ss-เขียนเอง

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562

เมื่อเกิดอีก ก็ต้องเตือนอีกครับ “วิ่งแล้วเสียชีวิต” ?

1 การเสียชีวิตจากการออกกำลัง เกิดขึ้นได้ ตัวเลขประมาณ 1: 80,000-1:200,000 ของนักกีฬาที่ลงแข่ง

2 ถ้าไม่มีโรคซ่อน ยากมากๆที่จะเสียชีวิตฉับพลันขณะออกกำลังกาย 
แต่การออกกำลังกายอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะ อื่นๆ เช่น Heat stroke , เกลือแร่ผิดปกติรุนแรง กล้ามเนื้อแตกสลาย ซึ่งไม่เสียชีวิตขณะแข่งทันที

3 การเสียชีวิตฉับพลันขณะออกกำลังมาจาก โรคหัวใจเป็นหลัก
อายุ 
เกิน 35 ปี มักเป็นจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน
ต่ำกว่า 35 มักเกิดจาก กล้ามเนื้อหนาตัวปิดปกติ หรือ โรคทางกลุ่มหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

4 ทำไมมักไปเกิดตอนแข่ง
เพราะมีการเร่ง การทำความเร็ว ความตื่นเต้น ทำให้ระบบ Sympathetic ทำงานมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้น ร่วมกับ การเสียเหงื่อ เสียเกลือแร่ ความร้อน สิ่งเหล่านี้ทำให้โรคที่ซ่อนอยู่ ปะทุเกิดเรื่อง นำไปสู่หัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือ กระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง

5 นักกีฬา ควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงการเกิด

ซ้อมยังไง ก็แข่งอย่างงั้น ไม่อัด ไม่ฝืน ไม่เร่ง จนเกินความสามารถร่างกาย การปะทุของโรคโดยมากมาจากการ ออกกำลังกายใน Zone สูง ซึ่ง กระตุ้นให้เกิด หัวใจขาดเลือดฉับพลันได้ง่ายขึ้น

ควรกิน น้ำและเกลือแร่ให้พอในการแข่งขันเกลือแร่ ไม่อดน้ำ เพื่อทำเวลา การเสียน้ำ เกลือแร่ ที่มากกว่าปกติ เป็นตัวช่วยที่ทำให้เกิดโรคง่ายขึ้น

ฟังเสียงร่างกายตัวเองทุกครั้งที่แข่งขัน 2 อาการเตือนที่สำคัญ

1 เจ็บ จุกแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่
2 เวียนหัวหน้ามืดจะเป็นลม

ถ้ามี 2 อาการนี้ ให้หยุดแข่งทันที และรีบบอกเพื่อนนักวิ่ง บอกเจ้าหน้าที่สนาม เพื่อนำส่ง รพ
ไม่นั่งพักแล้วรออาการดีขึ้น เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ตรวจคัดกรองโรค 
การทำคลื่นหัวใจ แนะนำให้ทำทุกราย สำหรับนักกีฬาที่เข้าแข่งขัน ไม่ว่าอายุเยอะหรือน้อย

นักกีฬาที่อายุเกิน 35 ปี ควรได้รับการตรวจ เดินสายพานแบบ Maximal exercise เพื่อคัดกรองโรคหัวใจขาดเลือด และหัวใจเต้นผิดจังหวะ แม้การตรวจจะไม่สามารถ กรองได้ 100 % แต่ถ้าเจอ จะป้องกันการเสียชีวิตขณะแข่งได้

ตรวจเช็ค ไขมัน น้ำตาล ความดัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

การออกกำลังการเป็นประจำ ช่วยลด ความดัน ไขมันได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในคนที่เป็นเยอะๆ การออกกำลังกายอย่างเต็มที่ ก็มีโอกาสที่ยังคุมโรคได้ไม่ดี จึงต้องกินยาร่วมด้วย อย่าดื้อ โดยเฉพาะไขมันในเลือดสูง. ซึ่งจะไม่มีอาการ ไม่มีคำว่าไขมันสูงแบบนี้ เป็นปกติมานานแล้ว แล้วคิดว่าออกกำลังกายก็จะลงเอง แล้วละเลยการกินยา รวมถึงการตรวจเช็คสุขภาพ

6 การแข่งขันกีฬา มีหลากหลาย ซึ่งอาจไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน

การวิ่งบนถนน ถ้ามีภาวะหัวใจหยุดเต้น ทีมกู้ชีพ และเครื่อง AED สามารถเข้าถึงได้เร็ว และทุกจุดที่แข่ง ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการเข้าที่เกิดเหตุ คือยิ่งเร็ว ยิ่งดี หรือตามทฤษฎี คือเวลาไม่เกิน 5 นาที ผู้ป่วยจะมีโอกาส รอดขีวิตเยอะขึ้น

สนามวิ่งเทรล AED และทีมกู้ชีพไม่สามารถเข้าได้ถึงทุกจุด หรือใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าถึง ถ้ามีภาวะหัวใจหยุดเต้น โอกาสรอดขีวิตจะลดลง

นักกีฬาที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง อายุเยอะ ควรเลือกสนามแข่งขัน และรู้ถึงข้อจำกัดของการช่วยเหลือ เวลาเกิดเหตุการไม่คาดฝัน

นอกจากนี้ยิ่งระยะแข่งไกล ยิ่งร้อน ยิ่งเสียเหงื่อมาก ยิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ผมอยากเตือน แต่ไม่อยากให้ตื่นตระหนก ไม่อยากใช้คำว่า ออกกำลังแล้วทำให้เสียชีวิต แต่จริงๆการเสียชีวิตมาจากการมีโรคซ่อนอยู่ แต่ไม่ได้ตรวจหรือตรวจไม่พบ
เพราะภาพรวมของการ ออกกำลังกาย ทำให้เราแข็งแรงขึ้น ลดการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ อายุยืนขึ้น และทำให้คนไทยแข็งแรง ขอเพียงเราเข้าใจ ไม่ประมาท ตรวจสุขภาพก่อนแข่ง และ Balance ระหว่าง สุขภาพกับ การแข่งขันให้ดีครับ

ขอแสดงความเสียใจกับญาตินักวิ่งทั้งสองท่านด้วยครับ

ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ช่วยแชร์ให้เพื่อนนักกีฬาด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น