ss-เขียนเอง

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

มาเข้าใจหัวนมนักวิ่งกันครับ

ใช่ครับผมไม่ได้เขียนผิด สัปดาห์ก่อนได้ทำหน้าที่กึ่งแพทย์สนามดูแลนักวิ่ง มีเสียงนึงเรียกผม 

❓“หมอรึเปล่าครับ มีพลาสเตอร์ไหมครับ” 
🌟“ใช่ครับผม มีครับ” 
ผมตอบไปขณะที่กำลังก้มหยิบพลาสเตอร์ในเป้ และมองไปนักวิ่งนั้น เงยหน้าขึ้นมาพบว่านักวิ่ง ไม่ได้เปิดข้อเท้าหรือหัวแม่โป้งเท้าแต่อย่างใด แต่กำลังเปิด ... หัวนม ... ใช่แล้วครับ #หัวนมแดงๆเรื่อๆ !!
ขณะนั้น ความคิดพลุ่งพล่านในหัวผมมากมาย ใช่แล้ว !! เราพบ หัวนมนักวิ่ง !! ใครเคยเป็นอย่างนี้จะเข้าใจหัวนมเดียวกัน 5555
(เรียกว่า #chafingnipple แปลว่า ถูเสียดสีจนร้อน หรือ #runnernipple แปลตรงๆว่าหัวนมนักวิ่ง )
ผมในฐานะหมอ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ที่รักศัลยกรรมเต้านม และรักนักวิ่ง 5555 ขอ #สรุป10ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ “#หัวนมนักวิ่ง” ดังนี้ครับ
✅ 1 #กายวิภาคของหัวนมและลานหัวนมนั้นต่าง จาก ผิวหนังส่วนอื่นของร่างกาย ลานหัวนมจะมีต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ และเส้นประสาทไวต่อความรู้สึกมากกว่า และยังมีส่วนของกล้ามเนื้อพิเศษ ทำให้ถูกกระตุ้นหดขยายได้ ส่วนปลายหัวนมนั้นเป็นที่รวมท่อน้ำนมแต่ไม่มีต่อมเหงื่อนะครับ
✅2 #การที่หัวนมนูนตั้งมาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อลานหัวนมและหัวนม ทำให้เกิดการเสียดสีกับเสื้อวิ่ง หรือเสื้อในได้ ยิ่งพอมีเหงื่อ ผิวหนังยิ่งชื้น ยิ่งอ่อนนุ่ม เสื้อชุ่มเหงื่อยิ่งหนักยิ่งรั้ง เสียดสีหัวนมมากขึ้น ยิ่งอากาศเย็นยิ่งพบบ่อยเพราะหัวนมยิ่งตั้งนะครับ (ซ้อมตอนเย็นๆ ไปตื่นแข่งเช้าๆ หัวนมชูชันตอนเช้านะครับ ชะมะ ! เพราะอากาศเย็นกว่า)
✅ 3 #ไม่เกี่ยวกับขนาดเต้า เพราะส่วนมากพบ chafing/runner nipple ในผู้ชาย ใช่ครับเน้นๆว่าผู้ชาย แม้ว่าหัวนมผู้ชายจะเล็กกว่าก็ตาม และเต้าเล็กกว่า ใช่ไหมใครจะเถียง ! บางรายงานพบว่าคนที่วิ่งเกิน 50 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ถึง 1 ใน 3 ต้องเคยเป็น รวมทั้งนักปั่นก็มีรายงานนะครับ
✅ 4 #อาการคือเริ่มๆแสบๆคันๆเสียวๆเจ็บๆ จนสุดท้ายถลอก ตรงนี้เริ่มเป็นจุดแตกหัก !! เพราะ แผลถลอกที่หัวนมโดนเหงื่อยิ่งแสบๆคันๆ โอ๊ยย ใครเคยเป็นจะเห็นภาพ ถ้าทิ้งไว้จนอาการหนัก จะเป็น เลือดออกจากหัวนม bleeding bloody nipple ฮือๆๆ ใช่แล้วครับ ใครไม่อยากนึกภาพดูภาพปลากรอบได้ เห็นละเสียว !
