วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ไพชยนต์ เจนช่าง บทสุดท้าย

#สุดท้าย

"แผนการซ้อมของผมไม่ซับซ้อน วิ่งได้ก็ต้องฟื้นได้และฟื้นให้ดีด้วย เพราะผมเริ่มวิ่งตอนแก่ (หัวเราะร่วน)

"หลายคนเขาว่าผมโชคดีที่บาดเจ็บน้อยทำให้ยืดอายุวิ่งได้ยาว แต่เอาเข้าจริงๆผมคิดว่าการซ้อมกีฬามันต้องปลอดภัยไว้ก่อนแค่นั้นเอง ของแบบนี้มันป้องกันได้ ที่โชคดีของผมจริงๆเป็นเพราะคนรอบข้างเก่งๆช่วยแนะนำกลวิธีซ้อม ผมไปฟังอบรมจากสมาคมกีฬาจังหวัดเรื่องการดูแลนักกีฬาทำให้รู้ว่าหลายอย่างที่เราทำมันถูกตามหลักการจริงๆอย่างการวางแผนซ้อม ส่วนที่ไม่ถูกผมก็ปรับแก้ไข ในทีมที่ผมดูแลมีเยาวชนหลายคน จะปลูกฝังทั้งทีควรทำให้ถูกหลักการเป็นรากฐานให้น้องๆไปต่อยอดได้ไม่เสียเวลาหรือบาดเจ็บไปเสียก่อน

"แผนการซ้อมของผมแบ่งหยาบๆเป็นช่วงครับ...วางแผนซ้อมแบบคลุมทั้งปีเริ่มตั้งแต่ช่วงพักการแข่งหลัก(เมษายน-มิถุนายน)ที่ออกสนามน้อยมากๆและอากาศร้อนเกินกว่าจะซ้อมหนัก ส่วนมากซ้อมระยะสั้นๆไม่นาน เน้นไปที่จ๊อกกิ้งซะมาก ใครชวนไปเล่นอย่างอื่นก็ตามไปง่ายๆเลย เตะบอลนี่ของชอบ ว่ายน้ำก็ดีครับรู้สึกได้ขยับตัวมุมใหม่ๆและมันลดความเครียด สนุก ไม่คาดหวัง แต่ถ้าเข้าช่วงอินซีซั่นตารางจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นซ้อมจริงจัง เร็วขึ้น หนักขึ้น ยาวขึ้น เริ่มเน้นไปที่ระยะเป้าหมายและความเร็วที่ใช้แข่ง

"จันทร์.ผมเริ่มที่จ๊อกหญ้าสบายๆราวๆชั่วโมงตกเย็นก็เทมโป
.
อังคาร..เช้าผมลงความเร็วสั้นๆระดับแข่งส่วนเย็นก็จ๊อกสบายๆกับน้องในทีม เล่นกายบริหารเพื่อเสริมการเคลื่อนที่ให้ดีบ้างแต่โดยรวมไม่หนัก
.
พุธ...ว่างครับ กวาดอู่กับทำงานบ้าน เย็นเข้าสนามคุมเด็กๆซ้อมวิ่งกัน
.
พฤหัส....วิ่ง15-22Km.มาราธอนเพซ
.
ศุกร์.....เช้าวิ่งเทมโปครับ เย็นจ๊อกสบายๆ
.
เสาร์_อาทิตย์......เก็บระยะทางไกล

ถ้าเป็นช่วงใกล้แข่งงานหลัก ตารางจะเปลี่ยนเป็นชุดกระตุ้นและเร่งความเร็วเพื่อให้พีคและพร้อมแข่งอีกชั้น

"งานบางแสนผมเตรียมตัวตั้งแต่กรกฎาคมค่อยๆปรับเพิ่มทั้งความหนัก ระยะและความเร็วเป้าหมายจนพร้อมที่สุดในงานแข่ง

2:48 ชั่วโมงช้ากว่าที่ผมวางแผนไปเล็กน้อย และเขาสามมุกก็ชันกว่าที่ผมคิดมาก"

"ไม่ว่าข้อจำกัดของคุณจะมีมากขนาดไหน ผมแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการวางแผน หาฐานของตัวเองให้เจอ สร้างลำดับขั้นตอนทีละชั้นอย่ากลัวถูกผิด รายละเอียดการซ้อม วอร์มอัพ ยืดเหยียด อย่าให้ขาด อย่าเพิ่งวิ่งเร็วมาก ความเร็วที่ดีในมาราธอนมาจากการสะสมฐานของแอโรบิกเป็นประจำ จ๊อกช้าๆนี้แนะนำเลย เกินครึ่งของระยะทางวิ่งในแต่ละสัปดาห์ของผมคือจ๊อกเลยนะ

"ซ้อมน้อยผมไม่กลัว ผมกลัวซ้อมแล้วเจ็บมากกว่า"

..................

*อินซีซั่น(In Season) = เป็นช่วงเริ่มของฤดูแข่ง ไพชยนต์วางช่วงระยะไว้ในเดือนกรกฎาคมจนถึงตุลาคมก่อนที่จะเข้าช่วงแข่งจริงจังในเดือนพฤศจิกายนจนถึงมกราคม

**ระยะทางสะสมของไพชยนต์จะอยู่ราวๆ50-70Km.ต่อสัปดาห์ เท่านั้น

.................

ปัจจุบันไพชยนต์เปิดอู่เล็กๆอยู่ชานเมืองจันทบุรี ในสนามวิ่งใหญ่จะพบเขาอยู่เสมอๆ แต่เชื่อไหมว่าเขาต้องไหว้วานลูกสาวเป็นคนสมัครแข่งขันให้เพราะตัวเองไม่ถนัดการสมัครออนไลน์ในยุคปัจจุบันและกำลังอยู่ในขั้นเรียนรู้

"สมัครไม่เป็นไม่ใช่อุปสรรค ยังไงคู่แข่งก็ยังต้องเจอผมในสนามอยู่ดีนั่นล่ะ" ไพชยนต์ทิ้งท้าย

#ThaiRunฮับความสุขนักวิ่ง
|คิดถึงเรื่องวิ่ง คิดถึงไทยรัน

📷Cr:::Paichayon Jenchang

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น