วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ใครควรตรวจประเมินร่างกายก่อนเริ่มออกกำลัง???

ช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา เพื่อนๆพี่ๆคงจะได้ข่าวเรื่องการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ขณะออกกำลังกันเป็นระยะๆ... เรื่องเหล่านี้ เราไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าจะเกิดกับใคร และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยนะครับ
----------------------------------

นอกจากการเรียนการทำ CPR หรือการปั๊มหัวใจ ที่มีการสอนกันมากขึ้นเรื่อยๆทั้งภาครัฐ นำโดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669 และภาคเอกชน องค์กรต่างๆ เช่น เพจ CPR ในสวน ที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนกันเป็นระยะแล้ว... อีกส่วนหนึ่งที่ยังมีคนพูดถึงไม่มากนัก ก็คือการตรวจประเมินร่างกายเพื่อให้รู้ความเสี่ยงก่อนออกกำลังครับ
จริงๆแล้วถ้าเป็นไปได้ เพื่อนๆพี่ๆที่อยากจะออกกำลังที่ใช้ร่างกายหนักๆ เช่น วิ่งมาราธอน หรือท่านที่มีความกังวลว่าจะเกิดปัญหากับตัวเอง และมีกำลังทรัพย์พอเพียง ผมก็แนะนำให้ไปตรวจเอาไว้เลยนะครับ มีข้อมูลเผื่อเอาไว้ให้เรารู้ดีกว่าครับ... แต่ถ้าท่านไหนเป็นคนมองโลกในแง่ดี คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองหรอก หรือไม่ได้มีภาวะเสี่ยงอะไร ผมก็เอาตารางคำแนะนำสำหรับผู้ที่จำเป็นที่จะต้องตรวจประเมินก่อนมาให้ดูกันครับ
----------------------------------
ก่อนหน้านี้คำแนะนำในการตรวจร่างกายก่อนออกกำลังจะครอบคลุมคนจำนวนมากกว่านี้ แต่เนื่องจากในบางกรณีอาจจะทำให้คนที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องตรวจประเมินถูกรวมเข้ามาเยอะเกินไป... คำแนะนำใหม่จาก American College of Sports Medicine(ACSM) ในปี 2015(ล่าสุด) จึงมีปัจจัยในการพิจารณามากขึ้นครับ
โดยจะนำเอาทั้งความสม่ำเสมอในการออกกำลัง ความหนักในการออกกำลัง และอาการแสดงต่างๆจากโรคประจำตัวมาประกอบคำแนะนำด้วย... (ตาราง Flow Chart เป็นตามในรูปนะครับ)
----------------------------------
เมื่อไล่ดูตามปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้มีกลุ่มที่ #ควรตรวจประเมินก่อนการออกกำลังกาย ดังนี้ครับ
1. ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ และมีโรคประจำตัว เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคไต หรือมีอาการของโรคต่างๆเหล่านี้
2. ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่มีอาการของโรคประจำตัว คือโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน และโรคไตอยู่
โดยอาการของโรคเหล่านี้ก็เช่น หน้ามืด ใจสั่น แน่นหน้าอก ขาบวม เป็นต้น
จะเห็นว่าทั้งในผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และไม่เป็นประจำ ถ้าไม่ได้มีโรคประจำตัว หรือไม่ได้มีอาการของโรคเหล่านี้ ก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องตรวจประเมินก่อนเริ่มออกกำลังนะครับ... แต่ความหนักของการออกกำลังที่แนะนำ ก็จะแตกต่างกันออกไป(รายละเอียดรบกวนดูในตารางที่ทำไว้ครับ)
----------------------------------
ส่วนวิธีการตรวจประเมินนั้นก็มีหลายขั้นตอน ขึ้นอยู่กับโรค และอาการของแต่ละคน... แต่การตรวจที่มีความสำคัญ และจะทำให้เรารู้ถึงความเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจหยุดเต้นระหว่างออกกำลังนั้น ก็คือ”การวิ่งสายพาน”ครับ ซึ่งอาจจะเพิ่มการตรวจการทำงานของหัวใจ หรือ Echocardiogram เข้าไปด้วย ก็จะได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นครับ
----------------------------------
บทความนี้ค่อนข้างจะวิชาการจัดนิดนึงนะครับ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่คนออกกำลังกายทุกคนควรรู้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง และคนรอบข้าง
ขอให้ทุกท่านสามารถออกกำลังได้อย่างมีความสุข และปลอดภัยนะครับ
Run Hard and Be Nice to People
หมอแป๊ป
----------------------------------
Reference:
Exercise Preparticipation Health Screening Recommendations
http://certification.acsm.org/…/acsm-101-prescreeninginfogr…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น