✅ 5 #การรักษาขณะวิ่ง ! หากเกิดอาการให้ขอพลาสเตอร์มาแปะ ทาวาสลีน (ถ้าพกไปด้วย) หรือถอดเสื้อวิ่ง (ผู้ชายเท่านั้นนะฮะ จริงๆ อันนี้ไม่ค่อยแนะนำ แต่อาจดีกว่า DNF เพราะแสบนมนะครับ) บางคนเจาะฉีกรูเสื้อตรงหัวนม คือจริงๆไม่ได้รักษา แต่ทำให้อาการไม่แย่ลงครับ 
✅ 6 #การรักษาหลังวิ่งเสร็จ ! ใครเคยเป็นจะรู้ว่า การอาบน้ำแบบทรมานหัวนมนั้นเป็นอย่างไร อาบไป ทั้งเจ็บ ทั้งแสบ ทั้งเสียววว อู๊สสส์ ต้องบอกว่า ควรใช้น้ำอุ่น และสบู่อ่อนๆอาบ หรือถ้ามีแผลตรงหัวนมต้องปิดพลาสเตอร์กันน้ำ หรือ ทาครีมขี้ผึ้ง ointment หรือ เทคนิคอุปกรณ์แผลจากแพทย์ ตามสภาพหัวนมนะครับ คิดสภาพเหมือนเราล้ม แล้วมีแผลถลอกตามร่างกาย ต้องป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงด้วย ดังนั้น ใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 วันนะครับ กว่า ผิวหนังใหม่จะสร้างและ อาการแสบนมจะดีขึ้น แต่ถ้าแสบลึก อาจเป็นสัปดาห์
✅ 7 #กันหัวนมไว้ดีกว่าแก้ ! การป้องกัน มีหลายทาง เพราะเราลดขนาดหัวนมหรือห้ามไม่ให้หัวนมตั้งคงยาก ดังนั้น ต้อง ลองวิธีต่างๆเช่น 
⚡️ทาวาสลีน หรือเจลหล่อลื่นก่อนวิ่ง มีหลายยี่ห้อนะครับ ความคงทน และรสชาติ ต่างกัน ต้องลอง ! 
⚡️แปะ พลาสเตอร์ หรือ ที่แปะหัวนมของผู้หญิง (nipple shield) แต่สองทางเลือกแรกอาจไม่ 100% นะครับเพราะ เจลก้อละลายได้ ที่ปิดหัวนมก็หลุดได้ถ้าระยะวิ่งนานๆ หรือเหงื่อแยะๆ
⚡️ทาแป้งเพราะ แป้งช่วยดูดซับความชื้นครับ แต่ ผมขอร้องว่า เป็นแป้งเด็กแคร์ ไม่เอา พริกลี่ฮีทนะครับบบบ ตัวใครตัวมันแน่ๆ 
⚡️เลือกเสื้อที่เหมาะสมทั้งเนื้อผ้า (หลายครั้ง พวกแบรนด์ต่างๆเอาเสื้อที่ใส่หน้าหนาว เช่น heat tech etc พวกอุ่นๆมาให้เซลล์ ถ้าเราไม่ทันมอง ใส่ในฟิตเนสติดแอร์พอไหว ถ้าใส่วิ่งเอาท์ดอร์เหงื่อท่วม หัวนมบวมไม่รู้ตัว !! ) และความฟิตที่พอดี !!! (หลวมไปไม่ดีครับ) ดังนั้นซ้อมด้วยเสื้อตัวเดิม ในระยะที่ต้องลงแข่ง สภาพอากาศใกล้เคียงนะครับ การใส่เสื้อที่ไม่ได้ใส่ประจำ ( เช่น เนื้อผ้าและขนาดเสื้องานวิ่ง) อาจไม่เหมือนเสื้อซ้อมประจำเรา
⚡️ สภาพอากาศ ความชื้นน้อย ระยะมากๆ (เช่น เคยซ้อมไว้ 20-30 โล แต่ไปวิ่งฟูล) ต้องระวังครับ อ่ออ เค้ามีสถิติว่า ยิ่งวิ่งแยะ วิ่งนาน เสื้อผ้าหลวมๆ ยิ่งพบบ่อยนะครับ
✅ 8 ทีนี้ถ้าเห็น หมอๆวิ่งพกกระปุกหรือหลอดวาสลีน มองเสื้อ มองนมนักวิ่งอย่างเพิ่งคิดเป็นอื่นนะครับ นักวิ่งที่พกวาสลีนเค้าเข้าใจ หัวอกหัวใจหัวนมนักวิ่งจริงๆน้าาาาาาา หรือ ถ้าเห็นผู้ชายใส่เสื้อฟิตๆ หรือถอดเสื้อ อย่าเพิ่งว่าเค้าโชว์หุ่นหรือหัวนมชมพูวววนะครับ เค้าอาจมีภาวะหัวนมนักวิ่งอยู่ก็ได้ครับ
✅ 9 #แถม18+#สำหรับนักวิ่งหญิง !!
