โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าช่วงเวลาที่สนุกที่สุดของการเป็นโค้ช คือ ช่วงที่ได้นั่งคุยกับนักกีฬาเพื่อตั้งเป้าหมาย และวางแผนการซ้อมในฤดูกาลต่อไป เพราะ บรรยากาศในช่วงเวลานี้จะเต็มไปด้วยความหวัง และแรงบันดาลใจของนักกีฬา ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยหล่อเลี้ยง และเป็นแรงผลักดันให้กับโค้ชอย่างมาก ทุกครั้งที่เห็นนักกีฬาประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ
.
ผมรู้สึกมีความสุขมากกว่าที่ตัวเองสามารถข้าม Finish Line ได้เองเสียอีก ดังนั้น ในบทความนี้ ผมจึงอยากแบ่งปันเทคนิคเพื่อใช้ในการตั้งเป้าหมาย และเพื่อการวางแผนการซ้อมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เรียกว่า "SMART"
.
การวางแผนให้ "SMART" อาจจะเป็นคำที่คุ้นหูสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าหลักการนี้ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการกีฬาเช่นเดียวกันเพื่อให้แผนมีความชัดเจน และสามารถทำให้สำเร็จได้
.
โดยที่ S ย่อมาจาก Specific หรือมีความเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าปีหน้าเราตั้งใจจะทำเวลาให้ดีขึ้น แต่ต้องเจาะจงไปว่าทำเวลาที่ระยะอะไร คือเราต้องรู้ว่าจะปักธงที่ไหน ในกรณีนี้คือ A Race ของเราคืองานอะไร เช่น สำหรับปีหน้านี้ ผมตั้งใจจะไป IRONMAN
.
M ย่อมาจาก Measurable หรือสามารถวัดได้ กล่าวคือ หลังจากเรารู้ว่าเป้าหมายของเราคือต้องการทำเวลาให้ดีขึ้นในการแข่งขัน IRONMAN จากนั้นเราต้องพิจารณาว่าเราต้องการให้เวลาดีขึ้นมากน้อยเท่าไหร่ จะต้องระบุให้เป็นค่าที่วัดได้ชัดเจน เช่น ครั้งล่าสุดที่ผมแข่ง IM ผมทำเวลาไว้ 14.20 ชั่วโมง ในครั้งนี้ผมต้องการทำเวลาให้ได้ 13 ชั่วโมง
.
A ย่อมาจาก Achievable หรือสามารถบรรลุได้ หรือ ในอีกมุมหนึ่งคือเป้าหมายนั้นเป็นไปได้หรือไม่ และเมื่อพิจารณาจาก เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 13 ชั่วโมง นั่นแปลว่าผมจะต้องตัดเวลาออกจากเดิม 1.20 ชั่วโมง หรือ 80 นาที ซึ่งคิดเป็น 10% ซึ่งก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผล แต่ก็ต้องวางแผนให้ดีว่าจะตัด 80 นาทีออก จากส่วนใดบ้าง โดยในส่วนนี้ต้องพิจารณาถึงจุดอ่อนจุดแข็งของนักกีฬา ข้อผิดพลาดต่างๆในฤดูกาลก่อน เพื่อระบุให้ได้ว่าในครั้งนี้เราจะว่าย ปั่น วิ่ง อย่างละกี่นาที เพื่อให้ได้เวลาตามที่กำหนดไว้
.
R ย่อมาจาก Relevant หรือมีความสัมพันธ์ สืบเนื่องจากข้อข้างบน การจะสร้างพัฒนาการ 10% ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ต้องอาศัยทรัพยากรจากนักกีฬาพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของเวลาการซ้อม เพราะว่านักกีฬาหลายๆท่านไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ ต่างก็มีภาระงานประจำ มีครอบครัวที่จะต้องดูแล ดังนั้น การแบ่งเวลามาซ้อมกีฬาถือเป็นเรื่องสำคัญ ในกรณีนี้ ผมโสด ทำงานตอนกลางวัน สามารถซ้อมได้ในช่วงเย็น ประมาณ 1.30 ชั่วโมง และสามารถซ้อมยาวๆได้ในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอสำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้
.
T ย่อมาจาก Time Bound หรือกรอบระยะเวลา ในขั้นตอนสุดท้าย เราจะต้องกำหนดว่าเราต้องการไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้เมื่อใด ซึ่งสำหรับผมแล้วด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง ผมเลือกที่จะไป IRONMAN Gurye Korea 2018 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2561 นั่นหมายความว่าผมมีเวลา ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันแข่งประมาณ 8 เดือน ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอสำหรับเป้าหมายนี้
.
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น ช่วงเวลาที่สนุกที่สุดของการฝึกซ้อมคือช่วงของการวางแผน เพราะในขณะที่ผมกำลังพิมพ์อยู่นี้ ก็รู้สึกตื่นเต้นกับการค้นหางานแข่ง B และ C Race อยู่เช่นกัน สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านสนุกกับการวางแผนและการฝึกซ้อมในฤดูกาลหน้านะครับ
#kcoaching
Certified Triathlon Coach by ITCA
IG: @kcoaching8082
Line: @kcoaching
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น