30 35 40 และ 42.195 กิโลเมตรแล้วนำมาวิเคราะห์เป็นลักษณะพฤติกรรมของนักวิ่งโดยดูเรื่องระยะเวลาที่เข้าเส้นชัย และพฤติกรรมการเข้ากลุ่มวิ่งในระหว่างการแข่งขันเพื่อดูปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เช่น ได้เหรียญ หรือทำเวลาเข้าเส้นชัยต่างกับผู้ชนะไม่มากนัก และล้มเหลวของการแข่งขัน เช่น หลุดออกจากการวิ่งหรือแข่งไม่จบระยะ เป็นต้น

เรื่องของการแบ่งการทำเวลาออกเป็นกลุ่มๆ จะใช้เวลาคนที่วิ่งชนะเลิศเป็นเกณฑ์บ่งชี้ แล้วตัดคนที่วิ่งเกินกว่าเวลานั้น 25% ขึ้นไปและวิ่งไม่จบการแข่งขันออก กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่ได้เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่วิ่งจบในระยะเวลาไม่เกิน 5% ของผู้ชนะเลิศ กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่วิ่งจบในระยะเวลามากกว่า 6-10% ของผู้ชนะเลิศ กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่วิ่งจบในระยะเวลามากกว่า 11-15% ของผู้ชนะเลิศ และกลุ่มที่ 5 คือกลุ่มที่วิ่งจบในระยะเวลามากกว่า 16-25% ของผู้ชนะเลิศ

เรื่องของแทคติกระดับจังหวะความเร็วในการวิ่งของนักวิ่งแต่ละคนว่าอยู่วิ่งในกลุ่มหรือไม่ จะดูค่าเวลาที่นักวิ่งผ่านระยะทางต่างๆ 9 ช่วงที่กล่าวมาข้างต้น ว่านักวิ่งคนนั้นมีระยะเวลาต่างกับนักวิ่งคนที่วิ่งใกล้ที่สุดกับเขาว่าวิ่งนำเขาหรือวิ่งตามเขาเวลาต่างกันน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 วินาทีหรือไม่ (คำนวณแล้วเฉลี่ยระยะห่างประมาณ 4 เมตร)

เมื่อมีการวิเคราะห์ความเร็วเฉลี่ยในทุกช่วง 5 กิโลเมตรของการวิ่งมาราธอนหญิงในกลุ่มนักวิ่งต่างๆ ตามระยะเวลาที่เข้าเส้นชัย พบว่า นักวิ่งในกลุ่มที่ได้รับเหรียญวิ่งได้เร็วที่สุดในทุกช่วงนับตั้งแต่ออกจากจุดสตาร์ทจนถึงเส้นชัย โดยจะเริ่มฉีกออกจากกลุ่มนักวิ่งที่เข้าเส้นชัยในเวลา 5 % ที่ระยะทาง 25 กิโลเมตร และฉีกออกจากกลุ่มนักวิ่งที่เข้าเส้นชัยในเวลา 6-10% ที่ระยะทาง 5 กิโลเมตร แต่ในช่วง 5 กิโลเมตรแรกนั้น นักวิ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้จะยังวิ่งเกาะกลุ่มกันได้ดีไม่แตกต่างกันนัก

