MICE & Communication
10 กันยายน ·
ที่มา: https://www.facebook.com/miceandcom/posts/3860626687284357
การวิ่งมาราธอน เป็นกีฬาอย่างหนึ่ง ที่ต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจอย่างมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ระยะ ฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร และฟูลมาราธอน 42.195กิโลเมตร เป็นกีฬา ที่ต้องใช้ความแข็งแรง ความทนทานของกล้ามเนื้อ รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ เป็นเวลานาน ใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถวิ่งได้ในระยะทางและระยะเวลาที่กำหนด การฝึกซ้อมเพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่งพอเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะทำให้สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยได้แล้ว ยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการวิ่งได้อีกด้วย
.
นักวิ่งหน้าใหม่หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่าการวิ่งมาราธอนมีผลในด้านลบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมที่ถูกต้อง
.
มาราธอนมีผลต่อร่างกายของเราอย่างไรบ้าง ?
.
🌟 ระบบกล้ามเนื้อ
การวิ่งระยะยาวมีผลทำให้เกิด อาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อล้า รวมทั้งกล้ามเนื้ออักเสบ อาการบาดเจ็บที่สำคัญ เช่น ปวดเข่า เอ็นข้อเข่าอักเสบจากการวิ่ง เอ็นรองฝ่าเท้าอักเสบ เอ็นด้านข้างต้นขาอักเสบ กล้ามเนื้อหน้าแข้ง และเอ็นร้อยหวายอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการฝึกซ้อม โดยปกติคนที่เคยวิ่งมาราธอนมาก่อน จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ในการซ้อม แต่สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่อาจจะต้องใช้เวลา 4 เดือน หรือมากกว่านั้น ด้วยการเพิ่มระยะเวลาวิ่ง และความเร็วอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ต่อสัปดาห์ เพื่อให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ เพิ่มความคุ้นชินกับการลงน้ำหนัก และการเคลื่อนไหว รวมทั้งการบริหาร เพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว กล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อขา ซึ่งช่วยป้องกันการบาดเจ็บ
ในการวิ่งที่มีระยะเวลาที่ยาวนานนั้น นอกจากอาจเกิดการบาดเจ็บหลักๆที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว
อาการบาดเจ็บจากกล้ามเนื้อล้า ซึ่งมีผลมาจากการที่ร่างกายใช้ไกลโคเจน ที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อจนหมดไป ก็สามารถพบได้บ่อยๆ โดยปกติหากร่างกายออกกำลังกายที่ความหนักระดับปานกลาง เป็นเวลา 90-180 นาที หรือ ระดับหนัก 15-30 นาที จะมีการสลายไกลโคเจนเพื่อมาเป็นพลังงาน เพราะฉะนั้นทั้งก่อนและขณะวิ่งต้องมีการรับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายมีพลังงานที่เพียงพอ โดยการโหลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตสำหรับการวิ่ง เพื่อป้องกันการวิ่งแล้วหมดพลังงาน หรือที่นักวิ่งรู้จักกันว่า “ วิ่งชนกำแพง” และป้องกันอาการกล้ามเนื้อล้าหลังจากวิ่ง
นอกจากนี้ในระหว่างการวิ่ง กล้ามเนื้อจะเกิดการบาดเจ็บจากการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อระดับเซลล์ (micro-tear)ตลอดการวิ่ง ร่างกายของเราจะมีกลไกซ่อมแซมและฟื้นฟูอาการเหล่านี้ได้เองหลังจากได้พัก หยุดการใช้งาน พักผ่อนให้เพียงพอและ รับประทานอาหาร อย่างเหมาะสม ซึ่งร่างกายจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังวิ่งมาราธอนเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ก่อนจะกลับมาทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
.
🌟 เซลล์
การวิ่งมาราธอนส่งผลระดับเซลล์ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้น ทั้งกล้ามเนื้อที่ใช้ในการวิ่ง รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ สามารถตรวจพบเอ็นไซม์ ครีอาตินีนไคเนส ในเลือดของนักวิ่งมาราธอน หลังจากแข่งวิ่งในระดับสูง ซึ่งนอกจากมีผลต่อการอักเสบกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อล้าแล้ว ยังจะมีผลต่อการกดภูมิคุ้มกัน ร่างกายจึงต้องการเวลาพักฟื้นโดยประมาณ 7-10 วันเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ
.
🌟 ระบบภูมิคุ้มกัน
การออกกำลังกายอย่างหนัก รวมทั้งการวิ่งระยะยาวอย่างมาราธอน มีผลให้เกิดความเครียดทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ทำให้ต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนความเครียดเพิ่มมากขึ้น และการเกิดปฏิกิริยาการสร้างอนุมูลอิสระระดับเซลล์ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ในระหว่างการซ้อม จึงจำเป็นต้องมีวันพัก ไม่ควรซ้อมวิ่งติดต่อกันทุกวัน การฝึกซ้อมมากเกินไป(Overtraining) จะยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง การหยุดเว้นวันซ้อมนอกจากช่วยให้กล้ามเนื้อได้พักแล้ว ยังช่วยลดความเครียดของร่างกายลงอีกด้วย หลังจากวิ่งมาราธอน ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงอย่างมาก ทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจและเป็นหวัดได้ง่าย โดยเฉพาะ 3 วันแรกหลังจากวิ่งมาราธอน ควรพักผ่อนอยู่บ้าน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เสริมวิตามิน ยังไม่ควรเริ่มซ้อมวิ่ง เพื่อให้ร่างกายได้พักเต็มที่ และภายใน 2-3 สัปดาห์หลังวิ่งมาราธอนไม่ควรลงแข่งรายการอื่นเพิ่ม
.
🌟 ระบบหลอดเลือดหัวใจ
เมื่อมีการออกกำลังกาย ส่วนต่างๆ ของร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น หัวใจพยายามบีบตัว เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เป็นผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หากไม่ได้รับการฝึกซ้อมที่เหมาะสมทำให้ ความอึด ความทนในการออกกำลังกายมีน้อย โดยเฉพาะนักวิ่งหน้าใหม่ เมื่อร่างกายต้องเจอการออกกำลังกาย ที่หัวใจบีบตัวอย่างหนักและต่อเนื่อง อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้ ในลอนดอน มาราธอน มีการรายงานผู้เสียชีวิตจากการวิ่งแล้วทั้งหมด 11 คน และ 8 คนเสียชีวิตจากหัวใจวาย หรือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งมักพบในนักวิ่งที่ขาดการฝึกซ้อมที่ถูกต้องและเพียงพอ
จะเห็นได้ว่าการวิ่งมาราธอนนั้น นอกจากมีใจอยากวิ่งแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการเตรียมตัวอย่างถูกต้อง เพื่อป้องการบาดเจ็บหรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยสุขภาพที่ดี
.
“ซ้อมให้พอ พักให้พอ กินให้พอ แล้วค่อยวิ่งมาราธอน”
.
Credit : Bangkok Hospital
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น