วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561

ชีวิตนักวิ่งหลังวัย 50+

ถึงเวลาต้องมาทบทวน การฝึกฝนการวิ่งที่ทำๆกันมาตลอดชีวิต หาไอเดียใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับวัยของนักวิ่ง มาดูสิว่าต้องปรับอะไรกันบ้าง

1. การลงแข่งวิ่ง

ตอนช่วงวัยแข็งแรง เราจะมองกันแต่เรื่องของชัยชนะจากการแข่งขัน แต่คนวัย 50+ จะเริ่มมีมุมมองที่แตกต่าง จะหันมาให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพที่ดีเป็นหลัก หาเพื่อนหาฝูง และวิ่งเป็นงานอดิเรก

การวิ่งมีความหมายมากกว่าการได้รับชัยชนะ คนวัยนี้จะหันมามองตัวเองมากขึ้น แทนที่จะคิดแต่จะเอาชนะคนอื่น การวิ่งก็เลยหวังไว้แค่ให้วิ่งมาราธอนให้สำเร็จ วิ่งมาราธอนให้ได้หลายๆงาน หรือแม้แต่ลงระดับอัลตร้ามาราธอน
เป็นการแข่งขันกับตัวเอง เป้าหมายชัยชนะเปลี่ยนไปเป็น ต้องการจบ 10 อันดับแรก 100 อันดับแรก คนภายนอกเลยมักจะมองดูคนกลุ่ม 50+ ว่ามุ่งมั่นในการแข่งขันมาก แต่คนกลุ่มนี้มีสปิริตในการวิ่ง และต้องการให้จบแบบสวยๆมากกว่าต้องการชัยชนะ จะเห็นได้จากรูปถ่ายที่โพสต์กันในเฟซบุ้คหลังจากแข่งเสร็จ ดูมีสีสันสดใสร่าเริงเต็มไปด้วยความสุข ราวกับว่าทุกคนได้รับชัยชนะ

2. วิ่งมาราธอนมากขึ้นกว่าเดิม

แนวความคิดในการวิ่งมาราธอน จะเปลี่ยนไปจากเดิม เดิมจะเลือกลงแข่งขัน ไม่กี่งานต่อปี เพื่อไม่ให้ร่างกายโทรม และฟื้นฟูร่างกายได้ทัน และหวังผลเลิศในแต่ละการแข่งขัน แต่คนวัย 50+ จะมองว่าทุกๆงานน่าไปหมดเลย ไม่อยากพลาด อยากไปร่วมงานให้ได้ ได้เจอเพื่อนฝูง หาเพื่อนๆใหม่ๆ แบ่งปันความรู้สึก ประสบการณ์ ในการแข่งขัน ให้กันและกันหลังแข่งจบ ว่าทำได้ตามเวลาที่ตัวเองวางไว้หรือไม่ คนวัยนี้จะไม่ค่อยรู้สึกผิดหวังมากนัก หากการวิ่งไม่เป็นไปตามเป้า เพราะจะมองว่าตัวเองแก้มือได้ในงานหน้า เป็นการมองในเชิงบวกเสมอ

3. มีมุมมองในการฝึกซ้อมแตกต่างไปจากเดิม

พออายุมากขึ้น ความสามารถในการฝึกหนักก็จะลดลง ร่างกายไม่เหมือนตอนวัยหนุ่มสาว ทั้งนี้เพราะโครงสร้างกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น เริ่มเสื่อม การไปโหมฝึกหนัก จะทำให้เจ็บได้ง่าย การฝึกหนัก เป็นการสร้างความกดดันให้กับร่างกาย คนวัย 50+ ควรจะพัก และควรฟื้นสภาพร่างกาย เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อเล็กๆ ที่ถูกทำลายลงในขณะที่ฝึกซ้อม ประเด็นนี้นักวิ่งต้องเรียนรู้ว่ามากแค่ไหนควรจะพอ แต่ไม่ใช่โหมฝึกหนักราวกับตัวเองเป็นวัยรุ่น

