ss-เขียนเอง

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565

ออกกำลังกายในหน้าร้อน ต้องระวังอะไรบ้าง

 May Clinic คลินิกนักวิ่งโดยหมอเมย์

14 มีนาคม เวลา 21:00 น.  · 

ออกกำลังกายในหน้าร้อน ต้องระวังอะไรบ้าง


      สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ เริ่มเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ตอนนี้ใครที่มีรายการแข่งวิ่งและกำลังอยู่ในช่วงซ้อม จะต้องมีการดูแลตัวเองเพิ่มเติมได้เรื่องของความร้อนด้วยนะคะ วันนี้จะมีเรื่องของความร้อนของร่ายกายที่มากเกินไปและการออกกำลังกายในอากาศร้อนจัดมาเล่าให้ฟังค่ะ

      เมื่อเข้าฤดูร้อน สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือโรคที่เกิดจากความร้อนค่ะ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงถึงชีวิต โดยเฉพาะในนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมหนัก มี 3 ภาวะที่เกิดขึ้นได้จากการออกกำลังกายในภาวะอากาศร้อนจัดค่ะ ได้แก่

       1.โรคลมแดดร่วมกับการซ้อมหนัก(Exertional Heat stroke)

       2.โรคเพลียแดดร่วมกับการซ้อมหนัก(Exertional Heat Exhaustion)

       3. อาการตะคริวที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย(Exercise-Associated Muscle Cramp)

ในวันนี้เราจะมาดูกันที่ภาวะแรกก่อนค่ะ

      โรคลมแดดร่วมกับการซ้อมหนัก(Exertional Heat stroke) เกิดจากความร้อนที่ร่างกายสร้างขึ้นขณะออกกำลังกายมีมากและเมื่อร่วมกับอากาศที่ร้อน ทำให้ร่างกายระบายความร้อนออกไม่ทัน เกิดความร้อนสะสมสูง ส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานผิดปกติหลายระบบพร้อม ๆ กัน ร่วมถึงอุณภูมิของสมองที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

พบว่าจะมีอาการ

      - อุณหภูมิแกนกลางสูง มากกว่า 40 องศาเซลเซียส 

      - การรู้ตัวหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น มีอาการสับสน พูดไม่รู้เรื่อง กระสับกระส่าย อาการเพ้อ อาการชัก หรืออาการหมดสติไม่รู้สึกตัว

      - ส่วนใหญ่มีเหงื่อออกมาก เปียกโชก และผิวซีด ก่อนที่จะหมดสติในโรคลมแดดที่ร่วมกับการออกกำลังกายหนัก ซึ่งจะต่างจากโรคลมแดดทั่วไปที่พบว่ามีผิวที่แห้งและแดง

      - มีอาการคลื่นไส้อาเจียน

      - หายใจเร็วและตื้น

      - หัวใจเต้นเร็ว

      - ปวดศีรษะ

โรคลมแดดเป็นภาวะที่มีอันตรายถึงชีวิต ถ้าเจอคนที่มีภาวะนี้จำเป็นต้องส่งพบแพทย์ทันที หรือเรียกหน่วยพยาบาลให้เร็วที่สุดค่ะ ระหว่างนั้นสามารถดูแลเบื้องต้นได้โดย

      - พาผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที

      - ถอดเสื้อผ้าที่มากเกินไปออก

      - ทำให้ร่างกายเย็นลงให้เร็วที่สุด ทำทุกอย่างที่ทำได้ตอนนั้นก่อน เช่น จับแช่น้ำเย็น พัดให้เย็นขึ้นระหว่างพ่นละอองน้ำไปด้วย ถ้าหาน้ำแข็งได้ให้วางน้ำแข็งตามบริเวณศีรษะ คอ รักแร้ ขาหนีบ 

      - ส่งพบแพทย์ทันที

โรคลมแดดสามารถการป้องกันได้โดย

      - การใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี

      - ดื่มน้ำให้เพียงพอ 

      - ค่อย ๆ สร้างความคุ้นชินกับการออกกำลังกายในอาการร้อน

      - ไม่หักโหมจนเกินไป

      - ทำตัวให้เย็นระหว่างออกกำลังกาย เช่น ใส่น้ำแข็งในผ้าบัพที่คอระหว่างวิ่ง

      อากาศเริ่มร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วนะคะ สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงนี้ อย่าลืมดูแลตัวเองกันด้วยนะคะ ในครั้งหน้ามาติดตามเรื่องโรคเพลียแดดร่วมกับการซ้อมหนัก(Exertional Heat Exhaustion) กันค่ะ 

Reference 

Armstrong, Lawrence E. Ph.D., FACSM (Chair); Casa, Douglas J. Ph.D., ATC, FACSM; Millard-Stafford, Mindy Ph.D., FACSM; Moran, Daniel S. Ph.D., FACSM; Pyne, Scott W. M.D., FASCM; Roberts, William O. M.D., FACSM Exertional Heat Illness during Training and Competition, Medicine & Science in Sports & Exercise: March 2007 - Volume 39 - Issue 3 - p 556-572

doi: 10.1249/MSS.0b013e31802fa199

ที่มา: https://www.facebook.com/Mayrunningclinic/posts/1020949005188582

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น