ss-เขียนเอง

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

วิ่งวนฝั่งเดียวเสี่ยงเจ็บ

อยากรณรงค์ให้ลู่วิ่งในสนามกีฬา สวนสาธารณะสลับวันเปลี่ยนด้านวิ่ง (วนซ้าย สลับ วนขวา)

เดี๋ยวนี้คนวิ่งกันจริงจังมากขึ้น แล้วก็มีคนเจ็บมากขึ้น ลงคอร์ทก็เจ็บ วิ่งยาวก็เจ็บ ปัจจัยหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามกันก็คือการวิ่งในทิศทางเดิมๆ

แต่ละสถานที่วิ่งแต่ละที่อาจจะมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ตามแต่กฎ ข้อบังคับ หรือความเคยชิน
แต่จากที่ผมสังเกต พบว่า ส่วนมากจะวนทวนเข็มนาฬิกา(วิ่งเลี้ยวซ้าย)
ซึ่งการวิ่งวนในทิศทางเดิมๆ ถ้านานๆวิ่งที หรือวิ่งไม่มากก็อาจจะไม่ส่งผลอะไร

แต่นักวิ่งทั้งหลายที่เริ่มจริงจัง วิ่งทุกวัน วันละหลายๆรอบก็ย่อมส่งผล
โดยเฉพาะนักวิ่งที่วิ่งในลู่วิ่งกรีฑา เพราะต้องวิ่งตีโค้งบ่อยเหลือเกิน ยิ่งวิ่งลู่ในและต้องทำความเร็ว เราก็จำเป็นต้อง เทโค้ง คือเวลาวิ่งก็มีความจำเป็นต้องเอียงตัว ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ

ถ้าวิ่งเลี้ยวซ้าย ข้อเท้าซ้ายก็จะมีการคว่ำลงกว่าปกติ(อาจจะทำให้เจ็บฝ่าเท้า ส้นเท้า) ขาซ้ายก็จะมีการหมุนเข้าในมากขึ้น(เจ็บเข่า) หลังส่วนล่าง เอวฝั่งซ้ายก็จะมีการเกร็งตัวมากกว่า ซึ่งอาจจะส่งผลให้ตำแหน่งของกระดูกเชิงกรานผิดรูป สะโพกเอียง ปวดหลัง ขายาวไม่เท่ากัน เจ็บไอทีแบนด์ได้ ซึ่งก็จะส่งผลไปถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว จนเราสามารถเห็นนักวิ่งไหล่เอียงกันเป็นเรื่องปกติ(0)

และนักกีฬาส่วนมากจะวิ่งลู่ใน เพราะจะเป็นระยะ 400 เมตรพอดี จัดโปรแกรมง่าย(ลู่นอกจะมีระยะ 450 เมตร) ซึ่งหมายความว่าเวลาวิ่งลู่ในเราจะวิ่งทางตรง 50%และเลี้ยวโค้ง 50%(1) นึกภาพวิ่งลงคอร์ท 4 กิโลเมตร เราต้องวิ่งเลี้ยวซ้ายอย่างเดียว 2 กิโลเมตร(ถ้าซ้อมทุกอาทิตย์ เป็นระยะเวลานานละ) และยิ่งวิ่งเร็วเท่าไรก็จะเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บมากขึ้นเท่านั้น(เพราะยิ่งวิ่งเร็วยิ่งต้องเทโค้ง เอียงตัว ข้อเท้าก็ต้องบิดมากขึ้น) ถ้าเลือกได้ผมแนะนำให้ไปวิ่งลู่ 8 นอกสุดจะดีกว่า หรือวิ่งเร็วทางตรงวิ่งช้าทางโค้ง เป็นต้น

ซึ่งก็มีการพยายามศึกษาวิจัยว่า นักกีฬาที่ซ้อมและแข่งในลู่วิ่ง มีการบาดเจ็บที่เกิดจากกล้ามเนื้อไม่สมดุล (2) (3)โดยเฉพาะในลู่วิ่งในร่มที่ระยะโดยรอบแค่ 200 เมตร มีหลายๆบทความที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนถึงการเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเนื่องจากวิ่งในทิศทางเดิมๆ (4)(5)(6)(7)

แม้ในงานวิจัยจะเป็นการเก็บกลุ่มตัวอย่าง จำนวนน้อย ยังใช้อ้างอิงหรือยืนยันไม่ได้ และในบทความจะพูดถึงแค่การวิ่งในลู่และการวิ่งที่ใช้ความเร็ว
แต่ผมก็อยากจะให้มีการสลับด้านวิ่ง ในทุกสถานที่ไม่ว่าจะในลู่ หรือในสวนสาธารณะ เพราะนอกจากจะวิ่งซ้ำทิศทางเดิมๆแล้ว ถนนในสวนสาธารณะบ้านเราก็มักจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้วิ่งโดยเฉพาะ ตรงกลางจึงสูงกว่าด้านข้างเพื่อระบายน้ำ ดังนั้นนักวิ่งวิ่งทางเดิมแม้จะไม่ได้โค้งมากโค้งบ่อย แต่ถนนมันเอียงก็อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้เมื่อวิ่งสะสมระยะทางไปนานๆ

แนวคิดนี้ก็เป็นเพียงแนวคิดหนึ่ง เรื่องทฤษฎีอาจจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงผลเสียกันต่อไป แต่ผมก็คิดว่าแค่การสลับด้านวิ่งก็ไม่ได้เป็นการลำบากหรือเสียหาย ใครมีความเห็นหรืออ่านเจอบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่มุมไหนก็แชร์กันเข้ามาได้

สุดท้ายอ่านแล้วก็ลองไปสังเกตตนเองว่าไหล่ยก เสื้อหมุน สะโพกเอียง ลงน้ำหนักสองข้างไม่เท่ากัน ฯลฯหรือ จะไปตรวจหรือประเมินร่างกายเราว่ามีกล้ามเนื้อไม่สมดุลเดี๋ยวนี้ก็มีคลีนิคให้เลือกมากมาย ไปประยุกต์หาทางแก้ไขหรือจะผลักดันนโยบายสลับวันเปลี่ยนทางวิ่งก็ลองดูนะครับ

โค้ชเป้ง
*อ้างอิงในคอมเมนท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น