ss-เขียนเอง

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลัก 3 ข้อ ออกกำลังกายหัวใจแข็งแรง

แพทย์แนะหลัก 3 ประการ “ความพอเหมาะ ความพอดี สม่ำเสมอ” ส่งผลให้หัวใจแข็งแรง ร่างกาย มีสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกระแสสังคมพบว่าในปัจจุบัน ประชาชนเริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยการออกกำลังกายประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกายด้วยการเข้าฟิตเนส การแอโรบิก การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน การเดิน หรือการวิ่งมาราธอน ซึ่งการออกกำลังกายมีผลดีต่อสุขภาพทุกคน 

แม้แต่ผู้ที่เป็นโรคหัวใจก็สามารถออกกำลังกายได้ เนื่องจาก การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายมากขึ้น ลดปัจจัยการเกิดโรคหัวใจ อาทิ โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ ลดภาวะหัวใจล้มเหลว และลดอัตราการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจลงอีกด้วย รวมทั้งลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคเบาหวาน และลดภาวะเครียด นอกจากจะส่งผลดีต่อหัวใจแล้ว การออกกำลังกายยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยรวมทั้งสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้

นอกจากนี้ กรมการแพทย์จึงได้กำหนดให้บุคลากรในสังกัดทำกิจกรรมออกกำลังกายในระหว่าง การทำงาน (Exercise Break) เพื่อส่งเสริมบุคลากรออกกำลังกายร่วมกัน ผ่อนคลายอิริยาบถระหว่างการทำงาน วันละ 2 ครั้ง ในเวลา 10.30 น. และ 15.30 น. ส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถปฏิบัติงานให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การออกกำลังกายเพื่อหัวใจแข็งแรงและถูกวิธีนั้น ประกอบด้วย 3 หลักง่ายๆ คือ 
  1. ความพอเหมาะ การออกกำลังกายในแต่ละครั้งต้องมีความถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย เหมาะกับวัยของตนเอง หากมีอายุน้อยกว่า 40 ปี ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หรือเป็นโรคหัวใจ สามารถออกกำลังกายแบบไม่หักโหมได้ ถ้ามีความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  2. ความพอดี ควรมีสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่เสี่ยงต่ออันตราย ก่อนออกกำลังกายทุกครั้งควรเตรียมร่างกายให้พร้อมประมาณ 5 – 10 นาที โดยระยะที่ออกกำลังกายควรมีความแรงที่พอดีอย่างน้อย 20 นาที เพราะหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น และควรมีอัตราชีพจรอยู่ในระดับ 60 – 80 % ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด และเมื่อออกกำลังกายเสร็จแล้ว ไม่แนะนำให้หยุดทันที ควรที่จะชะลอให้ช้าลง 5- 10 นาที ก่อนหยุดออกกำลังกายทุกครั้ง เพื่อให้ร่างกายและหัวใจได้ปรับสภาวะ
  3. สม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตรประจำวัน โดยมีระยะเวลาต่อเนื่อง30 – 60 นาทีต่อวัน ควรมีความถี่ 3- 5 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการตั้งเป้าหมายการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีห่างไกลโรคส่งผลให้การดำรงชีวิตและการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น