เมื่อมาวิเคราะห์ถึงระยะทางที่นักวิ่งจะปรับเปลี่ยนความเร็วตามแผนการวิ่งเพื่อเข้าสู่เส้นชัย พบว่า ในนักวิ่งแต่ละกลุ่มจะพบว่า นักวิ่งที่ได้รับเหรียญ จะรักษาระดับความเร็วในการวิ่งช่วง 25 กิโลเมตรแรก แล้วจึงเริ่มวิ่งด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเพิ่มความเร็วสูงสุดได้อย่างชัดเจนในช่วง 2 กิโลเมตรสุดท้าย นักวิ่งกลุ่มจบในระยะเวลาไม่เกิน 5% จะเริ่มวิ่งความเร็วตกชัดเจนตั้งแต่กิโลเมตรที่ 25 เป็นต้นไป นักวิ่งกลุ่มจบในระยะเวลา 6-10% จะเริ่มวิ่งความเร็วตกชัดเจนตั้งแต่กิโลเมตรที่ 25 เป็นต้นไปเช่นกันแต่ความเร็วในการวิ่งจะตกลงมากกว่ากลุ่มจบในระยะเวลาไม่เกิน 5% นักวิ่งกลุ่มจบในระยะเวลา11-15% จะเริ่มวิ่งความเร็วตกชัดเจนตั้งแต่กิโลเมตรที่ 20 เป็นต้นไป นักวิ่งกลุ่มจบในระยะเวลา 16-25% จะเริ่มวิ่งความเร็วตกชัดเจนตั้งแต่กิโลเมตรที่ 5 เป็นต้นไป โดยนักวิ่งหญิงที่ได้เหรียญทองและเหรียญเงินจะมีเวลาต่างกันเฉลี่ยเพียง 16 วินาที ในภาพรวม นักวิ่งมาราธอนหญิงจะวิ่งในช่วงครึ่งหลังของระยะทางใช้เวลาประมาณ 106% ของระยะเวลาที่วิ่งในครึ่งแรกของระยะทาง โดยมีนักวิ่งมาราธอนหญิงมากถึง 12.9% เท่านั้นที่วิ่งครึ่งหลังของระยะทางเร็วกว่าในช่วงครึ่งแรกของระยะทาง

ได้มีการจัดกลุ่มนักวิ่งออกเป็น 6 กลุ่ม โดยแบ่งตามจำนวนนักวิ่งคนนั้นว่าอยู่ในกลุ่มกี่ช่วงในทั้งหมด 9 ช่วง นักวิ่งที่วิ่งเกาะกลุ่มอย่างน้อย 8 ช่วงใน 9 ช่วง เรียกว่า ever-present packs ส่วนใหญ่จะวิ่งเกาะตั้งแต่เริ่มวิ่งไปจนถึงระยะ 40 กิโลเมตร แล้วจะค่อยวิ่งแยกกันเพื่อทำเวลาหรือแข่งเพื่ออันดับที่ดีขึ้น โดยนักวิ่งในกลุ่ม ever-present packs จะมีจำนวนน้อยที่สุด นักวิ่งที่เกาะกลุ่มอย่างน้อยครึ่งระยะทาง จากนั้นจะเริ่มมีการแยกตัวออกจากกลุ่ม เรียกว่า halfway packs นักวิ่งที่มีการวิ่งเกาะกลุ่มกับนักวิ่งคนอื่นอย่างน้อย 7 ใน 9 ช่วงแต่เปลี่ยนกลุ่มที่นักวิ่งที่คู่กันในแต่ละช่วง เรียกว่า nomadic packs นักวิ่งที่วิ่งอยู่ในกลุ่มอย่างน้อย 5 ใน 7 ช่วง จนถึงระยะทาง 30 กิโลเมตร และแยกตัวออกจากกลุ่มในระยะทางที่เหลือ เรียกว่า semi-nomadic packs นักวิ่งที่เปลี่ยนกลุ่มวิ่งกับนักวิ่งที่ต่างกันมากกว่าครึ่งใน 9 ช่วง และมีอย่างน้อย 2 ช่วงที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มใดๆ เรียกว่า regrouping packs ส่วนนักวิ่งที่เหลือที่เข้าเส้นชัยได้โดยวิ่งอยู่ในกลุ่มน้อยกว่าครึ่งหนึ่งใน 9 ช่วง เรียกว่า short-lived packs ซึ่งพบว่ามีมากที่สุดในจำนวนนักวิ่งทั้งหมด

