วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ร่างกายเราถูกสร้างมาเพื่อเป็นนักวิ่งมาราธอน

ร่างกายมนุษย์อาจจะดูอ่อนแอ ถ้าเทียบกับสัตว์นักล่าอื่นๆ ไม่มีกงเล็บ ไม่มีเขา ไม่มีความแข็งแกร่ง ในด้านความเร็วเราก็ทำได้แค่กลางๆ เทียบกับชีตาร์ที่ระเบิดพลังพุ่งได้เร็วถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ม้าแข่งที่วิ่งเร็วสุดๆ 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สุนัขพันธุ์เกรย์ฮาวด์ที่วิ่งได้เร็วถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือแม้แต่แมวแถวบ้าน ก็ยังวิ่งได้ถึง 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วอะไรที่ทำให้เราหนีผู้ล่าหรือล่าเหยื่อได้ยังไง
.

มีการศึกษาที่บ่งบอกว่าร่างกายมนุษย์วิวัฒนาการให้เป็นนักวิ่งที่มีความอึดมากขึ้น
.
Dennis Bramble ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย Utah ได้กล่าวไว้ว่า ร่างกายของมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นนักวิ่งระยะไกล
.
ถ้าดูเพียงแค่ความเร็วของการวิ่งอย่างเดียว มนุษย์เราก็ไม่ได้ถือว่าเป็นนักวิ่งที่มีประสิทธิภาพหรือเป็นนักวิ่งที่เก่งอะไรเลย เพราะเราวิ่งไม่ทันเหยื่อ แต่มนุษย์เราสามารถวิ่งทางไกลมากๆ และเอาชนะม้าได้ ซึ่งความสามารถนี้นี่เองที่บรรพบุรุษของเราใช้เพื่อล่าเหยื่อ โดยการต้อนเหยื่อให้วิ่งเป็นระยะทางไกลๆ จากนั้นเหยื่อก็จะหมดแรงและกลายเป็นอาหารของเราในที่สุด
----------------------------------------------

ร่างกายเราถูกออกแบบมาให้ วิ่งมาราธอน
.
การศึกษาฟอสซิลอย่างละเอียดของมนุษย์ Australopithecus, Homo erectus และ Homo habilis พบการปรับเปลี่ยนในร่างกายที่มีความจำเป็นสำหรับการวิ่ง ได้แก่

1. เอ็นกล้ามเนื้อยาวที่คล้ายสปริง เช่น เส้นร้อยหวาย ที่ใช้เก็บสะสมพลังงานและช่วยลดการใช้พลังงานในการวิ่งได้ถึงครึ่งหนึ่ง และการศึกษาฟอสซิลพบว่า Australopithecus ไม่มีเอ็นร้อยหวาย

2. เท้าที่โค้งยาวของเรา ที่ทำหน้าที่เหมือนสปริง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวิ่ง พบได้ในมนุษย์ Homo habilis ขาที่ยาวก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการวิ่งระยะไกล เพราะความเร็วของการวิ่งจะได้มาจากการที่เราก้าวยาวๆ ไม่ใช่อัตราเร็วของการก้าว พบได้ในมนุษย์ Homo erectus เมื่อประมาณ 1.8 ล้านปีที่แล้ว การวิ่งจะทำให้เกิดความเครียดขึ้นในร่างกายอย่างมาก เยอะกว่าการเดินมาก การศึกษาบ่งบอกว่า ร่างกายมนุษย์ปรับเปลี่ยนพื้นที่ข้อต่อในท่อนล่างของร่างกายเพื่อลดแรงกระแทกในระหว่างวิ่ง

3. ส่วนหัวของเราก็มีส่วนช่วยในการวิ่ง เปรียบเทียบกับบรรพบุรุษของเราซึ่งสามารถวิ่งได้แค่ระยะสั้นๆ ร่างกายของมนุษย์เรามีส่วนหัวที่มีความสมดุลมากกว่า มีฟันและจมูกที่เล็กกว่า จมูกที่ยื่นออกมาข้างนอกก็เพื่อช่วยระบายความร้อน กระดูกสันหลังมีส่วนโค้งรูปตัว S ช่วยให้นั่งหรือยืนตรงได้ง่ายและข้อต่อก็ใช้พลังงานน้อย และศูนย์กลางของน้ำหนักที่ขยับไปยังด้านหลัง ทำให้ง่ายกว่าที่จะทำให้เกิดสมดุลเวลาวิ่ง

4. ร่างกายเรามีไหล่ที่กว้าง เอวที่แคบ ท่อนแขนที่สั้น นอกจากนั้นเรายังมีสะโพกที่ใหญ่ ทั้งหมดนี้ช่วยให้เราสร้างสมดุลของส่วนล่างในขณะที่เราวิ่ง

5. ร่างกายเรามีระบบระบายความร้อนที่ดีกว่า ในสัตว์บางประเภทจะระบายความร้อนด้วยการหายใจหอบเท่านั้น มนุษย์มีต่อมเหงื่ออยู่ทั่วร่างกายโดยจะทำงานแบบอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังมีขนตามตัวน้อยกว่า ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับการทำกิจกรรม เช่นการวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ

6. อาการฟินของนักวิ่งมาราธอนก็อาจจะเกิดจากวิวัฒนาการด้วยในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงใน Journal of Experimental Biologyy เค้าพบว่ามีสัตว์บางประเภทเท่านั้นที่เกิดอาการฟินจากการวิ่งได้ ซึ่งเป็นกระบวนการให้รางวัลกับตัวเราเอง เกิดจากการหลั่งของสารประเภท Endocannabinoids ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจ นักวิจัยได้วัดค่าระดับของสารนี้ในสมองของมนุษย์ สุนัขและพังพอน หลังจากวิ่ง และพบว่ามีแค่มนุษย์กับสุนัขเท่านั้นที่เกิดอาการฟินหลังจากการออกกำลังกายเป็นระยะเวลานานๆ
----------------------------------------------

ดูเหมือนว่าร่างกายเราจะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อวิ่งอย่างเดียว แต่ยังให้สนุกไปกับการวิ่งด้วย

ที่มา :
Humans Were Born to Run, Fossil Study Suggests http://news.nationalgeographic.com/…/1117_041117_running_hu…

Walking, running, and resting under time, distance, and average speed constraints: optimality of walk–run–rest mixtures http://rsif.royalsocietypublishing.org/content/…/81/20120980

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น