ss-เขียนเอง

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การจัดงานวิ่ง" (ตอน 1)

ในปัจจุบัน ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองด้วยการออกกำลังกายกันมากขึ้น และหนึ่งในวิธีการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด ก็คือ การวิ่ง เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้อื่นเหมือนการเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ จะวิ่งเมื่อใดก็ได้ สถานที่ใดก็ได้ นอกเหนือจากการวิ่งเองตามศูนย์ออกกำลังกาย หรือ ตามสวนสาธารณะแล้ว การวิ่งตามงานวิ่งต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมหนึ่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของนักวิ่งหลาย ๆ คน ด้วยกระแสของการออกกำลังกายที่มีอย่างต่อเนื่อง นโยบายของภาครัฐที่รณรงค์ให้ผู้คนหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

กระแสจากภาพยนตร์ไทยของค่ายภาพยนตร์ GTH เรื่อง "รัก 7 ปี ดี 7 หน" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการวิ่งมาราธอน รวมไปถึงกระแสจากโครงการก้าวคนละก้าวของพี่ตูน ที่ได้จุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คน ลุกขึ้นมาออกกำลังกายโดยการวิ่งกัน จึงทำให้เกิดงานวิ่งขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สุดสัปดาห์หนึ่ง ๆ จัดพร้อมกันหลายงานก็มี มีแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่รวบรวมตารางการจัดกิจกรรมงานวิ่งต่าง ๆ ในรอบปี ไว้หลายแหล่ง ให้ผู้ที่สนใจได้เลือกสมัครกัน


นักวิ่งหลาย ๆ คน ตัดสินใจเข้าร่วมงานวิ่งด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น การวิ่งคนเดียวอาจจะทำให้รู้สึกเบื่อ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้ไม่อยากวิ่งและล้มเลิกเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ถ้าวิ่งกับนักวิ่งคนอื่น ๆ จะได้เพื่อนร่วมทาง ได้บรรยากาศของการแข่งขัน สร้างกำลังใจที่จะวิ่งให้ถึงเส้นชัยให้ได้ หรือ เมื่อต้องจ่ายค่าสมัครเข้าร่วมงานวิ่งแล้ว ก็ต้องยอมสละเวลาตื่นเช้ามาวิ่งเพื่อให้คุ้มกับค่าสมัครที่เสียไป

รวมไปถึงการเข้าร่วมงานวิ่งเพื่อสะสมของที่ระลึกของงานวิ่ง เช่น เสื้อยืด ป้ายหมายเลขประจำตัวของนักวิ่ง เหรียญจากรายการวิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

ประโยชน์ของการจัดงานวิ่ง นอกเหนือการที่นักวิ่งได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและเหตุผลทางธุรกิจแล้ว คือ การกระจายรายได้เข้าสู่พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานวิ่งที่ต่างจังหวัด นักวิ่งสามารถท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อได้หลังจากการวิ่ง นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) แล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ได้อีกด้วย เช่น ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า การคมนาคม เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูลและสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานวิ่งที่ผ่านมาของประเทศไทย พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2560) ประเทศไทยมีการจัดงานวิ่งทั้งสิ้น 1,305 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 54 รายการ หรือ สัปดาห์ละ 12 รายการ โดยจัดขึ้นเกือบครบทุกจังหวัดในประเทศไทย เดือนที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุด ได้แก่ ธ.ค. และ พ.ค. คือ เดือนละประมาณ 160 รายการ

ส่วนเดือนที่มีการจัดงานวิ่งน้อยที่สุดในรอบปี ได้แก่ เดือน เม.ย. มีจำนวน 62 รายการ และวันในรอบสัปดาห์ที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุด แน่นอนว่า ต้องเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งมีจำนวน 940 รายการ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 71% ของงานวิ่งทั้งหมด ตามมาด้วยวันเสาร์ ซึ่งมีจำนวน 240 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 19% ของงานวิ่งทั้งหมด

เมื่อพิจารณาถึงจังหวัดที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุด แน่นอนว่า อันดับ 1 คือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมากถึง 386 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 16 รายการ ตามด้วย สกลนคร เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และสงขลา และถ้าพิจารณาเฉพาะงานวิ่งที่จัดในกรุงเทพมหานคร สถานที่ที่ได้รับความนิยมในการจัดงานวิ่งมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ สวนลุมพินี สวนหลวง ร.9 และสวนวชิรเบญจทัศ (หรือสวนรถไฟ) ตามลำดับ