โดยภาพรวมนักวิ่งมาราธอนหญิง จะเริ่มวิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่านักวิ่งชายราว 10% และนักวิ่งกลุ่มที่ได้รับเหรียญจะออกนำจากกลุ่มที่ตามหลังตั้งแต่ช่วง 5 กิโลเมตรแรก โดยวิ่งความเร็วเฉลี่ยประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รักษาความเร็วได้ต่อไปจนถึงระยะ 25 กิโลเมตร แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นเล็กน้อยจนช่วงเข้าเส้นชัยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนนักวิ่งกลุ่มจบในระยะเวลาไม่เกิน 5% และนักวิ่งกลุ่มจบในระยะเวลา 6-10% จะรักษาความเร็วการวิ่งค่อนข้างคงที่ จนถึงระยะ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและวิ่งช้าลงจากนั้น แต่นักวิ่งกลุ่มจบในระยะเวลา 11-15% และ 16-25% ความเร็วจะตกลงตั้งแต่หลังจาก 5 กิโลเมตรแต่จะลดอย่างชัดเจนหลังระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งจะเห็นว่านักวิ่งในกลุ่มที่ได้รับเหรียญจะวิ่งเร็วเพื่อทิ้งกลุ่มอื่นๆ ออกชัดเจนหลังจากผ่านระยะทางไปประมาณครึ่งระยะทางแล้ว ในภาพรวม นักวิ่งมาราธอนหญิงเลือกที่จะวิ่งด้วยความเร็วที่ต่ำกว่า วิ่งเกาะกลุ่มกันมากกว่าแล้วค่อยไปวิ่งเร็วช่วงเข้าเส้นชัยเพื่อเหรียญและอันดับ เมื่อมีการวิเคราะห์เป็นกลุ่มนักวิ่งประเภทที่วิ่งในกลุ่มรูปแบบต่างๆ พบว่า ระยะเวลาในครึ่งหลังของการวิ่งจะดีที่สุดถ้ามีการวิ่งเกาะกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ โดยกลุ่มต่างๆ มีระยะเวลาดังต่อไปนี้ ever-present packs 99% halfway packs 106% nomadic packs 104% semi-nomadic packs 108% regrouping packs 108% short-lived packs 109%

โดยภาพรวม นักวิ่งมาราธอนหญิง จะวิ่งกันเป็นกลุ่มมากกว่า นักวิ่งที่เก่งจะวิ่งไม่เร็วมากในช่วงแรก ไม่ทิ้งระยะนักวิ่งกลุ่มอื่นมากนัก แล้วจึงค่อยเพิ่มความเร็วในช่วงครึ่งหลังของการวิ่ง ขณะที่นักวิ่งกลุ่มอื่นๆ จะเริ่มหมดแรงไม่สามารถรักษาความเร็วเดิมที่วิ่งตามได้ ซึ่งเป็นผลทำให้การวิ่งในช่วงระยะครึ่งหลังของนักวิ่งมาราธอนหญิงทำเวลาได้ดีเพราะเก็บแรงไว้เร่งในครึ่งหลัง ในทางจิตวิทยา นักวิ่งที่วิ่งด้วยกันจะประเมินความสามารถของเพื่อนนักวิ่งด้วยกันว่าสามารถวิ่งความเร็วใดที่จะรักษาความเร็วในการวิ่งนั้นไปได้นาน ซึ่งการวิ่งคู่กันไปนั้นจะเป็นการยืนยันว่าความเร็วนั้นเป็นความเร็วที่นักวิ่งส่วนใหญ่ทำได้ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า หากสามารถหาคู่วิ่งที่มีความสามารถทัดเทียมกันวิ่งด้วยกันไปตลอดการแข่งขันจะทำให้มีโอกาสวิ่งได้สถิติที่ดีที่สุด

ที่มา : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B8%B4%E0%B8%87/?utm_source=facebook-TH-club&utm_medium=EmbBurirum&utm_campaign=facebook-TH-club&utm_content=WomenMarathon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น