วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อ่านก่อนกลับไปวิ่งสวน! 'หมอแอร์'เตือนยึดปัจจัย2ใน3 งดเมาท์มอย!


กทม.เปิดสวนแล้ว แต่นักวิ่งอ่านทางนี้ก่อน "หมอแอร์" เตือน วิ่งสวนสาธารณะให้ปลอดภัย ยึดปัจจัย 2 ใน 3 อยู่กลางแจ้ง, เว้นระยะห่างทางสังคม และใส่หน้ากาก กลุ่มฉีดวัคซีนแล้ว น่าจะสบายใจได้ แต่มีโอกาสติด ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีด หรือฉีดไม่ครบ เน้นใส่แมสก์ และต้องออกกำลังกายเบาๆ รีบวิ่งรีบกลับ ย้ำเตือนถ้าจะวิ่งในสวน อย่าขี้เมาท์ เน้นเก่ง เกิดคลัสเตอร์นักวิ่ง จะโดนปิดสวนยาวๆ 

ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมเมื่อวันที่ 31 พ.ค. เห็นชอบให้ผ่อนปรนเปิดสถานประกอบการบางประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.64 เป็นต้นไป โดยข้อ 5 สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ และสวนดอกไม้ ทั้งนี้ให้เปิดภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น ห้ามไม่ให้มีการนั่งร่วมกลุ่ม และไม่ให้นำอาหารเข้ามารับประทาน ยกเว้นน้ำดื่ม ทำให้กลุ่มคนออกกำลังกาย จะสามารถกลับไปใช้บริหารสวนสาธารณะได้อีกครั้ง


"หมอแอร์" นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลยันฮี, โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งถือเป็นคุณหมอนักกีฬา-นักวิ่ง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัว Akanis Srisukwattana แนะนำการออกกำลังกายในสวนสาธารณะในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังพุ่งสูง ใจความว่า การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ยังไม่เคยมีหลักฐานยืนยันการติดจากการออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ หรือกิจกรรมกลางแจ้งแบบเป็นรายบุคคล หรือ "คลัสเตอร์" ส่วนใหญ่ติดเชื้อจาก 3 ปัจจัยคือ 1.อยู่ในที่ปิด ยิ่งแคบ ยิ่งมีโอกาสมาก 2.อยู่ใกล้กันเกินไป คุย กินข้าว ทำกิจกรรมร่วมกัน 3.ไม่ใส่หน้ากากอนามัย


ทั้งนี้หากอยู่กลางแจ้ง, เว้นระยะห่างทางสังคม และใส่หน้ากาก โอกาสติดโควิดจะแทบไม่มี ซึ่งในทางปฏิบัติ ได้มีคำแนะนำ ให้ยึด 2 ปัจจัยใน 3 ดังกล่าว (อยู่กลางแจ้ง, เว้นระยะห่างทางสังคม และใส่หน้ากาก)

สำหรับการออกกำลังกายในสวนสาธารณะ หมอแอร์ แบ่ง 2 กลุ่ม คือ 1.ฉีดวัคซีนแล้ว หมายถึง ช่วงเวลาหลังฉีดซิโนแวค เข็ม 2 ไปแล้ว 4 สัปดาห์ หรือ หลังฉีดแอสตราเซเนกา เข็ม 1 ไปแล้ว 4 สัปดาห์ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานแล้ว มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่วัคซีน และการตอบสนองของคนนั้นๆ แต่เกือบทั้งหมดจะไม่ป่วยหนัก หรือเสียชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% กลุ่มนี้น่าจะออกกำลังกายในสวนสาธารณะได้อย่างสบายใจ ให้ยึดหลักการ 2 ใน 3 คือในการออกกำลังกลางแจ้ง หากเข้ากลุ่มคนมาก ระยะ 2 เมตร ให้ใส่แมสก์ ย้ำว่าให้นึกไว้เสมอว่ามีโอกาสติด และแพร่ไปสู่นักวิ่งคนอื่นได้ ถ้าอยู่ใกล้ชิดกัน จับกลุ่มคุยกัน


2.กลุ่มยังไม่ฉีดวัคซีน หรือยังฉีดวัคซีนไม่ครบ แม้ไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อจากการออกกำลังกายในสวนสาธารณะ แต่ต้องไม่ประมาท จนพร้อมใจกันไปวิ่งใกล้ๆ กัน ส่วนตัวแนะนำว่า ผู้ที่แข็งแรงดี ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น สูงอายุ เป็นเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ น่าจะสามารถออกกำลังที่สวนสาธารณะได้ แต่ต้องป้องกันด้วย 2 ปัจจัยคือเมื่อออกกำลังกลางแจ้ง แล้วเว้นระยะห่าง งดพูดคุย จับกลุ่มคุย ทานอาหารร่วมกัน ต่างคนต่างวิ่ง ไม่ต้องเกาะกลุ่มวิ่งไปด้วยกันยกเว้นว่ามาจากครอบครัวเดียวกันหรืออยู่ด้วยกัน เมื่อวิ่งเสร็จ แยกย้ายกลับบ้าน


ส่วนกลุ่มมีโรคประจำตัว มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้ใส่แมสก์ โดยเฉพาะถ้ามีผู้วิ่ง เดินไปมาเยอะๆ และควรออกกำลังเบาๆ อัตราการเต้นหัวใจไม่เกินโซน 2 ต้นๆ ไม่ออกกำลังหนักมาก เพราะการใส่แมสก์ขณะออกกำลังกาย ทำให้ Co2 (คาร์บอนไดออกไซด์) คั่งเป็นอันตรายได้ แต่ถ้าออกกำลังหนัก ควรเลือกเวลาที่คนไม่พลุกพล่าน หรือดีที่สุดก็ออกกำลังในหมู่บ้าน หรือที่ๆ คนน้อยจริงๆ แทน


หมอแอร์ทิ้งท้ายว่า การออกกำลังกายสวนสาธารณะ ในช่วงยอดผู้ผ่วยสูงทำสถิติเรื่อยๆ แบบนี้ ส่วนตัวคิดว่าทำได้ โอกาสติดมี แต่น้อยมาก หากเคร่งครัด 2 จาก 3 ปัจจัย (อยู่กลางแจ้ง, เว้นระยะห่างทางสังคม และใส่หน้ากาก) พร้อมเตือนว่า หากไปสวนสาธารณะแล้ว จับกลุ่มคุยสนุกสนาน วิ่งเกาะกัน ไม่รักษาระยะห่าง กลุ่มนักวิ่งอาจเป็นคลัสเตอร์ใหม่ และจะเกิดคลัสเตอร์จากการวิ่งสวนสารธารณะได้ จะทำให้สวนปิดอีกนาน

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/sports/846862/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น