ในการแบ่งประเภทของการวิ่งตามระยะทาง พบว่า งานวิ่งส่วนใหญ่จะแข่งขันอยู่ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) Fun Run เป็นการวิ่งเพื่อความสนุกสนาน เป็นระยะทางสั้น ๆ ประมาณ 3-5 กิโลเมตร 2) Mini Marathon ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร 3) Half Marathon ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร และ 4) Full Marathon ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร โดยค่าสมัครจะเพิ่มขึ้นตามระยะทางที่นักวิ่งได้สมัครไว้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของค่าสมัครในการวิ่งประเภท Fun Run อยู่ที่ 312 บาท Mini Marathon อยู่ที่ 365 บาท Half Marathon และ Full Marathon อยู่ที่ 583 บาท และ 841 บาท ตามลำดับ

ในการจัดงานวิ่งแต่ละงานนั้น ถ้าผู้อ่านเคยได้มีโอกาสเข้าร่วมในงานวิ่ง จะพบว่า มีรายละเอียดของการจัดงานค่อนข้างมาก ทั้งการเตรียมงานก่อนวันงาน ไม่ว่าจะเป็น การประชาสัมพันธ์การลงทะเบียน การรับเสื้อวิ่ง รวมไปถึงในวันจัดงาน ซึ่งโดยปกติงานวิ่งต่าง ๆ นั้น จะจัดโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจัดขึ้นด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น ครบรอบการก่อตั้งสถาปนาของหน่วยงานนั้น ๆ หรือเป็นการวิ่งประจำปี วิ่งเพื่อการกุศล ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัด มักจะไม่มีความชำนาญในการจัดงานวิ่งด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องอาศัยบริษัทรับจัดงานวิ่ง (Running Event Organizer) แบบมืออาชีพขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า (ในที่นี้ก็คือ ผู้ว่าจ้างให้จัดงานวิ่ง) และตัวผู้เข้าร่วมงานวิ่ง ซึ่งปัจจุบัน แทบจะทุกงานวิ่งจะต้องอาศัยบริษัทรับจัดงานวิ่งช่วยจัดงานให้

เมื่องานวิ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในแต่ละงานมีวิ่งมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก จนทำให้ผู้จัดงานไม่สามารถดูแลนักวิ่งได้อย่างทั่วถึง ทำให้คุณภาพของการจัดงานวิ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ความพึงพอใจของนักวิ่งในการเข้าร่วมงานวิ่งนั้น ๆ ลดลง จากการศึกษางานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานวิ่ง พบว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่นักวิ่งอยากจะให้ผู้จัดงานให้ความสำคัญให้มากที่สุด คือ เรื่องของความปลอดภัยในการวิ่ง ระบบการปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ตามด้วยการสร้างบรรยากาศภายในงาน ขั้นตอนการสมัคร และขั้นตอนการรับเสื้อและป้ายหมายเลขประจำตัวก่อนวันงาน

นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้จัดงานวิ่งควรคำนึงนอกเหนือจากการสร้างความพึงพอใจให้กับนักวิ่งแล้ว คือ การนึกถึงผู้อื่นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิ่ง มี 2 ประเด็น ที่ควรคำนึงถึงในการจัดงานวิ่งบนถนนสาธารณะ คือ 1.การรักษาความสะอาดภายหลังการจัดงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในทุก ๆ งานวิ่งนั้น จะมีจุดบริการน้ำดื่มให้กับผู้วิ่งเป็นระยะ ๆ เมื่อผู้วิ่งรับน้ำมาดื่มจากแก้วกระดาษ หรือ แก้วพลาสติก พอดื่มเสร็จก็ต้องทิ้งลงในที่ที่ทางผู้จัดงานได้เตรียมไว้ให้ และภายหลังที่งานวิ่งเสร็จสิ้นลง ผู้จัดงานควรจะรีบจัดการกับขยะต่าง ๆ เพื่อเปิดทางให้ถนนสามารถได้ใช้งานได้ตามปกติ ไม่ให้มีขยะกีดขวางเส้นทางการจราจร

และ 2.การปิดการจราจรบริเวณสี่แยก หรือ การปิดจุดตัดทางรถไฟเป็นเวลานานเกินไปในช่วงเวลาของการวิ่ง เพ่ือให้นักวิ่งสามารถวิ่งได้อย่างต่อเนื่องนั้น อาจทำให้เกิดการจราจรติดขัด สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้เดินทาง ซึ่งถ้าผู้จัดงานคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้อย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่สร้างความพึงพอใจให้กับวิ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

ในครั้งต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงการประกอบธุรกิจการรับจัดงานวิ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงโครงสร้างและรูปแบบของการจัดงานวิ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงโครงสร้างและรูปแบบของการจัดงานวิ่ง รวมไปถึงการวิเคราะห์สถานการณ์การประกอบธุรกิจการรับจัดงานวิ่งเป็นลำดับถัดไป

ที่มา : http://m.thansettakij.com/content/295237

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น