⚡️คนเรามีเต้ามากกว่า หนึ่งคู่ได้ คู่ที่พบบ่อยคือเต้านมน้อยบริเวณรักแร้ บางคนมีหัวนมด้วย (accessory breast/nipple) มักจะเห็นชัดช่วงมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือตอนน้ำหนักแยะๆ นักวิ่งบางคนเห็นชัด ขนาดใหญ่ ทำให้ ใส่เสื้อวิ่งไม่สวย (มีเนื้อห้อยเกินใต้วงแขน) หรือ เสียดสีตอนวิ่ง (เจ็บ)
⚡️ถ้ามีน้ำออกจากหัวนม (nipple discharge ได้) โดยออกมาเอง หรือจากการบีบก็ตาม ในผู้หญิงให้รีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นเนื้องอกในท่อน้ำนม หรือ มะเร็งเต้านมได้ นักวิ่งหญิงควรตรวจเต้านมเองทุกเดือนนะครับ 
⚡️ในผู้หญิงที่มีแผลที่หัวนม (nipple fissure) หรือลานหัวนม (areola ulcer) หรือบริเวณผิวหนังเต้านม แม้จะไม่เจ็บอย่านิ่งนอนใจ อาจไม่ใช่เป็นแค่เชื้อราหรือ ผิวหนังอักเสบ ผื่นภูมิแพ้ความอับชื้นอย่างที่คิด แต่เป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านมได้นะครับ
⚡️ทำเสริมเต้านมแล้ววิ่งได้ไหม? ได้ครับ รับรอง ทั้งซับ1 ซับ2 ซับ4 ทำได้แน่ ฟันรันยันอัลตร้า ไม่หนักอกแต่ แต่ระวังตอน แกว่งแขนมากๆ ดังนั้นแนะนำหลังทำ ควรหลีกเลี่ยงการวิ่งอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ให้เดินเบาๆ และค่อยๆเพิ่มขึ้น รวมทั้งใส่ซัพพอร์ต หรือสปอร์ตบราที่กระชับพอดี
✅ 10 #สรุปว่าหัวนมนักวิ่งแม้จะเล็กแต่ทำเรื่องใหญ่ DNF มาหลายรายแล้วนะครับ ทริ๊กง่ายๆคือ ป้องกัน !! ทาหรือแปะหัวนม และใส่เสื้อฟิตพอดี แค่นี้ ก็ออกไปวิ่งอย่างแฮปปรี้ทำ PB มีความสุขกันทุกคนนะครับ ^^
⚡️ปล นักวิ่งบางคนอาจมีปัญหาเดียวกัน บริเวณขาหนีบ ต้นขาใน สายบรา หรือรักแร้ ก็ใช้หลักการเดียวกันป้องกันและรักษาได้นะครับ
🙇🏻‍♂️ เพจ #เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua ครับ 👉🏻 https://m.facebook.com/fightforbreast
นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ (หมอบัว)
อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช
สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย
#แชร์ได้ไม่หวงเราห่วงหัวนม ใครเคยเป็น ลงรูปหัวนมนักวิ่ง หรือ มาเหลาให้ฟังกันได้นะครับ ☺️
#ทีมหัวนมอ่อนไหว #หัวใจก็เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น