ss-เขียนเอง

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บาดเจ็บอยู่... วิ่งได้หรือไม่???

เวลาที่นักวิ่งมีอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง คำแนะนำที่เจอบ่อยๆก็คือ “หยุดวิ่ง” “พักก่อน” “ไม่หยุดไม่หายนะ”... แต่ถึงแม้จะหยุดพักก็ตาม นักวิ่งส่วนหนึ่งเมื่อกลับมาวิ่งใหม่ ก็จะเจ็บซ้ำที่เดิมๆอีก แล้วก็วนลูปอยู่แบบนั้น จนเลิกวิ่งไปเอง

แต่เดิมนั้นเราเคยแนะนำกันว่า เวลาที่มีอาการบาดเจ็บ ต้องทำ “PRICE” ตัวย่อก็หมายความตามนี้ครับ
P = Protection (ปกป้องส่วนที่บาดเจ็บ ไม่ให้มีการบาดเจ็บเพิ่ม)
R = Rest (พัก หรือหยุดใช้งานส่วนที่บาดเจ็บ)
I = Ice (ประคบเย็น เพื่อลดอาการอักเสบ)
C = Compression (กด รัด พัน เอาไว้ ไม่ให้บวมมาก)
E = Elevation (ยกสูง เพื่อไม่ให้เลือด สารน้ำมาคั่ง จะได้ไม่บวมมากเช่นกัน)
----------------------------
แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคอนเซปนึงในการรักษานักกีฬาที่บาดเจ็บที่พูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ และเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควร... คอนเซปใหม่ที่พูดถึงคือ “POLICE” เปลี่ยนจากตัว “R” หรือการหยุดพัก เป็น “OL = Optimal Loading” หรือการแนะนำให้ใช้งานได้เท่าที่สามารถครับ
ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด คอนเซปนี้เริ่มมาจากการรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าครับ ปัจจุบันเราแนะนำให้ขยับเร็วที่สุด ลงน้ำหนักให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ จากเดิมที่ต้องใส่เฝือกกันนานๆ ซึ่งบางคนอาจจะเจ็บแค่เล็กน้อย หรือแค่กลัวเจ็บเลยไม่ยอมถอดซักทีจนข้อเท้าติด แล้วก็ต้องมานั่งแก้ไขกันอีกรอบ 
งานวิจัยหลายๆงานช่วงหลังก็สรุปออกมาได้ว่า การที่ใช้งานเร็วขึ้น จะช่วยให้ป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ดี และทำให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า หายจากอาการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น... ไม่ต้องสร้างกล้ามเนื้อใหม่ หรือไม่ต้องยืดดัดข้อต่อที่ติด ซึ่งทำให้เสียเวลาในการรักษา และกลับไปเล่นกีฬาอย่างมาก
----------------------------
Optimal Loading นั้น ไม่ได้หมายถึงการใช้งานบริเวณที่บาดเจ็บนั้นไปเรื่อยๆอย่างเดียวนะครับ แต่ยังรวมถึง การป้องกัน เช่น อาจจะใส่ที่ประคองเข่าไปด้วยในช่วงที่ยังมีอาการอยู่ หรือใช้ไม้เท้าช่วยเดินก่อน ไม่ให้ลงน้ำหนักมากเกิน... การเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ก็สามารถเริ่มทำได้ในช่วงที่ยังมีอาการอยู่ แต่ต้องไม่หนักเกินไป... และการทำกายภาพเพื่อลดอาการอักเสบ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
อาการบาดเจ็บจากการวิ่งเองนั้น ก็มีหลายอาการที่สามารถรักษาไปด้วย วิ่งต่อไปด้วยได้ เพราะถ้าเราหยุดรอให้หาย แล้วไม่ได้แก้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงพอจะรับแรงจากการวิ่งที่มากขึ้น... เวลากลับมาวิ่ง ก็เจ็บใหม่อยู่ดีครับ
ดังนั้น อาการอย่างเช่น รองช้ำ, เอ็นข้างเข่าอักเสบ (IT band syndrome) หรือเอ็นใต้สะบ้าอักเสบ เป็นต้น... เราก็ยังสามารถที่จะวิ่งต่อไปได้ พร้อมๆไปกับการออกกำลังเสริมความแข็งแรง การยืดเหยียด โดยอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมการซ้อมร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ความฟิตหายไป แล้วต้องมาเริ่มใหม่จากศูนย์กันอีกครับ (ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของโค้ชวิ่งแล้วล่ะครับ ว่าจะปรับตารางอย่างไร แนะนำอะไรเพิ่มเติมบ้าง)
----------------------------
สุดท้ายนี้ ปัจจุบันยังไม่มีสูตรสำเร็จของแต่ละอาการบาดเจ็บนะครับ ว่าเจ็บอะไร ต้อง Optimal Loading แบบไหน ซึ่งผมก็คิดว่าไม่น่าจะมีด้วยในอนาคต... ถ้าทำอะไรแล้วเจ็บมากขึ้น อันนี้ต้องหลีกเลี่ยงครับ แต่ถ้าตึงๆเฉยๆ ทำได้จนจบ และอาการเจ็บควรจะน้อยลงเรื่อยๆ อันนี้ถึงจะเป็น Optimal Loading ครับ
สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรู้ตัวเอง อย่าฝืนนะครับ เป็นห่วง
หมอแป๊ป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น