การจะซ้อมหนักด้วยการเว้นระยะห่างซ้อมหนักทุกๆ 7 วัน ย่อมไม่เหมาะสมกับวัยนี้ ต้องมีช่องว่างไว้ฟื้นตัว การซ้อมหนักควรเว้นห่างไว้ประมาณ 10-12 วัน การหยุดพักเป็นสิ่งจำเป็น และจะทำให้สร้างผลงานได้ดี การพักมีความสำคัญเท่ากับ การวิ่งยาว หรือการลงคอร์ท ช่วงที่เราพัก ร่างกายได้โอกาสซ่อมแซมตัวเอง และสร้างความแข็งแกร่งให้กับขา การซ้อมหนักเกินไป ร่างกายไม่มีโอกาสได้ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ และนั่นเป็นสาเหตุหลักๆว่าทำไมนักวิ่งจึงมีอาการบาดเจ็บกัน

การลดการฝึกซ้อมหนักๆ วิ่งสบายๆ จะทำให้นักวิ่งวัยนี้วิ่งดีขึ้น และเราจะเห็นได้ชัดว่านักวิ่งวัยนี้ วิ่งมาราธอนกันถี่มาก และไม่มีอาการบาดเจ็บให้เห็นมากนัก เพราะซ้อมน้อย แต่แข่งมาก การซ้อมหนักสุด ใช่ว่าจะวิ่งดีสุด แต่การซ้อมอย่างฉลาด จะทำให้เราวิ่งดีต่างหาก ซ้อมแบบมีการยืดหยุ่น ไม่ใช่ซ้อมตามตาราง ต้องเรียนรู้การฟังเสียงของร่างกาย ไม่ใช่ดื้อด้านจะซ้อมตามเป้าให้ได้

4. อาหารการกินเป็นสิ่งสำคัญ

อาหารการกินเป็นสิ่งสำคัญสุดๆสำหรับวัย 50+ สำคัญกว่าวัยรุ่นเสียอีก การซ้อมหนักในขณะที่ร่างกายอยู่ในวัยที่เสื่อมพลัง จำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพื่อรับมือกับ VO2 max ที่ลดลง ความแข็งแรงที่น้อยลง ไขมันร่างกายที่เพิ่มขึ้น กรดแล็คติกจากกล้ามเนื้อที่ลดลง รวมทั้งความหนาแน่นของมวลกระดูกที่ลดลงเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่ว่าจะกินอะไร แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าจะกินเมื่อไร ระหว่างการฝึกซ้อมและการแข่งขัน กินอย่างถูกต้องมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อร่างกายจะได้ซ่อมแซมตัวเอง

ควรงดอาหารสำเร็จรูป เลือกทานอาหารจากธรรมชาติให้มากที่สุด ทานคาร์โบไฮเดรตให้ได้ราวๆ 15-25 กรัม ก่อนการซ้อม เพื่อรักษาระดับพลังงาน ตรงนี้สำคัญมากยามเช้าๆ เพราะเป็นช่วงที่น้ำตาลในเลือดจะกลายเป็นไกลโคเจน เพราะเราต้องการไกลโคเจนสำหรับการซ้อมยาว เลือกกินให้ครบห้าหมู่ในแต่ละวัน กินหลังการซ้อม จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หาเครื่องดื่มเกลือแร่ดื่มระหว่างการซ้อมก็จะดี บางคนมองกว่าวัยนี้ควรงดเกลือ แต่นั่นสำหรับคนที่ไม่ออกกำลังกาย แต่คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เกลือแร่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไปทดแทนเกลือที่สูญเสียไปกับเหงื่อ 
…..สุคีริน ทวีสุข ทีมเวโลเช่

ที่มา : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10216830754910724&set=gm.994452480741610&type=3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น