วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หมดแรงใจ ไม่อยากวิ่ง ลองใช้เทคนิคนี้ดู

เพื่อนๆอาจจะมีประสบการณ์ท้อใจว่าวิ่งอย่างไรก็ไม่ได้ดี เหนื่อยง่าย หมดแรงเร็ว ตั้งใจว่าจะวิ่งให้ได้เท่านั้นเท่านี้ ก็วิ่งไม่ได้ซักที หลายๆคนโทษเรื่องร่างกายว่าอ้วนแบบนี้ ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างคนอื่น จะได้วิ่งได้เป็นสิบๆกิโล แต่เชื่อไหมครับ การวิ่งให้ได้ดี…ร่างกายเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แรงใจกับความมีวินัยต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพื่อนๆสามารถวิ่งได้ดีที่สุด
แอดมินมีเทคนิคจาก Dane Rauschenberg นักวิ่งชื่อดังที่ทำสถิติวิ่งมาราธอนทุกอาทิตย์เป็นเวลา 1 ปี ( 52 มาราธอน ใน 52 สัปดาห์!!) ในปี 2006 ทั้งยังเคยวิ่ง Solo ระยะทางกว่า 325 km มาแล้ว จากประสบการณ์กว่า 20 ปี ในการวิ่ง Rauschenberg มีคำแนะนำสำหรับนักวิ่งทุกคนที่อยากประสบความสำเร็จดังนี้

1. วางแผนชีวิต และทำให้ได้
เพื่อนๆหลายๆคนบ่นว่าไม่มีเวลาวิ่งเลย (แอดมินก็เป็น) วันๆหนึ่งกว่าจะไปถึงที่ทำงาน กว่าจะเลิกงาน ไหนจะฝนตก รถติด เพราะทุกคนต่างมีงาน มีภาระต่างๆต้องทำ แน่นอนว่าในวันๆหนึ่งเราคงจะมีช่วงเวลาที่ไม่ได้วิ่ง (Non-Race) มากกว่าช่วงที่วิ่งหรือออกกำลังกาย (Race) อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอากาศ การจราจร ไหนจะความเหนื่อยล้า ทะเลาะกับเพื่อน งอนกันแฟน หลักสำคัญคือเราต้องบริหารจัดการช่วง Non-Race ให้ได้ครับ ให้การวิ่งเป็นกิจวัตรที่เราต้องทำไม่ต่างจากการไปเรียน ไปทำงาน หรือเข้าประชุม ทุกคนต่างมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันในแต่ละวัน ไม่มีใครได้เกินแม้แต่วินาทีเดียว ใช้มันให้คุ้มค่าครับ วางแผนให้ดีและทำมันให้ได้

2. เลิกกังวลเรื่องคนอื่น
หลายๆคนเห็นเพื่อนวิ่งได้ดี ลง Half/Full Marathon แต่ตัวเองยังวิ่ง fun run อยู่ก็เริ่มหมดกำลังใจ บางคนซ้อมจนทำเวลาได้ดีขึ้นแล้ว แต่พอเทียบกับคนอื่นที่วิ่งได้ดีกว่าก็เริ่มหมดใจ แต่เชื่อเถอะครับ….ต่อให้พยายามหนักหนาสาหัสแค่ไหน ให้วิ่งได้เร็วขึ้นแค่ไหน ก็จะมีคนที่วิ่งได้เร็วกว่าเราอยู่ดี ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะไปเทียบกับคนอื่นครับ เพราะมันไม่แฟร์เลย คนเราเกิดมาไม่มีใครเหมือนกัน คนที่เราควรจะเทียบคือ “ตัวเราเมื่อวาน” ต่างๆหาก!! ถ้าวันนี้เราวิ่งได้ดีกว่าเมื่อวาน วิ่งได้เร็วกว่า นานกว่า รู้สึกว่าเราแข็งแรงกว่าคนในกระจกเมื่อวาน แค่นี้ก็เยี่ยมแล้วล่ะครับ

3. ก้าวข้ามความผิดพลาด
เพื่อนๆบางคนมักจำฝังใจกับประสบการณ์วิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นวิ่งได้ไม่จบ เกิดอาการบาดเจ็บ หรือทำเวลาได้ไม่ดี การเก็บเอามาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาการวิ่ง ปรับปรุงสิ่งที่ผิดพลาด เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรนำมาคิดมากไปจนทำให้เราพะวงกับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เหล่านักวิ่งประสบการณ์สูงล้วนเจอเรื่องแย่ๆมาเยอะ แต่เชื่อไหมครับว่าหลายคนทำ new record ได้ในการวิ่งครั้งถัดจากการวิ่งแย่ๆครั้งนั้นล่ะครับ

4. พักผ่อน
Rauschenberg เล่าว่าเค้าเป็น Coach มานาน และสิ่งที่กวนใจเค้ามากที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิตการเป็น Coach ของเค้าคือการที่เห็นลูกศิษย์เค้าซ้อมวิ่งใน Rest Day ซึ่งสมควรจะพักร่างกายให้เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน เนื่องจากการพักผ่อนถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากการซ้อมเลย ถ้าไม่พัก ร่างกายเราก็ไม่มีเวลาที่จะซ่อมแซม และพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น ในปี 2006 ที่ Rauschenberg วิ่งมาราธอนทุกอาทิตย์นั้น เชื่อไหมครับว่ากลับเป็นปีที่เค้าทำระยะวิ่งตลอดปีได้น้อยที่สุดปีหนึ่งในชีวิตการวิ่งของเค้า เพราะหลักสำคัญคือการพักผ่อนให้ร่างกายได้พักฟื้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอาทิตย์ถัดไปครับ

5. เรียนรู้ที่จะต่อสู้กับความเหน็ดเหนื่อย
หลายๆคนที่ถอดใจเลิกวิ่งหรือวิ่งได้ไม่ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกอึดอัดกับความยากลำบากที่ต้องกำลังเจอขณะกำลังวิ่ง ทำให้เลิกวิ่งกลางคัน Rauschenberg แนะนำว่าเราต้องแยกแยะอาการบาดเจ็บกับอาการเหนื่อยล้าให้ออกจากกันให้ได้ครับ และเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับอาการเหนื่อยล้า หิวข้าว กระหายน้ำ หลายๆคนพก Energy Gel ไว้รอบตัว ทั้งๆที่วิ่งแค่ 30 นาที ซึ่งร่างกายเราสามารถสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยอาหารเหล่านั้น แต่เป็นเราเองที่กลัวความเหนื่อยล้าเกินไปล่ะครับ ทางทีดีคือกาเรียนรู้ที่จะสนุกไปกับมันครับ สนุกไปกับการวิ่ง ตั้งเป้าหมายไว้พุ่งชน ดีกว่ามัวแต่กลัวความเหนื่อยล้าที่จะเกิด

สุดท้าย….อย่าลืมว่าเราโชคดีแค่ไหนที่ได้ตื่นขึ้นมาวิ่ง มีอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสนี้ ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาว เราจะง่วงหรือเพลีย ฝนจะตกหรือแดดจะแรง ขอแค่เราทำมัน!!! เริ่มออกไปวิ่ง และสนุกกับมันครับ 🙂


ที่มา
Dane Rauschenberg, 6 Ways to Maximize Your Running Success, Zelle Magazine

แปลและเรียบเรียงโดย ทีมงานวิ่งไหนดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น