ss-เขียนเอง

วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Born to Run?

ครั้งก่อนผมเขียนถึงบทวิจัย 2 ชิ้น บทวิจัยแรกสรุปว่าการวิ่งเป็นประจำเพียง 2 ชม.ต่อสัปดาห์ ทำให้อายุยืนไปอีก 3.2 ปี
เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้วิ่ง ตลอดจนลดความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคต่างๆ (ก่อนวัยอันควร) ประมาณ 30% จากข้อมูลชาย-หญิงชาวสหรัฐที่เมือง Dallas เฉลี่ยอายุประมาณ 44 ปี จำนวนทั้งสิ้น 55,137 คน ตั้งแต่ปี 1974 ถึง 2002 และอีกบทวิจัยหนึ่งโดยมหาวิทยาลัย Stanford พบว่าผู้สูงอายุ (50 ปีหรือมากกว่า) ที่วิ่งเป็นประจำจะลดความเสี่ยงจากการตายก่อนวัยอันควร (เช่น จากการเป็นมะเร็ง) ลง 50% และที่สำคัญคือจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพราะสามารถช่วยตัวเองในชีวิตประจำวันได้ตอนแก่เฒ่า ดีกว่าคนที่ไม่ได้วิ่งอย่างมีนัยสำคัญ


