วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563

วิ่งตะลุยฝุ่น เพื่อสุขภาพ หรือยิ่งแย่???

นักวิ่งไทย คงจะต้องทนอยู่กับฤดูฝุ่นไปอีกนาน เพราะเราคงจะไม่สามารถหยุดยั้งการเผาเพื่อทำการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของสถานการณ์ฝุ่นได้ ถ้าไม่มีนโยบายในภาพใหญ่เกิดขึ้น และถึงแม้เมืองไทยจะทำได้ ก็ยังมีประเทศเพื่อนบ้านที่ยังเผากันอยู่อีก... การออกไปวิ่งเพื่อสุขภาพนั้น ถ้ามีฝุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วล่ะก็ จะเป็นประโยชน์ให้สุขภาพดีขึ้น หรือยิ่งจะทำให้แย่ลงไปกว่าเดิมกันแน่ เราไปดูข้อมูลกันครับ

ก่อนอื่นผมขอขอบพระคุณ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ ที่เอางานวิจัย 2 ฉบับมาสรุปให้อ่านแบบเข้าใจง่าย... เพื่อนๆพี่ๆสามารถเข้าไปอ่านตาม Link นี้ได้เลยครับ https://www.facebook.com/…/a.125402748891…/144461890318508/…
----------------------------

ผมขออนุญาตเอางานวิจัย 1 ใน 2 ฉบับนั้นมาเล่าให้ฟังต่อครับ... งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ประเทศบราซิล กับมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ที่เปรียบเทียบประโยชน์ของการออกกำลังกายด้วยความหนักปานกลาง เช่น การวิ่งจ๊อกกิ้ง หรือปั่นจักรยาน ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

โดยเค้าเลือกเมืองที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นน้อยที่สุด กับมากที่สุดในโลกมาเปรียบเทียบกัน (ในที่นี้ขอพูดถึงเฉพาะฝุ่น pm2.5 นะครับ) เมืองที่อากาศดีที่สุด 10 อันดับแรกของโลกมีค่าเฉลี่ย PM2.5 ตลอดปีอยู่ที่ 3.36 ไมโครกรัม/ลบ.ม.เท่านั้น น่าบินไปสูดให้เต็มปอดจริงๆ... ส่วนเมืองที่อากาศแย่ที่สุดนั้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 121.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม. หรือประมาณ 36 เท่าของเมืองอากาศดี

พบว่าในเมืองที่อากาศดีนั้น เวลาที่เราหายใจเร็วขึ้น ลึกขึ้นจากการออกกำลัง เราไม่ได้สูดฝุ่นเข้าไปเยอะขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในเมืองที่อากาศแย่ เราสูดฝุ่นเข้าไปตอนออกกำลังมากกว่าเวลาพักอยู่เฉยๆแบบชัดเจน... และที่น่าสนใจคือ ถ้าเราหายใจปกติตอนพักเทียบกันระหว่างเมืองอากาศดี กับอากาศแย่ พบว่าเราสูดฝุ่นเข้าไปไม่แตกต่างกันนัก แต่ตอนออกกำลังที่หายใจเร็วขึ้น กลับพบว่ามีความแตกต่างกันของปริมาณฝุ่นที่สูดเข้าไปชัดเจน

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในงานวิจัยชิ้นนี้คือ ผู้วิจัยพบว่าถ้าเราออกกำลังแบบปานกลางในเมืองที่มีสภาพอากาศแย่นั้น จะได้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆเมื่อออกกำลังไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้น หลังจากนี้ประโยชน์จากการออกกำลังจะเริ่มลดลง อธิบายง่ายๆก็คือถ้าออกกำลังมากกว่า 15 นาที ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการออกกำลังนานขึ้นแล้วครับ... และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าออกกำลังนานกว่า 75 นาที จากที่ได้ประโยชน์จากการออกกำลัง จะเปลี่ยนกลายเป็นโทษทันที!!! หมายความว่า ถ้าจะออกกำลังเกิน 75 นาทีในเมืองที่อากาศไม่ดี สู้ไม่ออกกำลังเลยจะดีกว่า
----------------------------

แต่อย่าลืมว่า งานวิจัยนี้คำนวณในเมืองที่อากาศแย่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ซึ่งมีค่า pm2.5 เฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 121.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สำหรับในประเทศไทยนั้น มีค่าเฉลี่ย PM2.5 คือ 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม.เท่านั้น... เราจึงไม่ได้พบผลเสียจากการออกกำลังอยู่ตลอดเหมือนกับ 10 เมืองนั้นแน่ๆ

อย่าเพิ่งโล่งใจไปครับ การที่จะมีค่า PM2.5 สูงถึง 121.5 ได้นั้น คำนวณกลับไปจะเทียบได้กับค่า AQI ที่เราดูๆกันอยู่ประมาณ 185 เท่านั้นเอง... ซึ่งในช่วงฤดูฝุ่นนี้ บางจังหวัด บางพื้นที่ของประเทศไทย หรือแม้แต่ในกรุงเทพเองก็มีช่วงที่ค่า AQI สูงเกินกว่า หรือใกล้เคียงกับ 185 เหมือนกันนะครับ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีอากาศแย่เหมือนกัน 10 เมืองในงานวิจัย แต่ในช่วงที่ค่า AQI ขึ้นสูงๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งเถอะครับ ไปออกในฟิตเนส ไปวิ่งบนลู่ไฟฟ้าแทน แต่ก็ต้องเป็นสถานที่ที่มีเครื่องกรองอากาศด้วยนะครับ ถึงจะทำให้เพื่อนๆพี่ๆได้ประโยชน์จากการวิ่งอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ยิ่งวิ่งเยอะ สุขภาพยิ่งเสีย

ดูแลตัวเองกันด้วยนะครับทุกท่าน เป็นห่วง

Run Hard and Be Nice to People
หมอแป๊ป Learn and Run

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น