ss-เขียนเอง

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กินผักผลไม้ปลอดภัย 400 กรัม ช่วยลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

เป็นที่ประจักษ์กันดีถึงศักยภาพของผัก ผลไม้ ว่าเป็นอาหารชั้นดี มีคุณค่าทางสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่จากการสำรวจสุขภาพประชาชนพบว่า กลุ่มคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 75% กินผัก ผลไม้น้อยกว่าวันละ 400 กรัม ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้

กระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายร่วมจัดการประชุมวิชาการ เรื่อง “กินผักผลไม้ปลอดภัย 400 กรัม เพื่อสุขภาพ” เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญในการบริโภคผัก ผลไม้อย่างพอเพียง เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนในประเทศ และเกิดข้อเสนอทางนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนต่อไป ณ อาคารสาธารณสุขวิศิษฎ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร

พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้เป็น “ปีแห่งการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัย” โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการบริโภคผัก ผลไม้ปลอดภัย ในขณะเดียวก็ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผักและผลไม้ในท้องตลาด โดยเฉพาะข้อมูลจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกร สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ที่ได้คัดกรองความเสี่ยงโดยการเจาะเลือดกลุ่มเกษตรกร พบว่าเกษตรกรมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555-2559 อยู่ที่ร้อยละ 33 และในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 37

สำหรับ “ปีแห่งการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัย” มีนโยบายดำเนินงาน 6 เรื่อง ดังนี้ 1.ให้นโยบายให้ทุกโรงพยาบาลซื้อพืชผัก ผลไม้ปลอดภัยจากสารเคมี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร 2.การจัดการผักและผักไม้ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ในประเด็นเร่งด่วน การขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อพิจารณาข้อมูลเชิงวิชาการ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.National Surveillance Program ให้มีการดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังผักและผลไม้ตลอดห่วงโซ่ ปี 2560 และผลักดัน National Risk Assessment Center โดยมีสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) เป็นแกนหลักในการประสานการดำเนินงาน 4.การพัฒนาขีดความสามารถทางห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สด โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำข้อมูลให้มีความครบถ้วน 5.โครงการวิจัยและพัฒนา : นครปฐม เมืองผักและผลไม้ปลอดภัย โดยมอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล 6.วิธีการลดการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ที่เหมาะสม

“การแก้ไขปัญหาการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ของ สธ.ทั้ง 6 ประเด็น เป็นการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการควบคุมและลดปริมาณการใช้สารเคมีจากผู้ผลิตต้นทาง กลางน้ำ รวมถึงร่วมกับ สสส. ที่ทำงานด้านความปลอดภัยอาหารและโภชนาการมาอย่างต่อเนื่อง เน้นการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารให้มีประสิทธิภาพ การดำเนินงานแบบบูรณาการ เพื่อให้อาหารมีความปลอดภัยครบวงจร ซึ่งได้ร่วมกันรณรงค์สื่อสารกับประชาชนในการเสนอทางเลือกให้ประชาชนรับประทานผัก ผลไม้อย่างปลอดภัย โดยการล้างผัก 3 วิธี คือ 1.ล้างด้วยน้ำไหล 2.ล้างด้วยผงฟู และ 3.ล้างด้วยน้ำส้มสายชู เพื่อลดปริมาณสารพิษในผักและผลไม้” พญ.มยุรา กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยยังบริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าข้อแนะนำที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และการเข้าถึงผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยยังมีน้อย จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่าคนส่วนใหญ่ หรือประมาณร้อยละ 74.1 บริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดข้อแนะนำการบริโภคผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อย 400 กรัม/วัน เพราะการบริโภคผักและผลไม้ได้เพียงพอตามที่แนะนำจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้

สสส.ตั้งเป้าให้ประชาชนบริโภคผัก ผลไม้ที่มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ 400 กรัมต่อวัน ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.9 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2564 สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการประกาศเป็นปีแห่งการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัย โดยมีจุดเน้นและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนที่จะส่งเสริมการเพิ่มอัตราการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามข้อแนะนำ 1.พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ ถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จด้านการส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยอย่างเพียงพอ สู่การขยายผลอย่างยั่งยืน 2.หนุนเสริมและพัฒนาภาคีเครือข่ายให้มีศักยภาพการทำงานด้านวิชาการและนวัตกรรม 3.ขับเคลื่อนเชิงนโยบายด้านอาหารสุขภาวะ โดยร่วมกับภาคียุทธศาสตร์เพื่อผลักดันนโยบาย 4.ส่งเสริมให้เกิดการขยายต้นแบบของระบบห่วงโซ่อาหารของพืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย 5.ส่งเสริมการปลูกพืชผักของผู้บริโภคในครัวเรือน โรงเรียน และองค์กร และ 6.รณรงค์สร้างค่านิยมของการบริโภคผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยอย่างเพียงพอ ควบคู่ไปกับการสร้างค่านิยมของวิถีชีวิตสุขภาวะ

ด้าน รศ.ดร. นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงผลศึกษาวิจัยเรื่องผักและผลไม้ที่นิยมบริโภคในคนไทยว่า การบริโภคผักในแต่ละกลุ่มอายุ พบว่าผักที่นิยมบริโภคอันดับแรกเป็นผักประเภทปรุงรสและแต่งกลิ่น เมื่อตัดผักปรุงรสและแต่งกลิ่นออกจากรายการที่บริโภค พบว่าผักที่นิยมบริโภค ได้แก่ ผักกาดขาว/เขียว ถั่วฝักยาว แตงกวา กะหล่ำปลี และฟักทอง อย่างไรก็ตาม พบว่าปริมาณการบริโภคผักและผลไม้ของคนไทยยังมีปริมาณน้อย ไม่เป็นไปตามข้อแนะนำของการบริโภคอาหารที่ดี ซึ่งต้องหาวิธีในการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้ ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของผัก ผลไม้อย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญในการบริโภคผัก ผลไม้อย่างพอเพียงเพื่อสุขภาพที่ดี

นอกจากนี้ ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การตรวจวัดดัชนีมวลกาย การทดสอบความปลอดภัยในผัก ผลไม้ Workshop เทคนิคการปลูกผัก เพาะต้นอ่อน แบบสวนผักคนเมือง ปลูกผัก ผลไม้ ให้บ้านสวย สาธิตและ Workshop การประกอบอาหารจากผัก ผลไม้ จากคุณชลิดา เถาว์ชาลี พิธีกรายการสุขภาพชื่อดัง ชม ชิมเมนูฟิวชั่นผัก ผลไม้ จากการประกวดเมนูฟิวชั่นผัก ผลไม้ 100 กรัม เลือกซื้อผัก ผลไม้ปลอดภัย และอาหารสุขภาพ จากภาคีเครือข่ายอย่างจุใจ ฯลฯ สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ http://nutritionthailand.org/th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น