โดยสรุปว่า “Running can slow the aging process ” โดยงานวิจัยดังกล่าวเปรียบเทียบนักวิ่ง 538 คน กับคนที่ไม่วิ่ง 423 คน โดยทุกคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ในตอนเริ่มต้นการวิจัยในปี 1984 และติดตามประเมินสุขภาพของกลุ่มดังกล่าวไป 21 ปี ถึงปี 2005 พบว่า นักวิ่งเสียชีวิตลง 15% แต่ผู้ที่ไม่ได้วิ่งเสียชีวิตลง 34%
เท่าที่ผมพยายามค้นหาข้อมูลในเชิงของงานวิจัยต่างๆยังไม่พบว่าการวิ่งเป็นประจำนั้น ทำให้เกิดการเสื่อมของหัวเข่า ข้อเท้าหรือกระดูกสันหลังดังที่มีการพูดกล่าวเตือนกัน หมายความว่าจะวิ่งหรือไม่วิ่งก็ไม่มีผลกับอาการดังกล่าว สำหรับตัวผมเองนั้น เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนที่น้ำหนักมากกว่าปัจจุบันประมาณ 10 กิโลกรัม ผมก็เริ่มมีปัญหาเจ็บหัวเข่าและเมื่อยหลัง คงเพราะน้ำหนักที่พุง แต่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาที่วิ่งเป็นประจำประมาณ 25-30 กิโลเมตรต่อสัปดาห์นั้น ปัญหาปวดเข่าและเมื่อยหลังก็หายไป (เว้นแต่ตอนนั่งประชุมนานๆ) แต่หากใครคิดจะเริ่มวิ่งเป็นประจำก็ขอให้ตรวจสุขภาพและรับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนนะครับ ในส่วนของตัวผมเองนั้นได้รับคำแนะนำจากลูกค้าที่เป็นผู้บริหารกองทุนและเป็นนักวิ่งมาราธอนสมัครเล่นให้อ่านหนังสือชื่อ Born to Run เขียนโดย Christopher McDougall (2009) ซึ่งเขียนถึงคนเผ่า Tarahumara ในตอนเหนือของเม็กซิโก ซึ่งสามารถวิ่งข้ามคืนระยะทาง 100-150 กิโลเมตรเป็นประจำ และมีสุขภาพดีแข็งแรง แม้จะรับประทานเบียร์ที่ทำจากข้าวโพดและเนื้อหนูเป็นอาหารหลัก โดยตัดแผ่นยางรถยนต์มาเป็นรองเท้า หนังสือของ McDougall ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเขาได้รับเชิญให้ไปพูดที่ TED Talk และ Google (ดูได้จาก YouTube) และเป็นผู้ริเริ่มกระแสการวิ่งด้วยเท้าเปล่า เพราะ McDougall อ้างประสบการณ์ของตัวเองและผลวิจัยที่พบว่า การบาดเจ็บจากการวิ่งนั้นจะสูงขึ้นตามราคาของรองเท้าที่ใช้วิ่ง
แต่จุดที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการอ้างงานวิจัยของนักวิชาการ 2 คน คือ Dr. Dennis Bramble และ Dr. Dan Lieberman ซึ่งมีข้อสรุปหลักว่า ร่างกายมนุษย์เรานั้น วิวัฒนาการมาเพื่อการวิ่งล่าสัตว์โดยเฉพาะ และมนุษย์นั้นเป็นนักวิ่งทนที่ไม่มีสัตว์ชนิดอื่นในโลกเทียบได้ กล่าวคือ
1. มีเอ็น Nuchal ซึ่งช่วยยึดหัวให้นิ่งอยู่ได้ในขณะที่วิ่ง (ลิงจะไม่มี Nuchal Ligament)
2. มนุษย์มีเหงื่อออกได้ทั้งตัว ทำให้ระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สัตว์อื่นต้องระบายความร้อนผ่านลิ้นทำให้วิ่งได้เร็วแต่ต้องหยุดพักในเวลา 20-30 นาที) นอกจากนั้นเวลาวิ่ง ร่างกายมนุษย์จะต้านลมมากแต่โดนแดดน้อยกว่าสัตว์อื่นจึงระบายความร้อนได้ดีกว่า
3. กล้ามที่สะโพก (Gluteus Maximus) เป็นกล้ามที่ใช้สำหรับวิ่งโดยเฉพาะ (ไม่ใช้เวลาเดิน) ลิงไม่มีกล้ามดังกล่าวและจะสังเกตได้ว่า นักวิ่งอาชีพจะมีก้นที่ใหญ่ทุกคน Gluteus Maximus นั้นนอกจากจะเป็นกล้ามที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์แล้ว ก็ยังเป็นอวัยวะที่ทำให้การวิ่งมีเสถียรภาพ ทดแทนหางอีกด้วย
4. เอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) และเอ็นที่ฝ่าเท้า (arch) ตลอดจนหัวเข่าและข้อเท้า เป็นเสมือนกลไกที่ยืดหยุ่นเป็นสปริงที่มีประสิทธิภาพในการเกื้อกูลประสิทธิภาพในการวิ่ง ซึ่งกลไกดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่ได้ประโยชน์ในการเดินแต่อย่างใด
ข้อสรุปของ Bramble และ Lieberman คือ มนุษย์สามารถวิ่งได้หลายชั่วโมงแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ เราจึงเห็นคนนิยมวิ่งมาราธอน (ซึ่งต้องใช้เวลาวิ่งอย่างน้อย 2 ชั่วโมง) และระยะหลังนี้ การวิ่ง Ultra-Marathon (50-160 กม.) ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการจัด Ultra-Marathon รวมประมาณ 100 รายการในอเมริกาเหนือในปีนี้ เป็นต้น และทุกปีมีคนวิ่งมาราธอนประมาณ 5 แสนคน ซึ่งหากการวิ่งดังกล่าวเป็นอันตรายและมีความยากลำบากเกินขีดความสามารถของมนุษย์ ก็คงจะมีการรายงานการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ Wikipedia กล่าวว่ามีการตายประมาณ 0.6-1.9 คนต่อจำนวนคนวิ่งมาราธอน 100,000 คนในปี 2016
แต่มนุษย์จะเกิดมาเพื่อวิ่งไปทำไม? Dr. Lieberman ให้คำตอบว่ามนุษย์เริ่มกินเนื้อสัตว์ประมาณ 2 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งช่วยบำรุงสมองให้ใหญ่ขึ้นและฉลาดขึ้น แต่การประดิษฐ์อาวุธนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 300,000 ปีที่แล้ว (หอก) และธนูก็พึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ 100,000 ปีที่แล้ว จึงมีคำถามว่ามนุษย์สามารถกินเนื้อสัตว์ได้เป็นประจำก่อนหน้านั้นประมาณ 1.7 ปีได้อย่างไร เพราะมนุษย์เชื่องช้ากว่าและอ่อนแอกว่าสัตว์อื่นๆเกือบทั้งหมด คำตอบคือ Persistent Hunting หรือการ “ตื้อ” วิ่งไล่สัตว์ใหญ่ โดยการร่วมมือกันของมนุษย์ 4-5 คน โดยต้องเลือกสัตว์ (เช่น เก้ง) ตัวใหญ่และวิ่งไล่ตอนเที่ยงวันที่อากาศร้อนที่สุด (40 องศา) และวิ่งไล่ตามไป 2-6 ชั่วโมง ระยะทาง 30-36 กม. จนกระทั่งสัตว์เหนื่อยขาดใจตาย ดังนั้น Lieberman จึงสรุปว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อวิ่งได้เกือบทั้งวัน แต่ปัจจุบันเราใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งๆนอนๆจึงทำให้เป็นโรคเบาหวาน, โรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งผิดธรรมชาติที่สร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อวิ่งครับ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642248

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น