วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

เคล็ดลับการวิ่งของนักวิ่งมาราธอนระดับโลก ส่วนหนึ่งมาจากจุลชีพในลำไส้!?

 Cancer Precision Medicine

25 มิถุนายน 2019  · 

เคล็ดลับการวิ่งของนักวิ่งมาราธอนระดับโลก ส่วนหนึ่งมาจากจุลชีพในลำไส้!? 🏃‍♂️






✳️ การวิ่งเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมงานวิ่งที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจของกิจกรรมวิ่งระดมทุนต่าง ๆ ของนักร้อง ดารา สถาบันการแพทย์ เป็นต้น ในปัจจุบันการวิ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก 

✳️ การวิ่งที่เป็นความฝันของนักวิ่งหลายคนคือ มาราธอน ด้วยระยะทางที่ยาวถึง 42.195 กิโลเมตร การวิ่งให้จบถึงเส้นชัยได้ต้องอาศัยร่างกายที่แข็งแรง มีการฝึกฝนนานหลายเดือน และอาศัยโภชนาการที่ดี ยิ่งระดับสนามแข่งขันต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศ และระดับโลก เช่น World Major Marathon 6 รายการ มีนักวิ่งลงแข่งขันหลายหมื่นคน และยังเป็นสนามที่เหล่านักวิ่งระดับโลกที่เรียกว่า Elite Runners เข้าประลองความเร็วกันด้วย

✳️ การจะเป็น Elite Runners นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีรูปร่างที่เหมาะสม คือ ร่างบาง แต่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีไขมันในร่างกายน้อยมาก เพราะรูปร่างแบบนี้ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ใช้พลังงานน้อยกว่า กล้ามเนื้อเป็นแหล่งใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพสูง มีการใช้ออกซิเจน ร่วมกับการกำจัดของเสียต่าง ๆ จากกล้ามเนื้อเช่น lactate ได้ดีกว่าคนปกติ นอกจากนี้ Elite Runners มีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอตลอดปี มีการดูแลโภชนาการที่เหมาะสม ทำให้นักวิ่งกลุ่มนี้สามารถวิ่งกว่า 42 กิโลเมตร ด้วยความเร็วมากกว่าคนทั่วไปอย่างเราวิ่ง 5 กิโลเมตรด้วยซ้ำ

✳️ นอกจากปัจจัยร่างกาย อาหาร การฝึกซ้อมแล้ว มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่ทำให้ Elite Runners กลุ่มนี้วิ่งได้ดี 

✳️ ผลงานวิจัยตีพิมพ์ใน Nature Medicine เมื่อวานนี้ เป็นการศึกษาจากทีมนักวิจัย Harvard ทำการศึกษาจุลชีพในลำไส้ (gut microbiome) ของนักวิ่งมาราธอน 15 รายที่ลงแข่งขัน Boston Marathon เทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นคนทั่วไปใช้ชีวิตนั่ง ๆ นอน ๆ (sedentary lifestyle) 10 ราย โดยใช้ 16s rDNA sequencing โดยศึกษาจากตัวอย่างอุจจาระรายวันตั้งแต่ก่อนลงแข่ง 1 สัปดาห์เรื่อยไปจนถึง 1 สัปดาห์หลังแข่งขัน รวมตัวอย่างตรวจกว่า 200 ตัวอย่าง 

✳️ การศึกษาพบแบคทีเรียตระกูลหนึ่งชื่อ Veillonella ของนักวิ่งมีจำนวนมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ปริมาณของ Veillonella เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเทียบกันระหว่างช่วงก่อนแข่งขันและหลังแข่งขัน โดยพบว่าปริมาณเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนแข่งขันและยังคงเพิ่มสูงขึ้นหลังจบการแข่งขันไปแล้ว โดยปริมาณเชื้อนี้ไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมหรือลักษณะการกินอาหารก่อนและหลังแข่งแต่อย่างใด

