วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563

สารพัดข้ออ้างของคนอยากผอมแต่ไม่ยอมขยับ / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

วันนี้เจ้าเก่งเด็กอ้วนจอมตีไกลประจำก๊วนเฮียชูถูกพี่หมอสวดยับหน้าเหลือ 2 นิ้วนั่งคอตกเถียงไม่ออก สาเหตุจากอยากลดน้ำหนัก แต่ขี้เกียจออกกำลังกายหลอกให้พี่หมอไปวิ่งคนเดียว อ้างว่าวิ่งไม่ไหว เพราะกินอิ่มเกินไปอาหารยังไม่ย่อยและยังเช้าอยู่ "มึงอ้างสารพัดอย่างนี้แล้วเมื่อไหร่มึงจะผอมไอ้เวร!' พี่หมอสรุปอย่างมีน้ำโห

วิ่งตอนไหนดี?

บางคนชอบวิ่งในตอนเช้าในขณะที่บางคนชอบวิ่งหรือมีเวลาวิ่งแค่ตอนเย็นเท่านั้น ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเราไม่คุ้นเคยกับการตื่นเช้าเราก็ไม่ควรฝืนบังคับร่างกายให้ออกมาวิ่งตอนเช้า เพราะร่างกายเราอาจปรับตัวไม่ทันและทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้

ช่วงเวลาที่ร่างกายมีประสิทธิภาพสูงสุดและวิ่งได้ดีที่สุดคือช่วงบ่ายแก่ๆ เพราะเป็นช่วงเวลาที่อัตราส่วนของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและคอร์ติซอลอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกาย

ช่วงเย็นก็เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการวิ่งออกกำลังกาย เพราะเป็นช่วงที่อุณหภูมิร่างกายอุ่นขึ้นและระดับพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้มีออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องใช้งานได้มากขึ้น

- การหายใจ จังหวะการหายใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวิ่ง เพราะมีผลต่อการทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนได้เพียงพอต่อความต้องการ ถ้าระหว่างวิ่งเราไม่ได้รับออกซิเจนมากพอก็อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้ นอกจากนั้นยังทำให้ความสามารถในการวิ่งลดลง ทำให้วิ่งได้ช้าลงการกำหนดจังหวะการหายใจให้สัมพันธ์กับจังหวะการก้าวเท้าให้ประสานงานกันจะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าร่างกายจะได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ

- วอร์มอัพ การเริ่มวิ่งเร็วเกินไปโดยที่ไม่ได้วอร์มอัพจะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นกระดูกหรือข้อต่อ การวอร์มอัพที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นและเป็นการเพิ่มพลังจากอัตราการเต้นของหัวใจที่ค่อยๆ สูงขึ้น ทำให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับสภาพการวิ่งได้ง่ายขึ้นช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง วอร์มอัพประมาณ 15 นาทีก่อนวิ่ง โดยการยืดกล้ามเนื้อเดินหรือวิ่งช้าๆ ค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิและการไหลเวียนของเลือดให้มากขึ้น เพื่อความคล่องตัวและความทนทานให้ร่างกายและเตรียมความพร้อมให้กับสมองก่อนกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวเร็วและนาน

- คูลดาวน์ หลังจากวิ่งจบอัตราการเต้นของหัวใจและอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติหลอดเลือดบริเวณขาจะขยายออก ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงขามากขึ้น ถ้าหยุดกะทันหันอาจทำให้เกิดหน้ามืดและเป็นลมได้ ดังนั้นเราจึงควรเดินช้าลงเป็นเวลา 5 นาทีหรือดูว่าหัวใจเต้นช้าลงต่ำกว่า 120 หรือยังและต่อด้วยการยืดกล้ามเนื้อซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อหยุดเกร็งและป้องกันไม่ให้เป็นตะคริว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น