วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เปลี่ยนกล้ามเนื้อ ผลัดกระดูก

เรือนร่างนักวิ่ง

“เปลี่ยนกล้ามเนื้อ ผลัดกระดูก” วลีนี้เราอ่านเจอในหนังสือเรื่อง What I Talk About When I Talk About Running เป็นวลีที่มูราคามิใช้บรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาหันมาวิ่งต่อเนื่องหลายปี ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ค่ะ มองจากภายนอกอาจเห็นเพียงว่าพวกเราผอมลง คล้ามแดดมากขึ้น 
.
แต่จริงๆ แล้วเราเปลี่ยนแปลงในระดับองค์ประกอบของกล้ามเนื้อ ลงลึกไปจนถึงอวัยวะภายในและเซลล์เลยทีเดียว นั่นก็เพราะร่างกายคนเราไม่ได้แค่ทำงานตามสั่งเท่านั้น มันยังปรับตัวทุกองคาพยพ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะทำงานนั้นให้ดีที่สุดอีกด้วย มาดูกันค่ะว่าเมื่อเราสั่งมันซ้ำเป็นปีๆ ว่า “เราจะวิ่งแล้วนะ” เรือนร่างของพวกเราจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง 
.
=== องค์ประกอบกล้ามเนื้อเปลี่ยนไป ===
อย่างที่เคยเล่าไปเมื่อโพสต์ที่แล้วค่ะ นักวิ่งจะมีปริมาณเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดหนึ่งมากกว่าชาวบ้าน บางคนอาจสงสัยว่านักวิ่งไม่เห็นมีกล้ามเลย ดูผอมจะตาย...ใช่ค่ะ กล้ามเราอาจจะไม่ใหญ่ แต่ในกล้ามผอมๆ ของเรานั้นมีเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดที่จำเป็นกับการวิ่งระยะไกลมากกว่านักเพาะกายอีกนะ เส้นใยชนิดนี้แรงน้อย หดช้า แต่ทนทาน ใช้พลังงานจากไขมัน ชื่อของมันคือ Slow-twitch นั่นเอง
.
=== หัวใจใหญ่ขึ้น ===
พูดให้เจาะจงคือหัวใจห้องล่างซ้ายของเราจะใหญ่ขึ้น เพื่อให้ปั๊มเลือดออกไปได้คราวละมากขึ้น เนื่องจากเวลาวิ่ง กล้ามเนื้อจะต้องการออกซิเจนมากขึ้น แล้วออกซิเจนไปได้ทางเดียวเท่านั้น คือไปกับเลือด หัวใจจึงต้องปรับตัว เพราะไม่อย่างนั้น การปั๊มเลือดให้ได้เยอะๆ ก็ทำได้อย่างเดียวคือปั๊มถี่ๆ ซึ่งทำให้มันทำงานหนักเกินไป ผลข้างเคียงที่เห็นได้เมื่อเราวิ่งไปนานๆ ก็คือ หัวใจขณะพัก (RHR) ต่ำลง เพราะเมื่อปั๊มได้คราวละเยอะๆ ก็ไม่ต้องปั๊มถี่แล้วไงคะ ต่อไปนี้ใครที่ไปวัดชีพจรแล้วพยาบาลชอบทักว่าหัวใจเต้นช้าเกินไป ก็ยืดอกตอบไปเลยค่ะว่า “ผม/ดิฉัน เป็นคนใจใหญ่ ครับ/ค่ะ”
.
=== เลือดเยอะขึ้น ===
แค่หัวใจปั๊มเลือดได้คราวละมากขึ้นมันยังไม่พอ ถ้าไม่มีเลือดให้ปั๊ม ^ ^ ดังนั้นร่างกายของเราจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นด้วย เท่านั้นยังไม่พอ เซลล์เม็ดเลือดแดงของเราจะมีฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นกว่าชาวบ้านอีกด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งออกซิเจน (เหมือนที่เรียนชีวะตอนเด็กๆ ไงคะว่า ฮีโมโกลบินเป็นโปรตีนในเลือด มีหน้าที่ขนส่งออกซิเจน)
.
=== เส้นเลือดฝอยแผ่ไพศาล ===
นักกีฬา endurance อย่างเช่นนักวิ่งจะมีเส้นเลือดฝอยแผ่กิ่งก้านสาขายุ่บยั่บมากกว่าชาวบ้าน เพราะร่างกายอยากส่งเลือดไปถึงกล้ามเนื้อให้เร็วที่สุด คืองี้ ถึงไม่ได้เป็นนักวิ่ง เส้นเลือดฝอยก็พาเลือดไปถึงกล้ามเนื้อทุกเซลล์ได้ แต่ต้องอ้อมไง เลยใช้เวลานาน แต่ถ้าเราวิ่งอย่างต่อเนื่อง แค่หลักหลายสัปดาห์เท่านั้นแหละ เส้นเลือดฝอยจะปรับตัวโดยแผ่กิ่งก้านสาขาออกมา เพื่อทำหน้าที่เหมือนทางลัด พาเลือดและออกซิเจนไปถึงกล้ามเนื้อได้เร็วขึ้น สิ่งที่เรารับรู้ได้คือ เมื่อวิ่งด้วยเพซเดิม เราจะเหนื่อยน้อยลง เพราะกระบวนการขนส่งออกซิเจนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
=== ไมโตคอนเดรียเพิ่มขึ้น ===
เมื่อออกซิเจนมาถึงเซลล์กล้ามเนื้อ มันจะถูกส่งเข้าไปที่ไมโตคอนเดรีย เคยได้ยินชื่อนี้ตอนเรียนชีวะหรือเปล่าคะ มันคืออวัยวะหนึ่งของเซลล์ ทำหน้าที่ผลิตพลังงานให้เซลล์นั้นๆ ยิ่งเซลล์กล้ามเนื้อมีไมโตคอนเดรียเยอะ กล้ามเนื้อก็ยิ่งมีพลังงานมาก ดังนั้นเมื่อเราวิ่งอย่างต่อเนื่อง ร่างกายรู้แล้วว่ากล้ามเนื้อของเราต้องการพลังงานมากกว่าคนทั่วไป จึงปรับตัวด้วยการผลิตไมโตคอนเดรียเพิ่มขึ้น เซลล์กล้ามเนื้อของนักวิ่งจึงมีไมโตคอนเดรียชุกชุมกว่ากล้ามเนื้อชาวบ้าน
.
เห็นมั้ยคะ นอกจากเราจะบ้า(วิ่ง)เหมือนกัน ดูอ่อนกว่าวัยเหมือนกัน ลึกลงไปข้างในเรายังมีเรือนร่างแบบเดียวกันอีกด้วย
#BuriramMarathon2019 #YourUltimateDestination #Marathon #Marathon2019 #Buriram #Run #Sport #RunProgram #BRIC #ChangInternationalCircuit #BuriramMarathon #BRM #BRM2019 #RacedayFeb10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น