วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563

ภาวะล่มสลายของกล้ามเนื้อในการแข่ง อันตรายถึงชีวิต!​!!

เมื่อวานมีนักกีฬา ไปแข่ง Ironman 70.3.บางแสน Inbox มาหาผม พร้อมส่งผล Lab ให้ดู
พบว่า Enzyme กล้ามเนื้อ ที่ปกติ ควรแค่หลักสิบ ขึ้นไปถึง 2 หมื่นกว่า​ ปวด บวมกล้ามเนื้อ เพราะร่างกายเกิดภาวะ Rhabdomyolysis หรือภาวะกล้ามเนื้อแตกสลาย

ภาวะนี้ จะนำไปสู่การเกิดไตวายเฉียบพลัน เกลือแร่ผิดปกติรุนแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ความยากในการวินิจฉัย

ภาวะกล้ามเนื้อสลายรุนแรง อาการ อาจคล้ายการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังแข่งธรรมดา จนไปถึงปวดมาก จนมีการบวมของกล้ามเนื้อได้ สิ่งที่ช่วยวินิจฉัยได้ คือ​ สีของปัสสาวะ ที่เปลี่ยนเป็น น้ำตาล ถึงแดง จาก Myoglobin ใน Cell ที่แตกสลายลงไปสู่ปัสสาวะ

ดังนั้นหลังแข่งกีฬา ถ้านักกีฬา มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่มากกว่าปกติ และมีการบวมของกล้ามเนื้อ หรือพบปัสสาวะ สีน้ำตาล ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจ Enzyme กล้ามเนื้อ ว่ามีภาวะกล้ามเนื้อแตกสลายหรือไม่

ทุกครั้งที่มีการแข่งขัน ยิ่งออกแรงมาก ยิ่งระยะไกลมาก จะมีการแตกสลายของกล้ามเนื้ออยู่แล้ว ถ้าเราเจาะดู Enzyme กล้ามเนื้อ ก็จะพบว่าค่า CPK มีค่าสูงกว่าปกติ อาจเป็นหลักร้อย หรือขึ้นเป็นหลักพันต้นๆ ถ้าค่าที่เกินหลายพันขึ้นไป แพทย์จะต้องติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด​เพื่อ​ ป่องกันภาวะ​ Rhabdomyolysis.​เพราะค่ากล้ามเนื้อจะค่อยๆสูงขึ้น มากที่สุด 72 ชั่วโมงหลังแข่ง หรือประมาณ 3 วัน​

ตอนที่ พี่ตูน วิ่งใน ก้าว เบตงถึงแม่สาย สิ่งที่จะหยุดไม่ให้พี่ตูนไปต่อได้ ไม่ใช่จากความเจ็บปวด ความเหนื่อยล้าจากการวิ่ง แต่เป็นจากภาวะ Rhabdomyolysis ทางทีมแพทย์ได้มีการตรวจผลเลือดเป็นระยะๆ และเคยมีค่าขึ้นสูงถึง 4 พันกว่า ในช่วงเข้ากรุงเทพ จนต้องพักวิ่งและมีการให้สารน้ำ จึงสามารถทำให้ Enzyme กล้ามเนื้อลดลงได้

ทำไมถึงเกิด rhabdomyolysis

ตั้งต้นที่ การออกกำลังกายที่มากเกินไป เมื่อเทียบกับการซ้อม ทำให้กล้ามเนื้อแตกสลาย

เช่น การซ้อมไม่ถึงระยะ แต่ไปแข่งระยะไกล เกินที่กล้ามเนื้อจะรับไหว เราพบได้บ่อยขึ้นในนักกีฬา ที่เคยจบระยะไกล Ironman มาแล้วในอดีต แต่อาจเตรียมความพร้อมในการแข่งครั้งนี้ไม่พอ แล้วลงแข่งขัน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงไม่พอในการออกกำลังกายที่นานขึ้น​ หนักขึ้นแบบทันที​ จึงมีการแตกสลายของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น

ปัจจัยส่งเสริมมีอะไรอีก

ปัจจัยส่งเสริม ที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อแตกสลายมากขึ้นได้แก่
- ภาวะขาดน้ำ กินน้ำไม่พอ
- อากาศที่ร้อน ชื้นมาก และสามารถนำไปสู่ Heat Stroke ได้
- การระบายเหงื่อที่ผิดปกติ เช่น ชุดแต่งการที่ไม่ระบายความร้อนได้
- เกลือแร่ Potassium ต่ำ จากการเสียเหงื่อ

นักกีฬาควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันภาวะ กล้ามเนื้อแตกสลาย

1 ไม่ใช้บุญเก่า ซ้อมมาระดับไหน แข่งระดับนั้น

2 ดื่มน้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ ในการแข่งขัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด

3 หลีกเลี่ยงการแข่งในอากาศร้อน ถ้ารู้ว่าโดนปิ้งย่างแน่นอน ให้ Hydration และ Cool ร่างกาย โดยใช้ ฟองน้ำ น้ำเย็น น้ำแข็ง ระหว่าง Station ช่วย

4 หลังแข่งให้สังเกต อาการ ปวด บวมกล้ามเนื้อ ที่ผิดปกติ หรือสีปัสสาวะที่กลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ถ้ามีให้รีบพบแพทย์ทันที อาการเกิด ตั้งแต่ 12 ชั่วโมง จนถึง 3 วันหลังแข่งครับ

ซ้อมแค่ไหนก็แข่งเท่านั้นนะครับ​ จะได้เข้าเส้นชัย​ สนุกกับการแข่งขันแบบพี่เต๋า​ สมชาย​

หมอแอร์

Cr
ภาพ​ Thailand Trileague

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น