✳️ เพื่อศึกษาเชื้อนี้ว่าส่งผลอะไรกับร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย ทีมนักวิจัยทำการแยกเชื้อ Veillonella atypica (V. atypica) จากนักมาราธอนคนหนึ่ง นำมาเพาะเลี้ยงแล้วใส่ในหนูทดลอง เทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ได้รับ Lactobacillus bulgaricus จากนั้นให้หนูวิ่งบนสายพานเพื่อดูระยะเวลาที่หนูวิ่งได้ พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับ V. atypica วิ่งได้ระยะทางไกลกว่าหนูที่ได้รับ L. bulgaricus ถึง 13% และเหนื่อยช้ากว่า นอกจากนี้การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ก็พบว่าหนูที่ได้ V. atypica ตรวจพบระดับ inflammatory cytokines ในเลือดหลังวิ่งต่ำกว่า

✳️ เนื่องจากเชื้อกลุ่ม Veillonella มีความสามารถในการ metabolize สาร lactate ไปเป็น short chain fatty acid (SCFA) เช่น acetate และ propionate ผ่าน methylmalonyl-CoA pathway ซึ่งต่างจากเชื้อจุลชีพกลุ่มอื่น รวมถึงมนุษย์ด้วยที่ส่วนใหญ่ของ lactate ถูก metabolize ด้วยเอ็นซัยม์ lactate dehydrogenase ซึ่งการที่นักวิ่งกลุ่ม Elite Runners และหนูที่ทดลองที่มี Veillonella ในลำไส้มาก สามารถกำจัด lactate ที่เกิดขึ้นในร่างกายจากการวิ่งได้ดีกว่าคนทั่วไปและหนูกลุ่มควบคุม ผ่าน methylmalonyl-CoA pathway โดย Veillonella ในลำไส้ นอกจากนี้ propionate ซึ่งเป็น SCFA ที่สร้างขึ้นจาก lactate metabolism ยังถูกดูดซึมกลับสู่กระแสเลือดและมีผลให้ร่างกายมีการใช้ออกซิเจนได้ดีขึ้น และเพิ่มการใช้พลังงานจากไขมันได้ดีขึ้นด้วย การศึกษายืนยันด้วยการให้ propionate กับหนูพบว่าหนูกลุ่มนี้วิ่งสายพานได้นานกว่ากลุ่มควบคุม คล้ายคลึงกับหนูที่ได้ Veillonella

✳️ โดยสรุป การศึกษานี้น่าจะเป็นการศึกษาแรกที่แสดงให้เห็นว่า จุลชีพในลำไส้มีบทบาทเกี่ยวกับประสิทธิภาพการออกกำลังกายของมนุษย์เราด้วย แต่ยังมีหลายคำถามที่ต้องอาศัยการวิจัยเพิ่มเพื่อหาคำตอบต่อไป โดยเฉพาะคำถามที่ว่า เหตุใดนักวิ่งกลุ่มนี้จึงมี Veillonella ในลำไส้มากกว่าคนทั่วไป

แต่อย่ามัวสนใจเรื่องจุลชีพอย่างเดียวครับ การฝึกซ้อมสม่ำเสมอ ช่วยให้วิ่งได้ดีแน่ ๆ ... ออกไปวิ่งกันเถอะ 😅🏃‍♂️👍

ที่มา: Scheiman J, et al. Meta-omics analysis of elite athletes identifies a performance-enhancing microbe that functions via lactate metabolism. Nat Med (2019) Published on June 24, 2019 

https://www.nature.com/articles/s41591-019-0485-4

===🌟⭐️🌟===

ด้วยนโยบายใหม่ของ facebook ที่ปรับเปลี่ยนการนำเสนอข้อมูลผ่าน News Feed อาจทำให้สมาชิกและผู้สนใจไม่เห็นข่าวสารและอัพเดทสำคัญได้ ท่านสามารถปรับให้เพจนี้เป็น "See First" เพื่อไม่ให้พลาดอัพเดทและเนื้อหาวิชาการของเพจเราครับ 😊✌️

ที่มา: https://www.facebook.com/CAPrecisionMed/photos/a.1179821158703016/2517486298269822/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น